“เอสซีจี” ทรานส์ฟอร์ม เดินเกมรุกค้าปลีก

“เอสซีจี” ทรานส์ฟอร์ม เดินเกมรุกค้าปลีก

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกแล้ว ยังกระเทือนต่อธุรกิจน้อยใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจแมนูแฟคเจอริ่ง

ที่จะต้องผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค (End User)ให้มากขึ้น ธุรกิจจึงจะอยู่อย่างยั่งยืน

ไม่เว้น“ผู้เล่นเบอร์นำ”ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และแพคเก็จจิ้ง ในไทยและอาเซียน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี

ธุรกิจที่มีรายได้กว่า 4.8 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 5.5 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา องค์กรร้อยปี (ก่อตั้งในปี 2456 ) แห่งนี้ ยังต้องพลิกเกมเดินหน้าสู่ธุรกิจบริการโดยเฉพาะค้าปลีก บริหารจัดการซัพพลายเชน (Fulfillment/Logistic) ซึ่งธุรกิจดังกล่าวกำลังกลายเป็นอีก“ขาธุรกิจ”(New Business) ที่สร้างอัตราเติบโตของรายได้ให้กับเอสซีจี อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

เครือเนชั่น สัมภาษณ์พิเศษ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี โดยเขายอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นความท้าทายในการเคลื่อนธุรกิจแสนล้าน โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หนึ่งในธุรกิจหลัก (Cor Business) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด เมื่อเทียบกับอีกสองธุรกิจหลักในเครือ (เคมิคอลส์ และแพคเก็จจิ้ง) ที่ผ่านมาจึงเห็นเอสซีจี เริ่มรุกสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และค้าปลีกมากขึ้นต่อเนื่องรับกับธุรกิจนี้ 

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับบริษัทบุญถาวรกรุ๊ป จำกัด (หนึ่งในร้านค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และของแต่งบ้านรายใหญ่ในไทย) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น ถือหุ้น 51% เพื่อดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกแบบเฉพาะทางในไทย จัดจำหน่ายสินค้าตกแต่งทั้งภายในภายนอก พร้อมบริการออกแบบ ติดตั้ง โดยนักออกแบบและช่างติดตั้ง ภายใต้การขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ คาดว่าจะเปิดบริการไตรมาสแรกปี 2562 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งระบบผู้แทนจำหน่าย (เอเย่นต์) ของเอสซีจีที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน 451 เอเย่นต์ ที่จะต้อง ปรับบทบาทในยุคที่ดิจิทัลเข้ามาปั่นป่วน (Disrupt) 

ที่สำคัญยังเป็นทางลัดในการเข้าถึงความต้องการผู้บริโภค (Big Data) ! 

"แม้ระบบการซื้อขายผ่านเอเย่นต์ยังมีอยู่ แต่ลูกค้าต้องการบริการมากขึ้น จากเดิมที่เคยกระจายสินค้าให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ตอนนี้เอเย่นต์จะต้องเป็น Fulfillment หรือการบริหารจัดการซัพพลายเชนในพื้นที่ยิงตรงถึงลูกค้า ไม่เพียงการขายสินค้า แต่ต้องให้บริการลูกค้าแก้ปัญหาเรื่องบ้าน เพราะเอเย่นต์เป็นผู้ใกล้ชิดกับลูกค้าอยู่แล้ว อาทิ ซ่อมบ้าน ติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงบริการส่งสินค้า ดูแลลูกค้าครบวงจร ทั้ง Offline (หน้าร้าน) to Online ใครทำได้เร็ว และเสนอผลประโยชน์ให้ดีกว่า ลูกค้าจะเลือกสิ่งนั้น กลายเป็นความลงตัวของดีลที่เอสซีจี จะเข้าไปช่วยบุญถาวรในส่วนนี้" รุ่งโรจน์ เผยและว่า

ดีลตั้งบริษัทร่วมทุนกับบุญถาวรกรุ๊ป จะตอบโจทย์การเติบโตในการขยายสาขาของบุญถาวรในจังหวัด ได้ประโยชน์ทั้งบุญถาวร และเอสซีจี โดยบุญถาวรมีองค์ความรู้แต่ไม่สามารถกดปุ่มได้ ต้องอาศัยคนซึ่งจะเข้าไปให้บริการตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งเอสซีจีมีเครือข่ายเอเย่นต์ที่พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็มการเติบโตไปพร้อมกัน

เรากำลังทำเรื่อง Retail (ค้าปลีก) โลกยุคใหม่ หน้าร้านการค้าไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้า การปรับตัวจากการดำเนินธรกิจ Business to Business (BtoB) สู่ Business to Consumer (BtoC) หนีไม่พ้น”  กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ย้ำชัดถึงมุมมองธุรกิจใหม่ของเอสซีจี จากนี้ 

แม้ว่าในปัจจุบันธุรกิจของเอสซีจี ยังคงผูกพันกับการดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะ BtoB ก็ตาม แต่เริ่มเห็นการชิมลางในธุรกิจโลจิสติกส์นอกเครือ ในลักษณะ BtoC  มาตั้งแต่ต้นปี 2560 หลังผนึกพันธมิตร “ยามาโตะเอเชีย” รุกสู่ธุรกิจธุรกิจขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” ซึ่งรุ่งโรจน์ระบุว่า ธุรกิจโตเร็วมาก เช่นเดียวกับการแข่งขันที่รุนแรงมากเช่นกัน 

