วสท.จัดทำมาตรฐานการใช้ โดรนเพื่องานวิศวกรรม

วสท.จัดทำมาตรฐานการใช้ โดรนเพื่องานวิศวกรรม

วิศวกรรมสถานฯ จัดเวทีเทคนิคพิจารณ์ร่างมาตรฐานการสำรวจด้วยโดรนเพื่องานวิศวกรรม วางกรอบแนวทางปฏิบัติงานรวมถึงประเภทของอุปกรณ์เครื่องมือ มุ่งแก้ปัญหาผลสำรวจที่ผิดพลาด ความเสียหายมหาศาลในงานวิศวกรรม

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย คณะอนุกรรมการร่างมาตรฐาน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา จัดเวทีเทคนิคพิจารณ์ร่าง “มาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรม” เพื่อให้หน่วยงาน วิศวกรและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติงาน ตั้งแต่การวางแผนการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับคุณภาพผลลัพธ์ที่ต้องการ ทั้งด้านการวางแผนการบิน การรังวัดจุดควบคุมภาพถ่ายและจุดตรวจสอบ การประมวลผลด้วยโปรแกรมเฉพาะทางสำหรับการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนการส่งมอบข้อมูลการสำรวจและการจัดทำรายงานสำหรับผู้ใช้และผู้ผลิต

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานฯ เเปิดเผยว่า เทคโนโลยีการทำแผนที่ด้วยอากาศยานไร้คนขับมีลักษณะเป็นระบบอัตโนมัติ บุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ในการทำแผนที่โดยขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ส่งผลต่อคุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายในการนำข้อมูลการสำรวจไปใช้ในงานวิศวกรรม การจัดงานเทคนิคพิจารณ์เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยงานและประชาชน ทั้งเนื้อหามาตรฐาน การเลือกใช้เครื่องมือ และประเภทของอากาศยานไร้คนขับ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพ โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักวิชาการ ตลอดจนข้อกำหนดในกระบวนการสำรวจ เพื่อให้ได้มาตรฐานในการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายที่มีความถูกต้อง เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานด้านวิศวกรรม หลังจากร่างมาตรฐานและข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการเทคนิคพิจารณ์แล้ว ทางคณะกรรมการฯ จะรวบรวมปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายให้มีความถูกต้อง ก่อนประกาศใช้เป็นมาตรฐานการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่องานวิศวกรรมของประเทศไทยต่อไป


รศ.สวัสดิ์ชัย เกรียงไกรเพชร ประธานคณะกรรมการประจำมาตรฐานฯ สาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า การสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานหลายด้าน โดยเฉพาะความรู้ด้านการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้มีหลากหลายระดับคุณภาพ รวมไปถึงเทคนิคการวางแผนการทำงานในแต่ละขั้นตอนล้วนมีผลต่อคุณภาพผลลัพธ์ที่ได้ ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้นำไปใช้ในงานสำรวจเพื่อผลิตข้อมูลเชิงตำแหน่งได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงผู้ที่นำข้อมูลเชิงตำแหน่งไปใช้ในงานด้านวิศวกรรมได้มีความเข้าใจต่อกระบวนการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับอีกด้วย


ร่างมาตรฐานการสำรวจฯ เล่มนี้ ประกอบด้วย 12 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.ที่มาและความสำคัญ 2.นิยามศัพท์เทคนิค 3.อากาศยานไร้คนขับสำหรับงานสำรวจด้วยภาพถ่าย 4.กล้องบันทึกภาพดิจิทัลสำหรับงานสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ 5.มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 6.หลักการประมวลภาพถ่ายทางอากาศ 7.ขั้นตอนการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ 8.การวางแผนการบินและการถ่ายภาพด้วยอากาศยานไร้คนขับ 9.จุดควบคุมภาพถ่าย 10.การประมวลผลภาพถ่าย 11.การตรวจสอบคุณภาพผลลัพธ์ 12.เอกสารและข้อมูลที่ส่งมอบ