มีอะไรใน”ผ้าลายอย่าง”

มีอะไรใน”ผ้าลายอย่าง”

ตั้งแต่แม่หญิงการะเกดตื่นเต้นเมื่อได้เห็นผ้าลายอย่างในละคร “บุพเพสันนิวาส” จากนั้นผ้าลายอย่างที่ปรากฎชื่อผู้ออกแบบลายผ้าตัวเล็กๆท้ายเครดิตตอนจบ “ภูษาผ้าลายอย่าง” ก็เป็นที่หมายตาของผู้ชื่นชอบผ้าไทย

       “ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ ไม่คิดว่าท้ายละครจะมีเอ่ยชื่อ ภูษาผ้าลายอย่าง ไม่ได้คิดเลยว่าเขาจะให้เกียรติแต่ว่าคำเล็กๆนี่พ่อแม่เห็นแล้วน้ำตาไหล ตอนเด็กๆโดนตีบ่อยมาก เขาไม่ชอบให้เราเรียนศิลปะ พ่อตีชนิดที่ว่า พี่เคยเห็นการตูนที่มีรูปดาวบนหัวมั้ย? ผมเป็นจริงๆนะ โดนบ่อยมาก” ธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์วัย 28 ผู้ออกแบบลายผ้า 20 ลาย 20 ผืนให้กับละครดังเปิดใจ

 

        “เหมือนเป็นปมในใจนะ พ่อชอบเรียกเราว่า ไส้แห้ง  ไส้แห้งทำอะไร  เราก็ยังวาดรูปอยู่มุมบ้านทุกวัน วาดนี่คือการบ้านที่เราต้องไปส่งที่วัดนะ (เรียนวาดรูปจากช่างวาดรูปในโบสถ์วัดธรรมรังษีในหมู่บ้าน) โดนว่าทุกวัน

 

ตอนนี้ไม่รู้ว่าหายไปตอนไหนนะ คนในหมู่บ้านก็ไม่อยากให้เราเรียนศิลปะ เรียนไปทำไม? คำนินทาเป็นแรงผลักดันเหมือนกันนะทำให้เราต้องหลุดออกมาไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด แต่ต้องระดับประเทศให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าผ้าไทยสวยนะ”

 

  ธนิต พุ่มไสว เปิดใจว่าตั้งแต่ส่งวิทยานิพนธ์ “ผ้าลายอย่าง” มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เมื่อราว 4 ปีก่อน ยังไม่ได้มีเวลาหยุดพักในการทำผ้า ยิ่งกระแสละครบุพเพสันนิวาสที่แรงจัดไปทุกรายละเอียดทั้งนักแสดง ไปจนถึงเครื่องแต่งกาย วันนี้เพจแตก ไลน์กระหน่ำ จนแอดมินตอบไม่ไหวต้องขออภัยเป็นอย่างสูง

 

ผ้าลายอย่างคืออะไร

 

      ผ้าลายอย่าง เป็นผ้าในราชสำนักในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น เหตุที่เรียกว่าผ้าลายอย่าง เพราะว่าเป็นผ้าพิมพ์ที่ออกแบบโดยราชสำนักสยามแล้วส่งไปพิมพ์ที่อินเดีย (แหล่งผลิตสิ่งทอคุณภาพเยี่ยมในสมัยนั้น) จึงได้ชื่อว่าผ้าลายอย่าง  คือ ทำตามอย่างที่ออกแบบไปให้

 

        ส่วนผ้าลายนอกอย่าง เป็นลายผ้าที่เกิดจากช่างอินเดียคิดค้นขึ้นตามอย่างผ้าไทยแต่นำเอาลายของอินเดียเข้าไปผสมผสาน

 

ผ้าไทยกับวัยรุ่น

 

