ไมโครซอฟท์แนะ 6 หลักการสร้างความเชื่อมั่น ‘เอไอ’

ไมโครซอฟท์แนะ 6 หลักการสร้างความเชื่อมั่น ‘เอไอ’

การวางรากฐานให้เอไอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยได้อย่างลงตัวต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญหลายๆ ด้าน

วันนี้เริ่มได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อีกทางหนึ่งผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่เอไออาจมีต่อสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม

เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม สรุปประเด็นหลักๆ ที่นักพัฒนาเอไอและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะต้องคำนึงถึง นับตั้งแต่ประเด็นเชิงเศรษฐกิจอย่างแรงงานมนุษย์ที่อาจถูกแทนที่ด้วยเอไอ หรือการกระจายผลประโยชน์จากเอไอให้ทั่วถึงในทุกภาคส่วน ผลกระทบเชิงเทคโนโลยี ข้อผิดพลาดจากเอไอที่ขาดความเข้าใจในสภาพแวดล้อมรอบตัว ไปจนถึงการรับมือปรากฎการณ์ “Singularity” เมื่อถึงจุดที่เอไอฉลาดเทียบเท่าหรือมากกว่ามนุษย์

โอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้พิจารณาถึงข้อกังวลเหล่านี้ และได้พัฒนา 6 หลักการสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น “Trusted AI” เพื่อชี้นำการพัฒนาเอไอให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติเป็นสำคัญ ประกอบด้วย

ยุติธรรม เมื่อเอไอต้องตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีรักษาทางการแพทย์หรือการจ้างงาน ระบบควรจะต้องให้คำแนะนำเดียวกันกับทุกคนที่มีอาการหรือคุณลักษณะเหมือนๆ กัน และเพื่อความถูกต้องเที่ยงตรง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเอไออาจมีอคติขึ้นมาได้อย่างไร

ไว้ใจได้ เอไอต้องได้รับการออกแบบให้ทำงานภายใต้กรอบข้อบังคับที่ชัดเจน และผ่านการทดสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อรับรองว่าระบบจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เหนือความคาดการณ์ได้อย่างปลอดภัย และไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายเดิมของระบบ นอกจากนี้ มนุษย์ยังควรมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจว่าจะใช้งานระบบเอไอเมื่อใดและอย่างไร

ปลอดภัย ระบบเอไอก็เหมือนกับเทคโนโลยีคลาวด์อื่นๆ ที่ต้องทำงานโดยเป็นไปตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกำกับดูแลการรวบรวม ใช้งาน และเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้ตามมาตรฐานความเป็นส่วนตัว และป้องกันไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือถูกโจรกรรม

เสมอภาค โซลูชั่นเอไอจะต้องตอบโจทย์ความต้องการและพื้นฐานที่หลากหลายของมนุษย์ทุกคน ด้วยวิธีปฏิบัติที่ครอบคลุม โดยคาดการณ์อุปสรรคทั้งในด้านคุณสมบัติของระบบและสภาพแวดล้อมในการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดการกีดกันผู้ใช้บางกลุ่มโดยไม่ตั้งใจ

โปร่งใส  เมื่อเอไอส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้น ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เกี่ยวกับการทำงานของระบบเอไอเพื่อที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจถึงวิธีการตัดสินใจ และสามารถระบุอคติ ความคลาดเคลื่อน และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

รับผิดชอบ ผู้ที่ออกแบบและติดตั้งระบบเอไอจะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของระบบด้วย โดยบรรทัดฐานความรับผิดชอบสำหรับเอไอควรกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของประสบการณ์ และวิธีปฏิบัติจากภาคส่วนอื่นๆ เช่นมาตรฐานด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์ เป็นต้น โดยหลักการด้านความรับผิดชอบนี้ ต้องนำมาปรับใช้อย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การออกแบบระบบไปจนถึงการใช้งานจริง

งานวิจัยโดยไมโครซอฟท์และบริษัทวิจัยไอดีซีชี้ว่า เทคโนโลยีเอไอและอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ถือเป็นนวัตกรรมอันดับหนึ่งที่กำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในฐานะฟันเฟืองหลักที่จะขับเคลื่อนวิถีชีวิตและโลกธุรกิจไปสู่ยุคใหม่ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น การวางรากฐานให้เอไอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยได้อย่างลงตัวและเต็มประสิทธิภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญหลายๆ ด้าน

เริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง, การปรับแต่งเทคโนโลยีให้เข้ากับสภาพการใช้งานจริง เช่นในด้านของภาษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่กฎหมายและกรอบนโยบาย, การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรและนักพัฒนาทั่วประเทศให้นำ เอไอมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ รวมไปถึงการปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการโดยเฉพาะเพื่อสร้างความสำเร็จ