ชง6ข้อแก้ปัญหาอีอีซี

ชง6ข้อแก้ปัญหาอีอีซี

สภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา เสนอ 6 ข้อ แก้ปัญหาอีอีซีจี้รัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาผังเมือง อีอีซี เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเดิม พัฒนาการศึกษายกระดับแรงงาน วางแผนรับปัญหาสังคม สาธารณสุข

หอการค้าภายตะวันออก มั่นใจอีอีซีเดินหน้าต่อได้ ไม่ห่วงช่วงรอยต่อรัฐบาล ชี้บางส่วนรอฟังนโยบายรัฐบาลใหม่

นายร่มไทร ทิพยเศวต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 6 มาตรการ คือ 1.แก้ปัญหาผังเมือง โดยเฉพาะผังเมืองในจ.ฉะเชิงเทรา ที่มีพื้นที่ม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพียง 1.52% หรือ 5 หมื่นไร่ จากทั้งหมดที่มี 3 ล้านไร่ ซึ่งควรจะมีพื้นที่อุตสาหกรรม 5% หรือมีพื้นที่ 1.5-1.7 แสนไร่
ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่สีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีโรงงานเอสเอ็มอีดั้งเดิม เพราะโรงงานปัจจุบันตั้งมาก่อนประกาศผังเมือง ซึ่งทำให้มีโรงงานเอสเอ็มอีมากในผังสีเขียว หรือเหลือง และทำให้การขยายโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มการจ้างงานไม่ได้ หรือปรับเปลี่ยนขยายไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ได้ เช่น โรงงานผลิตท่อไอเสียรถยนต์ ที่กำลังจะตายเพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า แต่โรงงานติดปัญหาผังเมือง

รวมทั้งทำให้ขยายไปผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ได้ และทำให้เอสเอ็มอีก้าวไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ได้ ซึ่งหากจะผลักดันให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยาก เพราะที่ดินในนิคมฯราคาแพง ในขณะที่ผู้ประกอบการเหล่านี้มีพื้นที่อยู่แล้วแต่กลับขยายธุรกิจไม่ได้ รวมทั้งการจัดทำผังเมืองแบบมีการกำหนดห้ามการตั้งอุตสาหกรรมกี่ประเภท

ในขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือกลุ่มทุนข้ามชาติ รัฐบาลกลับอำนวยความสะดวกปรับผังเมืองรองรับเพื่อดึงดูดการลงทุน ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการอีอีซี ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีแต่เติบโต แต่พวกเอสเอ็มอีในพื้นที่จะค่อยๆ อ่อนแอลง

2.แก้ไข พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพราะออกกฎหมายแบบเร่งรัดและให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในการอนุมัติ อนุญาตที่มากเกินไป รวมทั้งลดระยะเวลาการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รายงานการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เหลือเพียง 4 เดือน และให้สิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ยกเว้นภาษี สูงถึง 13-15 ปี

3.แก้ไขปัญหาการศึกษา และวางมาตรการผลิตบุคลากรด้านอาชีวะให้เพียงพอ และทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งควรจะมีศูนย์นวัตกรรม หรือศูนย์พัฒนาบุคลากรในพื้นที่ 4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะพึ่งแต่การผลิตบุคลากรจากสถานศึกษาไม่ได้ เพราะใช้เวลานาน โดยเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา มีโรงงาน 2,108 โรง

จี้เพิ่มประชาสัมพันธ์ชุมชน

4.รัฐบาลต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการอีอีซี เพื่อให้ความรู้ในเรื่องโครงการอีอีซีให้กับคนในพื้นที่ทุกภาคส่วนมากกว่านี้ ตอนนี้ประชาชนรู้แต่ผิวเผิน ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร 5.การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้การจราจรแออัด ปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสังคม อาชญากรรม ยาเสพติด ขยะมูลฝอย มีโรงพยาบาลไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องทำแผนเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งการทำผังเมืองหลัก ผังเมืองรอง ทำระบบขนส่งมวลชน รถไฟรางเบา เพื่อขนคนจากภายนอกเข้ามาในเมืองลดการใช้รถยนต์ เป็นต้น

6.วางแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุใน อีอีซี จากสถิติผู้ที่ดูแลต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเรื่อยๆ ในอดีตมีจำนวนผู้ดูแลผู้สูงอายุ 10 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2553 ลดลงเหลือ 5 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และในปี 2573 จะเหลือ 2 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้ปัญหาผู้สูงอายุจะเป็นภาระที่หนักมากในอนาคต รวมทั้งยังทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องวางแผนรองรับในเรื่องนี้ด้วย

หอฯมั่นใจอีอีซีเดินหน้าต่อ

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจภาคตะวันออก หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ช่วงรอยต่อของรัฐบาลปัจจุบันและการเลือกตั้งคงไม่กระทบต่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้าโครงการนี้ เพราะมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)กำกับดูแลอยู่

ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานที่ขายซองประมูลแล้ว ถือว่ามีความชัดเจนและเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ และนักลงทุนเองก็เชื่อมั่น โดยถ้ารัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนแปลงคงเป็นประเด็นย่อยเท่านั้น ซึ่งจะทำให้นักลงธุรกิจเข้ามาลงทุนแน่นอน เพียงแต่ขณะนี้รอดูผลการเลือกตั้งและนโยบายรัฐบาลใหม่

“นักลงทุนมองว่า พื้นที่อาเซียนเป็นพื้นที่ที่น่าลงทุน ทั้งไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เพราะมีจีดีพีที่เติบโตดีและเป็นพื้นที่มีความเหมาะสม ประกอบมีความคุ้นเคยในพื้นที่ อย่างพื้นที่อิสเทิร์นซีบอร์ด นักลงทุนบางคนกลับแล้วก็กลับมาลงทุนใหม่ ดังนั้นแม้ว่าบางโครงการจะล่าช้าไปกว่าแผนก็ตามแต่ก็ยังอยู่ในโรดแมพ”นายปรัชญา กล่าว

ชี้นักธุรกิจเดินหน้าลงทุน

นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเชื่อว่าจะทำให้โครงการอีอีซีเดินหน้าต่อเนื่อง แต่ก็มีนักธุรกิจบางส่วนที่กังวลว่าถ้าเป็นรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศอาจจะกระทบกับนโยบายอีอีซี

ทั้งนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีการเปิดประมูลเอกชนแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ที่ยื่นซองประมูลต่ำที่สุด ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึก สนามบินอู่ตะเภา ก็ยังไม่มีการประมูลซึ่งรัฐมนตรีลาออก คนที่มาดูแทนจะมีกำลังผลักดันในการดำเนินการโครงการต่อมากน้อยแค่ไหน

“โครงการอีอีซีถือเป็นโครงการที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศได้พัฒนา หากโครงการไม่เกิดหรือหยุดชะงัก ทิศทางการพัฒนาประเทศจะไปในทางใด ขณะนี้นักลงทุนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว เพียงรอความชัดเจน เพราะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมก่อน”