เปิดปูมประวัติไม่ธรรมดา“จามาล คาช็อกกี”

เปิดปูมประวัติไม่ธรรมดา“จามาล คาช็อกกี”

รวมทั้งปมขัดแย้งมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย

จามาล คาช็อกกี วัย 60 ปี เกิดเมื่อปี 2501 ที่เมืองมาดีนา ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตระกูลของคาช็อกกีรับใช้ราชวงศ์ซาอุฯมายาวนาน โดยคุณปู่ของเขา มูฮัมหมัด คาช็อกกี ถวายการรับใช้กษัตริย์อับดุลลาซิส อัล-ซาอุด ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย 

นอกจากนี้ จามาล คาช็อกกี ยังมีญาติสนิทเป็นคนดังระดับโลก โดยเขาเป็นหลานแท้ๆของ อัดนัน คาช็อกกี นักค้าอาวุธชื่อดังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาว “อิหร่าน-คอนทรา” และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ โดดี อัล-ฟาเอ็ด คนรักของเจ้าหญิงไดอาน่าผู้ล่วงลับ

คาช็อกกี เดินทางไปศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาในสหรัฐ ก่อนที่จะเดินทางกลับมาซาอุดีอาระเบีย และเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซาอุดิ กาเซ็ตต์ อีกทั้งร่วมงานกับสื่อหลายสำนักของอาหรับ ซึ่งรวมถึง Al Sharq Al Awsat, Al Majalla และ Al Muslimoon ในจุดนี้เอง ทำให้เขามีโอกาสรายงานข่าวการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต และเริ่มติดตามความเคลื่อนไหวของนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัล-กออิดะห์ ซึ่งความกล้าบ้าบิ่นของคาช็อกกี ทำให้เขาสามารถเข้าไปนั่งสัมภาษณ์พูดคุยกับนายบิน ลาเดน แบบตัวต่อตัวมาแล้วหลายครั้ง 

นอกจากนี้  คาช็อกกียังเคยรายงานข่าวใหญ่ๆในภูมิภาคอีกมากมาย รวมถึงข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ที่ประเทศคูเวต และในช่วงปี 2533 - 2542 คาช็อกกี นั่งตำแหน่งรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาหรับ นิวส์ ฉบับภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อัล-วาตัน ซึ่งเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบียในปี 2546 

ในปี 2554 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ หรือ “อาหรับสปริง” ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คาช็อกกีแตกหักกับรัฐบาลซาอุฯ ปรากฏการณ์อาหรับสปริงได้สั่นสะเทือนขั้วอำนาจเก่า และทำให้เกิดการลุกฮือเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิม ตามด้วยการปราบปรามผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายประเทศอาหรับ ในช่วงเวลานั้นเอง คาช็อกกี เลือกที่จะยืนข้างกลุ่มมุสลิมฝ่ายต่อต้านในอียิปต์และซีเรีย และเขาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของรัฐบาลซาอุฯ อีกทั้งปกป้องกลุ่มมุสลิมสายกลางที่รัฐบาลซาอุฯมองว่าเป็นภัย

ความขัดแย้งในครั้งนั้น ทำให้คาช็อกกีเริ่มกังวลในชะตากรรมของตัวเอง จึงตัดสินใจหลบไปอาศัยอยู่ในสหรัฐในช่วงฤดูร้อนของปี 2560 และร่วมงานกับหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งการอยู่ภายใต้สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐเช่นนี้ ทำให้คาช็อกกี มีความกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลซาอุฯอีกครั้ง โดยคำวิจารณ์มักพุ่งเป้าไปยังเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาล มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ผู้เคยสร้างผลงานบรรลือโลกด้วยการกวาดล้างบุคคลสำคัญทั้งในราชวงศ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งออกหมายจับเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในซาอุฯ และเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอ๊ปเปิ้ล ทวิตเตอร์ ไทม์วอร์เนอร์ และ ทเวนตี้ เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ 

ทั้งยังสั่งจับกุมเจ้าชายมีเต็บ บิน อับดุลลาห์ ผู้ซึ่งเคยได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สืบราชวงศ์อีกพระองค์หนึ่ง เนื่องจากเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ กษัตริย์องค์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นพระเชษฐาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

แม้ทางการซาอุฯส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจในปลายปากกาคาช็อกกีหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่หยุดยั้งที่จะขุดคุ้ยและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของประเทศบ้านเกิด แม้แต่ช่วงไม่กี่วันก่อนที่เขาจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในสถานกงสุลซาอุฯประเทศตุรกี