เบื้องหลังความหวานของเจดีย์น้ำตาล และสิงโตถั่ว

เบื้องหลังความหวานของเจดีย์น้ำตาล และสิงโตถั่ว

การไหว้ขอบคุณเทพยดาฟ้าดิน รวมไปถึงการขอพรเพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ ด้วยผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ น้ำตาล และ ถั่ว มีความหมายอย่างไร

กรุงเทพธุรกิจ ชวนไปค้นหาความหมายกับคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ ผู้สนใจศึกษาวัฒนธรรมจีนในไทย และ ทัศนีย์ จินตนาปราโมทย์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านขนมเปี๊ยะอื้อเล่งเฮง ผู้สืบทอดกิจการทำเจดีย์น้ำตาลและขนมต่างๆในงานมงคล

ทีกงแซ เป็นวันเกิดเทพยดาฟ้าดิน

 ปัญญภัทร กล่าวว่าวันทีกงแซสำหรับชาวจีนแต้จิ๋วถือว่าเป็นเทศกาลใหญ่ที่มีความสำคัญ

“เวลาไปตามศาลเจ้าต่างๆ ทุกคนเห็นเสาบูชา หน้าศาล แท่นบูชาหน้าศาล ซึ่งเป็นลักษณะเสาสูง เสามังกร ทุกคนที่เป็นลูกหลานจีนจะรู้จักว่าเป็นที่บูชาทีกง ถ้าถามว่าทีกงว่าท่านเป็นใคร ? มีความหมายหลายอย่าง

บางความหมายก็ว่าท่านคือ เทพยดาผู้ดูแลสรวงสวรรค์ ที่เรียกกันว่า เก็กฮ้วงหรือเง็กเซียนฮ่องเต้ แต่บางท่านก็ตีความไปว่า คือเทพยดาทั้งปวง เป็นการบูชาหลักการธรรมชาติของคนจีนซึ่งบูชาทั้งฟ้าทั้งดิน ธรรมชาติและสรรพสิ่งต่างๆ เป็นวันที่ชาวจีนในไทยให้ความสำคัญ

เนื่องจากเราถือว่าท่านอยู่ในฐานะเทพผู้สูง เครื่องประกอบการไหว้ก็จะเน้นอาหาร ซึ่งไม่ใช่อาหารคาว ผลไม้ เจไช่ หรืออาหารเจหลากหลาย 5 อย่าง ตามวัฒนธรรมจีน

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือจะเรียกว่า ทึ้งถะ ก็คือเจดีย์น้ำตาล กับ ซิ่วท้อ ก็คือ ขนมซาลาเปาปั้นเลียนคล้ายลูกท้อ เรียงกัน คล้ายกับการไหว้วันเกิด วันเกิดเจ้าหรือวันเกิดผู้ใหญ่”

สำหรับการนำน้ำตาลมาเป็นของเซ่นไหว้เทพเจ้านั้น ปัญญภัทรอธิบายว่า

“น้ำตาลในความหมายของคนจีน ถือเป็นของมงคล ถือเป็นการแปรรูปธัญพืชในสังคมเกษตรโบราณ น้ำตาลสื่อถึงความเย็น ถึงความหอมหวาน ความราบรื่น

น้ำตาลไม่เฉพาะการไหว้ทีกงแซเท่านั้น น้ำตาลสามารถนำมาไหว้วิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เกือบทุกเทศกาล แม้กระทั่งน้ำตาลถุงธรรมดา ใส่จานติดกระดาษแดง ก็กลายเป็นของมงคล นำมาไหว้ได้ พอไหว้เสร็จแล้วใช้ประกอบการทำอาหารคาวหวานในบ้านก็เป็นมงคลต่อไป

ส่วนการนำน้ำตาลมาหลอมเป็นเจดีย์นำมาไหว้เทพยดาฟ้าดิน มีอิทธิพลมาทั้งความเชื่อธรรมชาติโบราณ ความเชื่อเต๋า ความเชื่ออิทธิพลพุทธศาสนา ในพุทธศาสนา การสร้างเจดีย์ คือการบูชาพุทธศาสนาแบบมหายาน