ขณะที่ในอาเซียน เอสซีจี ยังคงใช้โมเดลธุรกิจรุกค้าปลีก โลจิสติกส์ ไม่ต่างจากในไทย กับหลายดีลที่เกิดขึ้นในตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้แก่ การรุกเข้าไปจัดตั้งบริษัทการค้า (Trading Company) ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นฐานการลงทุนอันดับสองของเอสซีจีในเชิงสินทรัพย์ โดยเข้าไปถือหุ้น 50% ในบริษัท PT Nusantara Polimer Solutions บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อจัดจำหน่ายเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าสูง 

ตามมาด้วยดีลสำคัญกับการเข้าถือหุ้น 29% ในบริษัท PT Catur Sentosa Adiprana Tbn (CSA)ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจกระจายสินค้าวัสดุก่อสร้าง และสินค้าเกี่ยวกับบ้านชั้นนำในอินโดนีเซีย รวมถึงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในจีนตอนใต้เพื่อบริการขนส่งและบริหารจัดการซัพพลายเชนเชื่อมมายังอาเซียน โดยเอสซีจีถือหุ้น 49 % ร่วมกับ Jusda Supply Chain Management International (JUSDA) ในเดือนพ.ค.ปีเดียวกัน  

“เราหวังว่ารายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์กับค้าปลีกในอนาคต จะขึ้นมามีความสำคัญกับเครือ โดยปัจจุบันเอสซีจีการให้บริการโลจิสติกส์ในเครือสัดส่วน 70% นอกเครือ 30% แต่ในอนาคต สัดส่วนจากธุรกิจนอกเครือจะเยอะกว่า เพราะเทรนด์มาแบบนั้น”

การแข่งขันคนที่จะสามารถโตได้คือคนที่อยู่ใกล้ลูกค้า การที่อยู่ใกล้ลูกค้ามีข้อดี เพราะเราสามารถทำเรื่องนวัตกรรมและสามารถทดลองได้ง่าย ถ้าอยู่แต่แมนูแฟคตอริ่งจะไกล กว่าจะทำได้ต้องผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ทำได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือเปลี่ยนเร็ว คือ สมมติแต่ก่อนเราทำหลังคาเปลี่ยนรุ่น 5 ปี แต่ถ้าเราเป็นคนขายของเองแต่ละรุ่นไม่มีทางที่จะอยู่ได้นานถึง 5 ปี “รุ่งโรจน์” ระบุ

ไม่เฉพาะธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่จะมุ่งไปสู่ธุรกิจครบวงจรลงไปถึงค้าปลีก ธุรกิจอื่นเช่น เคมิคอลส์ และแพ็คเกจจิ้ง ก็จะเดินตามรอยนี้ในไม่ช้า โดยรุ่งโรจน์ประเมินว่าจะเห็นภาพการพลิกโฉมชัดของเอสซีจี จากแนวทางนี้ในระยะ 4-5 ปีจากนี้ ล้อตามวิสัยทัศน์ “ผู้นำธุรกิจอาเซียนอย่างยั่งยืน”

ทว่าเป็นผู้นำอาเซียนในมุมมองใหม่ !!  

“วิชั่นผู้นำอาเซียนอย่างยั่งยืน ผู้นำอาจจะเปลี่ยนไป จากการเป็นผู้นำในอินดัสตรีที่อยู่ในแมนูแฟคเจอริ่ง เราก็มองว่า การเสริฟลูกค้า การกำหนดตัวเองว่าเป็น Manufacturing Capability (กำลังการผลิต) อย่างเดียวคงไม่ใช่ จะอยู่ยั่งยืนได้คุณต้องเสริฟลูกค้าให้ได้ ต้องครบวงจรทั้งซัพพลายเชนมากขึ้นถึงค้าปลีก เราจะมุ่งธุรกิจบริการมากขึ้น ในทั้งสามธุรกิจหลัก" เขาย้ำ 

แม้อาจจะวัดผลลัพธ์ของการดำเนินการยาก แต่“รุ่งโรจน์”เชื่อมั่นว่า เอสซีจี เดินมาถูกทางแล้วในเส้นทางนี้ ! 

"ผมไม่รู้ว่าในช่วงของการ Transformation (เปลี่ยนผ่าน) ตอนจบเราจะเห็นอะไร ไม่สามารถตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาด การเติบโตได้ การตั้งเป้าแบบ Marginal(อัตรากำไร) หรือ Implemental (แผนดำเนินงาน)ก็ไม่เหมาะ เพราะเป็นความรู้ใหม่ คือเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จะไม่ค่อยมีใครมาถามว่าแล้วตอนจบยังไง เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ Revolution เปลี่ยนใหญ่ ยกเครื่อง ยากจะพยากรณ์ได้ว่าสุดท้ายหน้าตามันเป็นอย่างไร 

แต่ขอให้ธุรกิจเคลื่อนไปในจุดที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ เช่น อาลีบาบา (ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน) มีทางเลือกเคลื่อนไปตอบโจทย์ผู้บริโภค ไม่เคยมี End Game (จุดจบ) เพราะมีโอกาสมหาศาลที่จะไปต่อได้ อย่างตอนนี้อาลีบาบาก็ไปดูเอาท์เล็ท ซื้อเทคโนโลยีมาต่อยอด

ผมอยากจะใช้คำพูดว่าสมมติพรุ่งนี้เอสซีจีหายไป ลูกค้าอยู่ได้ไหม ถ้าลูกค้าบอกว่าไม่รู้เลยว่าคุณหายไป ยังอยู่ได้เหมือนเดิม แสดงว่าคุณไม่มีความสำคัญกับลูกค้า แต่ถ้าพรุ่งนี้เอสซีจีหายไปลูกค้าบอกอยู่ไม่ได้ นั่นแหละคือความสำเร็จของเรา