'ทีเอชนิค' ขายไอเดียส่งเสริมชื่อโดเมน-อีเมลภาษาไทย

'ทีเอชนิค' ขายไอเดียส่งเสริมชื่อโดเมน-อีเมลภาษาไทย

มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือทีเอชนิค(THNIC) เสนอไอเดียกระทรวงดิจิทัลฯ หวังช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมลเป็นภาษาไทย เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาช่องว่างทางดิจิทัล ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกิดการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พจนันท์ รัตนไชยพันธ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือทีเอชนิค (THNIC) กล่าวว่า ได้เข้าไปนำเสนอกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมลเป็นภาษาไทย เพื่อลดช่องว่างดิจิทัลด้านการสื่อสาร เนื่องจากปัจจุบันยังมีคนในท้องถิ่นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหรือเข้าไปใช้บริการต่างๆ จากเว็บไซต์ที่ยังใช้แต่ชื่อภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ จากการศึกษาความสำคัญของปัญหาการไม่มีชื่อโดเมนและชื่ออีเมลเป็นภาษาท้องถิ่น ได้ข้อสรุปหลักๆ ว่า ความยากลำบากในการการจดจำและการสะกดชื่อโดเมนและชื่ออีเมลเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต 

เช่น การระบุชื่อโดเมนหรือชื่ออีเมล ทางวิทยุ หรือโทรศัพท์ หรือการแจ้งชื่อตามป้ายประกาศต่างๆ การสะกดคำไทยเป็นภาษาอังกฤษทำได้หลายรูปแบบ(Transliteration Problem) วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญแม้ในโลกอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

ขจิต สุขุม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวหลังการรับฟังข้อเสนอแนวทางของทีเอชนิคว่า เห็นด้วยว่าสอดคล้องกับการที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังพยายามที่จะให้ประเทศไทยเชื่อมโยงถึงกันได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ ฉะนั้นทุกคนควรที่จะสามารถสื่อสารผ่านระบบอีเมลที่จ่าหน้าเป็นภาษาไทยได้ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยินดีให้การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ชื่อโดเมนที่มีตัวอักษรภาษาไทยมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการที่จะมีชื่ออีเมลเป็นตัวอักษรไทยด้วย ซึ่งจะทำให้คนไทยทั่วๆ ไปที่ไม่คุ้นชินกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ สามารถใช้บริการอีเมลได้กว้างขวางมากขึ้น

“เราสนับสนุนเน็ตประชารัฐ เพื่อให้ทุกคนสามารถสื่อสารติดต่อกันได้ ดังนั้นหากทำตรงนี้ควบคู่กันไปด้วยคนที่ไม่คุ้นชินกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ก็สามารถใช้ชื่ออีเมลภาษาไทยได้” นายขจิตกล่าว

หนุนหน่วยงานรัฐใช้งาน

ผู้บริหารของทีเอชนิค กล่าวต่อว่า ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและส่งเสริมการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย โดยหวังให้หน่วยงานรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องนี้ กำหนดวิธีการตั้งชื่อโดเมนภาษาไทย สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และเสนอวิธีการตั้งชื่อโดเมนภาษาไทย สำหรับหน่วยงานภาครัฐให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อก้าวไปสู่ขั้นตอนที่ ครม. มีหนังสือถึงกระทรวง กรม สำนัก ให้ถือปฏิบัติ

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาและส่งเสริมการใช้ชื่ออีเมลภาษาไทย ทีเอชนิค เสนอให้ใช้ชื่อโดเมนไทย และ อีเมลไทย สำหรับราชการ, ปรับปรุงระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ(MailGoThai) ให้รองรับการใช้ชื่ออีเมลภาษาไทย รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพ และให้สามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว, รัฐบาลให้บริการที่รองรับการใช้ชื่ออีเมลภาษาไทยฟรีแก่ประชาชนไทยทุกคน