 เจดีย์ เป็นสถานที่เก็บพระธรรมในพระพุทธศาสนา เข้ามาในประเทศจีนก็่ค่อนข้างช้านาน ทีนี้ ในการบูชาสวรรค์ เจดีย์เป็นสิ่งก่อสร้างสูงสุด ซึ่งสามารถใกล้เคียงกับสวรรค์ได้ ซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นๆ

ในสังคมไทยเจดีย์น้ำตาลมีรูปทรงเหลี่ยม 8 เหลี่ยม จนกระทั่งถึง ไปค่อนข้างไปทางกลม การทำเจดีย์ทรงนี้ มาจากหลักความเชื่อโบราณ รูปพรรณสัณฐานของธรรมชาติจีน จะเชื่อว่าท้องฟ้ามีลักษณะกลม แผ่นดินมีลักษณะสี่เหลี่ยม”

ด้วยเหตุนี้เจดีย์ทรง 8 เหลี่ยมที่มีรูปพรรณสัณฐานแบบกลมจึงสื่อความหมายถึงการไหว้ขอบคุณเทพยดาฟ้าดินได้อย่างสมบูรณ์

หง่วงเซียว – การเริ่มต้นทำงานอย่างมีสิริมงคล

  วันเพ็ญเต็มดวงแรกหลังตรุษจีน ถือเป็นวันหง่วงเซียว หมายถึงการเริ่มต้นทำงานสังคมเกษตรโบราณของจีน

“ต้องทำความเข้าใจสังคมเกษตรโบราณ หรือวัฒนธรรมจีนตอนใต้ก่อนว่า ตรุษจีนอยู่ช่วงหน้าหนาวแน่นอนว่าทำการเกษตรไม่ได้ แต่พอผ่านพ้นตรุษจีนไปแล้วคือฤดูใบไม้ผลิ แปลว่าอากาศเริ่มอุ่นขึ้น เขาเริ่มทำเกษตรได้ หลังวันเพ็ญแรกเป็นต้นไป เริ่มประกอบกิจการเริ่มทำเกษตรอย่างแท้จริงเป็นการเฉลิมฉลองใหญ่ด้วย

อันนี้เป็นอิทธิพลชาวบ้าน แต่ถ้าพูดถึงหง่วงเซียวในประเด็นอื่นๆ มันจะมีอิทธิพลการประดับโคมไฟ การบูชาเทพ หรือเต๋า พุทธศานาลัทธิมหายาน เข้ามาในสังคมจีน

หง่วงเซียวในไทย คือการไหว้ขอพรตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเขาก็สามารถไหว้ได้ หลังเทศกาลตรุษจีน จีนในไทยเมื่อไม่ใช่สังคมเกษตรแล้ว อาจเป็นสังคมการค้า สิ่งประกอบการไหว้ในจีนในไทย เป็นการไหว้เพื่อเป็นสิริและมงคล ไหว้อะไรก็ขอพรให้เป็นมงคลตลอดปี”

ส่วนเครื่องประกอบการไหว้ในวันหง่วงเซียวนั้น ปัญญภัทรกล่าวว่าเหมือนกับของไหว้ตรุษจีน แต่ที่โดดเด่นคือ สิงห์ทำจากน้ำตาล และสิงห์ทำจากถั่ว

