ผลวิจัยชี้ชาว ‘เจน แซด’ ชีวิตขับเคลื่อนด้วยไอที

ผลวิจัยชี้ชาว ‘เจน แซด’  ชีวิตขับเคลื่อนด้วยไอที

เวลานี้กลุ่มคน “เจนแซด (Gen Z)” กำลังทยอยก้าวสู่โลกของการทำงาน พร้อมนำพาแนวความคิดที่ว่า “เทคโนโลยีต้องมาก่อน” จึงจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไปได้ในยุคดิจิทัล

ผลสำรวจโดย “เดลล์ เทคโนโลยีส์” พบว่ามีแนวโน้มที่อาจเกิดการแบ่งแยกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มคนทำงาน 5 เจเนอเรชั่นที่อยู่ภายในองค์กรเดียวกัน โดยคนในยุคหลังมิลเลนเนียล (post-millennials) หรือที่เกิดหลังปี 2539 และเป็นที่รู้จักในนามเจนแซดมีความเข้าใจและรอบรู้เทคโนโลยีในเชิงลึก และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทั้งวิถีการทำงานและการใช้ชีวิต

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า คนในเจนแซดมองว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับมนุษย์ แต่ยังเป็นเสมือนวิธีการในการยกระดับการแข่งขันที่ต้องอาศัยศักยภาพด้านข้อมูล

ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน

จากผลการสำรวจบรรดานักเรียนในระดับมัธยม วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกว่า 1.2 หมื่นแห่งใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้ตอบการสำรวจจำนวน 722 รายจากประเทศไทย และ 4,331 รายจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอายุระหว่าง 16-23 ปี เผยให้เห็นภาพรวมของคนรุ่นเยาว์ที่มีต่อเทคโนโลยีและงานในอนาคต โดยประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

เดลล์พบว่า 98% (99% ในประเทศไทยและอาเซียน) ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาอย่างจริงจัง 91% (95% ในไทยและอาเซียน) กล่าวว่าเทคโนโลยีที่ผู้ว่าจ้างนำเสนอจะเป็นองค์ประกอบการพิจารณาการเลือกงานในลักษณะเดียวกันที่เสนอเข้ามา

ขณะที่ 80% (97% ในไทย และ 90% ในอาเซียน) ต้องการที่จะทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด โดย 38% ของกลุ่มนี้สนในงานด้านไอที 39% ต้องการทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ 46% ต้องการทำงานด้านการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยี

สำหรับประเทศไทย มากกว่า 4 ใน 10 หรือราว 48% มีความสนใจงานด้านไอที รวมถึงการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ 

นอกจากนี้ 80% (ไทย 93% อาเซียน 86%) เชื่อว่าเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเสมอภาคมากขึ้น โดยช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอคติและการแบ่งแยก

ผู้ตอบสำรวจในจำนวนที่สูงถึง 89% ต่างเข้าใจดีว่ากำลังก้าวสู่ยุคของความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (human-machine partnership) โดย 51% (ไทย 64%) ของบรรดาผู้เข้าร่วมการสำรวจเชื่อว่ามนุษย์และเครื่องกลจะทำงานร่วมกันเสมือนเป็นทีมเดียวกัน ในขณะที่ 38% (ไทย 30%) มองว่าเครื่องกลเป็นเสมือนเครื่องมือที่มนุษย์เรียกใช้ได้ตามต้องการ

หวั่นขาดประสบการณ์

เนื่องจากกลุ่มคนเจนแซดเติบโตมาในยุคดิจิทัล ทำให้ส่วนใหญ่ มีความมั่นใจในความสามารถด้านเทคโนโลยี ในไทย 76% ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าความสามารถด้านเทคโนโลยีของตนอยู่ในระดับที่ดีหรือยอดเยี่ยม และ 73% กล่าวว่ามีทักษะในการเขียนโค้ด(coding skills) สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

มากไปกว่านั้น 95% ของชาวเจนแซดในไทยปรารถนาที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ความรู้ให้กับผู้ร่วมงานอายุมากกว่าที่อาจมีประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยีน้อยกว่าตน

ในทางกลับกันพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับทักษะที่เหมาะสมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงประสบการณ์ที่ผู้ว่าจ้างมองหาอีกด้วย เด็กจบใหม่ในไทยเกือบ 96% มีความกังวลใจเกี่ยวกับการว่าจ้างงานในอนาคต ตั้งแต่เรื่องของการขาดทักษะที่เหมาะสม ตลอดจนขาดประสบการณ์ในการทำงาน

ทั้งนี้ มีเพียง 60% ที่ระบุว่าการศึกษาของตนอยู่ในระดับดี หรือดีเยี่ยม ซึ่งจะช่วยให้ตนมีความพร้อมในการทำงาน 67% มั่นใจว่าตนมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ผู้ว่าจ้างต้องการ แต่ขาดทักษะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่เป็นมืออาชีพในระดับอาวุโส ก็มีความกังวลว่าจะโดนเด็กรุ่นใหม่แซงหน้า และบทบาทของผู้นำในอนาคตส่วนใหญ่จะกลายเป็นของเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล สอดคล้องตามการวิจัยที่ว่า 87%ของผู้นำธุรกิจกลัวว่าองค์กรของตนจะพยายามมอบโอกาสด้านการทำงานที่ทัดเทียมให้กับคนต่างรุ่น

ชอบปฏิสัมพันธ์กับคน

ปัจจุบันในที่ทำงานมีคนทำงานอยู่ถึง 5 เจเนอเรชั่น ฉะนั้นองค์กรธุรกิจควรช่วยให้คนทำงานเหล่านี้หาจุดร่วมที่เหมือนกันให้พบ เพื่อการผลักดันองค์กรไปสู่การสร้างวัฒนธรรมของการให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรก(digital-first)

แม้ว่าคนรุ่นเจนแซดจะมีการสื่อสารโต้ตอบโดยใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ได้อย่างดีมาตั้งแต่เกิด และเติบโตมาในยุคโซเชียลมีเดีย แต่เจนแซดก็ยังต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในที่ทำงานมากขึ้น

ผลการศึกษาในไทย 40% บอกด้วยว่าโทรศัพท์เป็นวิธีการที่คนทำงานร่วมกันนิยมใช้ในการสื่อสาร ตามด้วยการสื่อสารแบบตัวต่อตัว 34% ส่วนแอพส่งข้อความและการส่งข้อความสั้นถูกจัดไว้หลังสุด

ขณะที่ 62% คาดว่าจะได้เรียนรู้งานจากเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลอื่นแต่ไม่ใช่ทางออนไลน์ 91% กล่าวว่าโซเชียลมีเดีย สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่สร้างคุณค่าในการทำงาน และกว่า 58% ชอบนั่งทำงานในออฟฟิศเมื่อเทียบกับการทำงานจากบ้าน และ 70% ชอบทำงานเป็นทีมมากกว่าทำคนเดียว