เปิด! การบ้าน 'กสทช.' 9 เหตุผล ทำไม 'อุ้ม' เอไอเอส-ทรู

เปิด! การบ้าน 'กสทช.' 9 เหตุผล ทำไม 'อุ้ม' เอไอเอส-ทรู

เปิด! การบ้าน 'กสทช.' 9 เหตุผล ทำไม 'อุ้ม' เอไอเอส-ทรู

สืบเนื่องจาก ผู้บริหารบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี บริษัทในเครือบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นในย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมต้องจ่ายงวดที่ 4 เป็นงวดสุดท้ายในปี 2563 จำนวน 60,218 ล้านบาท และ 59,574 ล้านบาท เป็นทยอยจ่ายออกไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567

โดยที่ประชุมคสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้ข้อสรุป และให้สำนักงานกสทช.นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งก่อนจะพิจารณาอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังการประชุมเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกสทช.ระบุว่าจะเสนอข้อมูลต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อคสช.วันนี้ (2 เม.ย.)

3

ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลจากคณะทำงานของสำนักงานกสทช. พิจารณาว่า หากคสช. จะมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลออกไป หรือคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดจะเกิดผลใน 9 ข้อดังนี้
1.ทียูซีและเอดับบลิวเอ็นได้วางเงินประกัน (แบงก์ การันตี) ให้กับสำนักงานกสทช.ครบถ้วนราว 130,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ทั้งบริษัททียูซี และเอดับบลิวเอ็นรับภาระหนี้จากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 3%
2.หาก คสช.มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช.ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลของทั้งสองบริษัทออกไปจากปี 2563 เป็นปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1.5% รัฐจะรายได้เพิ่มจากการเก็บอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 3,593.76 ล้านบาท
3.เมื่อทั้งสองบริษัทได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาชำระค่างวดออกไป มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทจะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันประมูล เนื่องจากวงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้รับการขยายออกไปด้วยเช่นกันและบริษัทยังมีโอกาสเฉลี่ยต้นทุน ซึ่งเอดับบลิวเอ็นแจ้งว่า อาจจะเปิดระดมทุนหรือหุ้นกู้ต่อไป แต่ทางทียูซียืนยันมาค่อนข้างแน่ชัดว่า ไม่สามารถระดมทุนหรือออกหุ้นกู้ได้

4

4.คณะทำงานเชื่อว่า หากกสทช.เปิดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยกสทช.มีแผนจะเปิดประมูลครบทั้ง 45 เมกะเฮิรตซ์ หรือแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตๆละ 15 เมกะเฮิรตซ์ บริษัททียูซี และเอดับบลิวเอ็น และบริษัทดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ ดีทีเอ็น เข้าร่วมประมูลด้วยจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น โดยในวันที่ 11 เม.ย.นี้ จะเสนอให้บอร์ดกสทช.เห็นชอบหลักเกณฑ์การประมูล รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถ้าประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาทประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท หรือสุดท้ายมีผลเข้าประมูลเพียงรายเดียวประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท

5.กรณีไม่มีการประมูลและคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำนักงานกสทช.จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน รวมถึงปี 2567 เป็นยอดเงิน 166,991.16ล้านบาท
6.หากจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยหากคสช.มีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก รัฐจะมีรายได้รวมถึงปี 2567 ในกรณีใบอนุญาต 3 ใบ รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท
7.หากจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และขยายเวลาชำระหนี้ออกไป รัฐจะมีรายได้ รวมถึงปี 2567 กรณีใบอนุญาต 2ใบ รัฐจะมีรายได้ 251,154.96 ล้านบาท

8.ส่วนในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังหรือไม่ หาก คสช.เห็นชอบให้ขยายเวลาชำระค่างวดออกไป การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจาก บริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ส่วนบริษัทดีทีเอ็น จะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูล ที่กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไปทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดีทีเอ็น ยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้นการขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทางดีทีเอ็นไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งต่อไป

9.หากนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มาเปิดประมูล จะทำให้ประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จี โดยประเทศไทยกำลังจะประกาศการเข้าสู่ระบบ 5จีแล้ว รองรับบริการอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ทางภาครัฐจะพิจารณาสรุปอย่างไรผมก็น้อมรับ แต่สิ่งที่ผมเสนอคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มที่ และรัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์ ภาคเอกชนเองก็สามารถมีเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจไปต่อไป” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ระบุ