สคร. ยันไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุนใน Thailand Future Fund

สคร. ยันไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุนใน Thailand Future Fund

สคร. ยันไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุนใน "Thailand Future Fund”

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษก สคร. ชี้แจงข้อวิจารณ์จากแฟนเพจ pramote nakornthab ของนายปราโมทย์ นาครทรรพ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ สคร. ในเรื่อง 1) การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตแห่งประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFFIF) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 2) การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี และ 3) การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การให้โครงการทางด่วนรามอินทรา - อาจณรงค์ และบางนา - ชลบุรี เข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนอย่างชัดเจน


คำชี้แจง - TFFIF เป็นทางเลือกในการระดมทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก สำหรับการระดมทุนผ่าน TFFIF ของ กทพ.) เป็นการนำกระแสเงินสดบางส่วนที่จะได้รับในอนาคตของทางด่วนสายฉลองรัชและทางด่วนสายบูรพาวิถี โอนให้แก่ TFFIF เพื่อให้ กทพ. นำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนผ่าน TFFIF เพื่อนำไประดมทุน ลงทุนพัฒนาโครงการทางพิเศษของ กทพ. ได้รวดเร็วมากขึ้น ส่งผลถึงประชาชนได้รับบริการได้เร็วขึ้นด้วย โดยการจัดตั้งและระดมทุนของ TFFIF ดำเนินการตามประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีการจัดสรรให้ประชาชนรายย่อยให้ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียมหรือเรียกว่า Small Lot First ซึ่งอยู่บนหลักการในการจัดสรรให้แก่ประชาชนรายย่อยในประเทศเป็นสัดส่วนหลักตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ทำให้การเสนอขายหน่วยลงทุนต่อนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ TFFIF มีการจัดสรรให้แก่ประชาชนรายย่อยมากที่สุดในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่เสนอขาย นอกจากนี้ ในส่วนที่มีการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนสถาบันได้จัดสรรให้นักลงทุนในประเทศเท่านั้นและเน้นให้มีประชาชนรายย่อยเป็นผู้ลงทุนหลักด้วย โดยไม่ได้มีการจัดสรรให้แก่บุคคลรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
 
ประเด็นที่ 2 โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งใช้เงินภาษีประชาชนสร้างจำนวน 1.4 แสนล้านบาท แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการด่านเก็บเงินได้ ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามารับสัมปทานเป็นผู้ทำด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างให้เอกชนปีละ 2,000 ล้านบาท สัญญา 30 ปี ได้รับประโยชน์อย่างง่ายดาย โดยไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด
คำชี้แจง


1. รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นไปตามผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการของกรมทางหลวงโดยความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคม โดยในการนำเสนอมีข้อสรุปว่า ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างงานโยธา และให้เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบ ศูนย์ควบคุมการจราจร และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M)


2. ในการให้เอกชนร่วมลงทุนดังกล่าว เงินค่าผ่านทางทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการลงทุนและทำ O&M ซึ่งค่าตอบแทนของเอกชนจะขึ้นอยู่กับผลการประมูลแข่งขันที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทนข้างต้นจะเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของเอกชน รวมถึงสามารถปรับลดค่าตอบแทนหากเอกชนปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้ด้วย

ประเด็นที่ 3 การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างว่าเพื่อให้รัฐสามารถดูแลผลประโยชน์ได้ แต่ตามข้อเท็จจริงเป็นการเปิดทางให้แก่นายทุนเข้ามาถือครองแทน

คำชี้แจง - ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในรายละเอียด โดยในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไม่มีบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