สิงโตถือเป็น สัตว์มงคลในช่วงตรุษจีน มีตำนานความเชื่อหลายอย่าง แต่ตำนานหนึ่งที่อาจอ้างอิงเป็นนิทานชาวบ้าน มีความเชื่อว่าตั้งแต่สิ้นปี มีสัตว์ประหลาดในป่า นิยมออกมารบกวนผู้คน ทำร้ายเด็กๆ ในช่วงสิ้่นปี ผู้คนก็กลัวกัน วันดีคืนดีก็ปรากฏว่า มีคนนึกว่าเจ้าสัตว์ประหลาด น่าจะกลัวอะไรที่ ดูมีพลังอำนาจ มีคนคิดเชิดสิงโตกันในวันตรุษจีน เมื่อสิงโตมาสัตว์ประหลาดก็หายไป ความยินดี ความเป็นมงคล ก็เข้ามาเลยนิยมนำสิงหมาไหว้ ช่วงตรุษจีนช่วงต้นปี ต่องเนื่องถึงหง่วงเซียวด้วย

ส่วนความเชื่อในไทย ตัวสิงห์ต้องไหว้เป็นคู่ ธรรมเนียมเดิม จะทำสัญลักษณ์บางอย่างให้รู้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ช่วงหง่วงเซียว คู่สามีภรรยาคู่ไหน แต่งานแล้วยังไม่มีบุตร ให้นำสิงห์ไปบูชาตามศาลเจ้าที่เคารพนับถือ แล้วไปขอบูชาสิงห์กลับมา หรือถ้าไม่มีสิงห์ ไปไหว้แล้วบูชาสิงห์ที่ศาลเจ้ากลับมา เพื่อเป็นมงคลให้มีความรุ่งเรือง มีบุตรสืบสกุล

ถั่วคือธัญพืช สังคมเกษตรจีน อะไรที่เอามาไหว้เจ้า เขาเอาสิ่งของใกล้ตัว เพราะถ้าเป็นของไกลตัว แน่นอนว่าสมัยโบราณ การชนส่งไม่มี ภูมิปัญญา คนจีนโบราณ เอาสิ่งที่มีใกล้ตัว ที่เพาะปลูกเอง มาแปรรูปให้กลายเป็นของสิริมงคล

ปัจจุบันผมเห็นคนรุ่นผม คนรุ่นใหม่ ไหว้เจ้ามากขึ้น แต่อยากให้ไหว้อย่างเข้าใจความหมาย อะไร ก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัว เราเข้าใจความหมายนำมาไหว้ คือมงคลทั้งนั้น คนจีนรุ่นพ่อรุ่นแม่ อากงอาม่าที่เข้ามาอยู่เมืองไทย เขาก็ไม่ได้มีฐานะ เพราะฉะนั้นเขาไมได้เอาอะไรที่ยุ่งยาก ใมาไหว้ เขาเอา สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวแต่ไหว้เพื่อให้ เป็นกำลังใจกับเราว่า เราจะได้รับพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากเทพเจ้า ระลึกถึงบุญคุณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบรรพบุรุษ แล้วสิ่งหลักเลยก็คือ ต้องตั้งใจทำมาหากิน ตั้งใจทำงาน มีความกตัญญูเป็นที่ตั้งครับ” ปัญญภัทร ทิ้งท้าย

กว่าจะมาเป็นเจดีย์น้ำตาล

รูปทรงบอบบาง มีรายละเอียดที่น่าทะนุถนอมตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการนำน้ำตาลทรายมากวน หล่อลงพิมพ์ไม้ รอให้แข็งตัวแล้วค่อยๆแกะอย่างระมัดระวัง กระทั่งมาถือมือคนซื้อที่ต้องถือกันอย่างตั้งใจ จะอาศัยพี่วินมอเตอร์ไซด์ หรือคนขับรถมาก็ต้องหาคนมาประคองอย่างดี

ทัศนีย์ จินตนาปราโมทย์ กล่าวว่ากว่าจะมาเป็นเจดีย์น้ำตาลนั้นไม่ง่าย แถมช่างทำน้ำตาลต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญ

“ขั้นตอนการทำเจดีย์ ตัววัตถุดิบเป็นน้ำตาลทราย กับน้ำเปล่าเคี่ยวให้ได้จุดเดือดได้ที่ แล้วเติมน้ำมะนาวลงไปเพื่อให้เจดีย์ใสและเป็นสีขาว นำมาเทลงบล็อคไม้ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วแกะออกจะได้เจดีย์น้ำตาลออกมาเลย”