ปัจจุบัน มีบางประเทศเริ่มการใช้ชื่อโดเมนและชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่นในประเทศแล้ว ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอินเดียประกาศโครงการบริการอีเมล(ที่รองรับชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่น) ให้แก่ข้าราชการ โดยติดตั้งระบบอีเมลบนเครือข่ายของรัฐบาลเอง อีกทั้งเมื่อปี 2560 รัฐราชสถานของประเทศอินเดียเสนอบริการอีเมลภาษา Hindi ฟรีให้แก่ประชาชนราว 70 ล้านคน ทำให้สามารถสื่อสารนโยบายและข่าวสารตรงถึงประชาชน โดยติดตั้งระบบอีเมลบนเครือข่ายของรัฐราชสถาน

ขณะที่ เมื่อปี 2556 ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน(CNNIC) ได้จัดทำโครงการอีเมลภาษาจีน โดยการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการอีเมลในจีน และได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติจีน และกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทางด้านสถานะการใช้งานชื่อโดเมนและชื่ออีเมลในปัจจุบัน มีโดเมนภาครัฐที่ใช้ .go.th จำนวน 8,500 ชื่อ เช่น mdes.go.th และใช้ภาษาไทย .รัฐบาล.ไทย จำนวน 3,700 ชื่อ เช่น http://โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลคลองหนึ่ง.รัฐบาล.ไทย ขณะที่ โดเมน .th ทั้งหมดมีจำนวน 69,700 ชื่อ เช่น phralan.in.th และมีชื่อ โดเมน .ไทย จำนวน 8,800 ชื่อ เช่น พระลาน.ไทย

เพิ่มเข้าถึง-ลดช่องว่างดิจิทัล

สำหรับอีเมลภาครัฐ มีอีเมล MailGoThai ซึ่ง ครม. มีมติตั้งแต่ปี 2559 ให้หน่วยงานภาครัฐใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในและระหว่างหน่วยงาน เช่น [email protected] นอกจากนี้ ยังมีอีเมลภายใต้โดเมนของหน่วยงานภาครัฐ .go.th เช่น [email protected] ซึ่งก็ยังใช้ภาษาอังกฤษ

ขณะที่ ในส่วนของอีเมลของประชาชนทั่วไป ปัจจุบันที่ใช้ภาษาไทย มีเพียงอีเมลภายใต้ คน.ไทย เช่น สมชาย@คน.ไทย นอกเหนือจากนี้มีอีเมล KhonThai.com โดยต้องใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประกอบ email address เช่น [email protected] และอีเมลภายใต้โดเมนทั่วไป เช่น [email protected] แต่ที่แพร่หลาย ยังคงเป็นอีเมลฟรีของเอกชน ได่แก่ gmail, Hotmail เป็นต้น

ภาคภูมิ ไตรพัฒน์ กรรมการ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด กล่าวว่า ชื่อโดเมนภาษาไทย และอีเมลภาษาไทย จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะปัจจุบันยังมีบางส่วนในพื้นที่ไกลๆ หรือคนสูงอายุที่มีปัญหาในการเข้าถึง นอกจากนี้ถ้ามีการส่งเสริมอย่างแพร่หลาย จะทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงแอพพลิเคชั่นจากต่างชาติ โดยเฉพาะแอพโซเชียลมีเดีย ที่ปัจจุบันเป็นช่องทางสื่อสารหลักครอบคลุมคนเกือบทุกกลุ่ม 

“ชื่อโดเมนภาษาไทย และอีเมลภาษาไทย จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะปัจจุบันยังมีบางส่วนในพื้นที่ไกลๆ หรือคนสูงอายุที่มีปัญาในการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ควรเพิ่มศักยภาพให้การเข้าถึงครอบคลุมไปถึงกลุ่มปลายทางได้ นี่คือวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ ลดอุปสรรคด้านภาษา การมีเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทย จะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เคยเข้าถึงได้มากขึ้น ไม่ต้องจำกัดการสืบค้นข้อมูลด้วยวิธีการใช้กูเกลค้นหาอย่างเดียว”