     หลายคนเข้าใจว่าผู้ออกแบบลายผ้า “ภูษา ผ้าลายอย่าง” เป็นครูบาอาจารย์ผู้สูงวัย ย้อนกลับไปก่อนละครบุพเพสันนิวาสจะเป็นที่รู้จัก เวลานำผ้าไปออกบูธในงานต่างๆ ผู้คนมักจะถามธนิตเสมอว่า อาจารย์ไม่ได้มาเหรอด้วยไม่เชื่อว่าจะเป็นผลงานของหนุ่มวัยยี่สิบกว่าๆ

 

ยิ่งเมื่อเราได้มาเห็นทีมงานของธนิตที่มาช่วยงานเขียนลายทอง ปักผ้า ช่างแต่งหน้า ช่างทำผมในงานที่แตกแขนงจากการทำผ้า คือ ชุดไทยสำหรับบ่าวสาว ทุกคนล้วนแล้วแต่อยู่ในวัยรุ่น ส่วนมากเป็นรุ่นน้องคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่มีใจรักในผ้าไทย เห็นแล้วน่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

 

“ความชอบเรื่องผ้ามีมาตั้งแต่เด็กๆ เราเกิดจากชาติพันธุ์ไททรงดำ เด็กๆเคยไปช่วยยายทอผ้า

 

จนประถมปีที่ 4 ไปเรียนวาดลายไทยที่วัดธรรมรังษีข้างบ้าน ไปเรียนกับช่างที่มาวาดรูปในโบสถ์ เขามาวาดตั้งแต่ตอนนั้นจนวันนี้ยังไม่เสร็จเลยครับ หัดมาเรื่อยๆจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย”

 

ความชื่นชอบในลายผ้า ทำให้สายตาของธนิตพุ่งความสนใจไปกับลวดลายของผ้านุ่งของเหล่าเทวดา ทวยเทพ และยักษ์ ที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดราชบุรี

 

      “เห็นลายผ้านุ่งลักษณะเป็นดอกใหญ่ๆ มีสีหลายสีในผืนเดียวกันซึ่งไม่ใช่ผ้าในตระกูลผ้ายก ต้องเป็นผ้าอะไรสักอย่างเรา ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ เลยไปสืบค้นในหอสมุดแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทำให้เจอผ้าลายอย่าง”

 

      ธนิต กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการค้าคว้าหาข้อมูลของผ้าลายอย่างเพื่อนำมาเป็นโครงการวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาตรี โดยใช้เวลานานนับปีกว่าจะออกแบบเขียนลายแล้วพิมพ์ผ้าผืนแรกออกมาได้สำเร็จ แม้ว่าจะทำให้เขาเรียนจบช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ทว่าวิทยานิพนธ์ของเขาได้รับรางวัลดีเด่นในระดับประเทศ

 

แรงบันดาลใจในลายผ้า

 

      เนื่องจากผ้าลายอย่าง เป็นผ้าทรงสำหรับกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง สามัญชนจะนุ่งได้เมื่อได้รับพระราชทาน หากวัตถุประสงค์ในการทำผ้าลายอย่างของธนิตเป็นเพื่อให้คนในยุคปัจจุบันได้สวมใส่ ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเก็บสะสม ลวดลายที่นำมาออกแบบจึงเป็นลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายจิตรกรรมฝาผนัง ลายเขียนทองที่เสาศาลาการเปรียญที่วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดเกาะแก้วสุทธาราม และวัดคงคาราม ในจังหวัดเพชรบุรี โดยนำมาผูกลายขึ้นมาใหม่

 

     “นำมาผสมผสานกัน โดยดึงลายจากศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นหลักเพราะว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในเพชรบุรี ดึงลายมาจากเสาและลายจิตรกรรม สังเวียนสามชั้น กรวยเชิงสามชั้นเทพพนมมีนุ่งผ้าลายต่างๆเราก็ดึงมา เช่น ลายเทพพนม พุ่มข้าวบิณฑ์ ตอนแรกที่ทำเป็นลายอนุรักษ์ต้นเสา เพราะอยากให้คนรู้จักลายของต้นเสาวัดใหญ่ฯ เพชรบุรี

 

        ส่วนมากใช้เวลาในการออกแบบนาน 8 เดือน แล้วส่งพิมพ์อีก 7 วัน จากนั้นต้องนำมาซักอีกหลายครั้งเพื่อให้ได้สีตามต้องการ เราใช้สีเคมีที่วิจัยมาแล้วว่าไม่มีอันตราย พิมพ์โดยเครื่องพิมพ์ที่มีเพียง 4 เครื่องในประเทศไทย พิมพ์ได้ละเอียดชัดคม เนื้อสีจะซึมเข้าไปในผ้าฝ้าย สีไม่ลอย ไม่แข็งถ้าเป็นผ้าไหมจะนิ่มมาก”

 

ความหมายในลายผ้า

 

ผืนผ้าโดยรวมเห็นว่างามแล้ว เมื่อได้เข้าไปดูรายละเอียดใกล้ๆยิ่งงามนัก เจ้าของผลงานอธิบายถึง

 

    ลายเหรา ที่ปรากฎอยู่ในรูปวงกลมเชื่อมต่อกันว่า

 

      “เป็นนาคผสมจระเข้ ได้แรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม ด้านมารผจญ สังเกตว่าจะเป็นลายวงกลมที่สมัยรัตนโกสินทร์ยังไม่มี ลายกลมในวัดใหญ่สุวรรณารามจะเป็นลายดอกแปดกลีบเรามาดัดแปลงให้เป็นลายเหรา สัตว์มงคลทางล้านนา ภาคกลางเราเขียนเป็นนาคมีขา ตรงกับตำราจีนคือมังกร เรานำตรงนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจผสมผสานกัน”

 

    ลายหิมพานต์  ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์หิมพานต์ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย “เป็นรูปเทพปักษา ครึ่งเทพผสมนก ต่างจากกินรี กินนรที่มีขาเป็นนก แต่นี่มีขาเป็นคนและมีสัตว์หิมพานต์ 12 ชนิดอยู่บนผืนผ้า เช่น นกการะเวก เป็นสัตว์มงคลทั้งหมด คชสีห์ ราชสิงห์ มังกรสกุณี อัปสรสิงหะ เทพปักษาจะทรงพระขรรค์กับดอกบัว กินรี กินนรไม่ถืออะไร”

 

       นอกจากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาแล้ว เขายังศึกษาลวดลายจิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้เกิดผ้าลาย พุดชมพู

 

     “การออกแบบลายได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายฝ้าเพดานที่วัดนางชี กรุงเทพฯ นำมาผสมกับลายดอกพุดชมพู เนื่องจากจิตรกรรมที่วัดนางชีมีอิทธิพลศิลปะจีนอยู่ไม่น้อย ลายผ้าผืนนี้จึงให้อารมณ์ไทยผสมจีน ผ้าลายนี้นุ่งกับเสื้อแขนกระบอกหรือเสื้อกี่เพ้าแบบจีนก็เข้ากัน”

 

ต่อยอดชุดไทยวิวาห์โบราณ

 

เมื่อบุพเพสันนิวาสปลุกกระแสให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับ “ผ้าลายอย่าง” อย่างท่วมท้น ถามว่ามีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร ธนิตตอบเราว่า

 

     “จากเด็กบ้านๆก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้น แต่เราไม่ได้หวังให้คนรู้จักไม่ได้หวังเรื่องเงินเรื่องทอง แต่เราดีใจที่คนรู้จักผ้าลายอย่าง” แล้วการต่อยอด ชุดไทยวิวาห์โบราณ โดย ภูษาผ้าลายอย่าง จึงแตกหน่อด้วยความต่อเนื่อง

 

      “ศึกษาเรื่องการแต่งกายของสยามมานานแล้ว เราจึงเข้าใจเรื่องเครื่องประดับมากขึ้น เมื่อทำเรื่องเครื่องแต่งกายแล้วเรามาศึกษาเครื่องประดับอย่างจริงจัง คนที่อย่างแต่งมี ประกอบกับเราต้องมีเพื่อพรีเซ้นต์สินค้าของเราด้วย เวลาแต่งโชว์ในหุ่นเลยกลายเป็นชุดแต่งงาน

 

       เริ่มขึ้น 2 ปีหลังจากทำผ้า มีลูกค้ามาจากสงขลา เชียงใหม่ สกลนคร แต่ละคนมาไกลมาก ส่วนมากแทบทุกคนจะให้เราไปแต่งตัวให้ถึงที่ เราเองไม่ยอมให้ใครมาแต่งชุดของเราเด็ดขาด เพราะว่ามันไม่ได้”

 

       ส่วนเครื่องประดับนั้นถือโอกาสออกแบบขึ้นมาใหญ่ โดยส่งงานต่อให้กับช่างฝีมือชาวเพชรบุรีได้สร้างสรรค์ผลงานต่อ

 

     “หัวเข็มขัดของเราเป็นแบบสกุลช่างเมืองเพชร คือ การตอกสลัก มีคนทำได้ไม่กี่คน เริ่มออกแบบให้ช่าง ส่งงานให้กับลูกค้าบ้าง ยอมรับว่างานเราเป็นแฮนด์เมดอาจไม่ทัน รับปากไว้ได้แต่ไม่ต้องมัดจำและไม่ต้องรอด้วย คือถ้ารอแล้วเร่งทำไม่ได้ คนทำก็แก่แล้วเราก็พยายามให้เขามีรายได้

 

      งานหลักของเขาคือทำนา เขามีเวลาว่างถึงจะทำ ตอนนี้ผมก็ส่งให้รุ่นน้องไปเรียนกับเขาอยู่ ไม่อยากให้วิชาตายไปกับเขาอย่างน้อยให้ยังมีคนทำได้ ถึงเขาจะแก่แต่งานเขาละเอียดวางลายเป๊ะ ช่างกรุงเทพฯทำไม่ได้เลยเป็นความมหัศจรรย์มาก งานเพชรบุรีจะไม่เหมือนกับงานช่างทองหลวง ต่างกันมากจะเป็นงานชาวบ้าน เป็นงานท้าทายนะครับด้วยช่างเป็นชาวบ้านเขาก็เคยทำตามแบบอย่างของเขา พอเราอนุรักษ์คืออนุรักษ์ ต่อยอดคือต่อยอด เราทำควบคู่กันไป ต่อยอดเราดึงงานตอกสลักดุนเข้ามาช่วย มีความสวยมากขึ้น”

 

       สนนราคาสำหรับชุดวิวาห์โบราณ เริ่มต้นตั้งแต่ 20,000 – 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับผ้านุ่งและผ้าสะพัก

 

ความสุขเมื่อทำในสิ่งที่รัก

 

      เหนื่อยแต่มีความสุข “ครั้งแรกๆเราลุยงานเอง ทำเองหมดทุกขั้นตอน ต่อมามีน้องๆเข้ามาช่วยแบ่งหน้าที่กันทำ เราจึงได้มาทำงานออกแบบผ้าอย่างเดียว ทำในสิ่งที่เรารักก็มีความสุข มีคนมาช่วยเป็นแอดมินเพจ ดูแลลูกค้า”

 

       ถามว่าวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหรือยัง เขาตอบอย่างถ่อมตัวว่า “ถือว่ากระเถิบมามากกว่า ผ้าไทยคนไทยนี้ยังใส่ไม่เต็มที่ ยังมีความอายอยู่ เมื่อไหร่ที่คนไทยใส่โดยที่ไม่อายก็จะถือว่าประสบความสำเร็จ”

 

หมายเหตุ :  ติดต่อภูษาผ้าลายอย่างทาง เพสบุ๊คเพจ “ภูษาผ้าลายอย่าง” และ“ ชุดไทยวิวาห์โบราณ โดยภูษาผ้าลายอย่าง”