อื้อเล่งเฮง ทำเจดีย์น้ำตาลมา 4 รุ่นแล้ว โดยใช้กรรมวิธีแบบดั้งเดิม ด้วยการตีน้ำตาลที่เดือดให้ขึ้นฟูเทลงบล็อกไม้อายุเก่าแก่กว่า 60 ปี รูปทรงเจดีย์ และสิงโตที่มีหลายหลายขนาด

“ถ้าเป็นดั้งเดิมจริงๆ คือ ไม่มีการตกแต่งอะไรเลยอาจเป็นการติดดอกไม้ที่ฐานแล้วจะแต้มจุดสีแดงแบบเพลนๆ ไม่มีอะไร แต่พอมารุ่นปัจจุบัน มาทำให้มันดูสวยขึ้น

มีการทำพู่กระดาษประดับ เวลาเอาไปไหว้ เพราะส่วนใหญ่เจดีย์ตั้วไว้ทั้งปีเพื่อความเป็นสิริมงคลเลยทำให้มันสวยหน่อยเพื่อเวลาตั้งดูเขาจะได้แบบสดชื่นอะไรอย่างนี้ ตกแต่งให้มีสีสันนิดหนึ่ง

ส่วนสีของเจดีย์น้ำตาลของเรามีสีทอง สีแดง สีชมพู แล้วแต่ลูกค้าระบุมาเราทำให้ได้ สีสันที่เกิดขึ้น เป็นเพราะว่าความเชื่อของคนสมัยนี้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ บางคนอาจไปดูดวงมา ว่าน่าจะไหว้เจดีย์ที่มีสีแดง หรือสีทอง เขาเลยอยากได้ เราก็เลยทำให้”

ในส่วนของสีสัน ทัศนีย์ กล่าวว่าใช้สีผสมอาหาร ซึ่งเจดีย์น้ำตาลเมื่อไว้เจ้าแล้วบางคนจะหักส่วนเล็กๆนำมารับประทานเพื่อเป็นสิริมงคล ตอนนี้เราทำเจดีย์สีทองที่ทำมาจากน้ำตาลทรายแดงก็ได้รับความนิยมไม่น้อย

เมื่อเจดีย์ดูบอบบาง ทำให้บางคนหันมาเลือกสิงโตที่ปั้นจากถั่ว จากสิงโตที่เดิมมีสีสันน้อยๆในวันนี้จึงมีสีเขียวแดงสดตัดกันสดใส บางตัวทำนัยน์ตาให้เหมือนลูกแก้วสี

“สิงโตถั่วความหมายเหมือนสิงโตน้ำตาล จะคงทนกว่า เก็บรักษาได้ง่ายกว่า อยู่ได้ยาวนานกว่า เพราะว่าสิงโตน้ำตาล โอกาสชนก็มีเยอะ แล้วโดยความเชื่ออย่างคนเราจะเอาไปไหว้ไหว้ปุ๊บหัก รู้สึกไม่ค่อยดีแล้ว เขาก็จะใช้สิงโตถั่วแทนเพราะหลีกเลี่ยงความเสียหาย

ถ้าเป็นสิงโตถั่วสมัยก่อน รูปลักษณ์ธรรมดามาก เหมือนนำถั่วมาแล้วมีแป้งมาแปะ แค่ไม่กี่ชิ้นส่วนให้มันดูพอรู้ว่าเป็นสิงโต อย่างสมัยก่อน ความปราณีต สมัยก่อนเครื่องไม้เครื่องมือยังมีไม่เยอะ สีก็เป็นสีฝุ่นผสมกับน้ำแล้วก็ทา เพราะฉะนั้นสีก็จะไม่ค่อยเรียบเนียนเท่าไหร่

พอยุคถัดมา ลูกค้าของเราเกี่ยวข้องกับความเชื่อโหราศาสตร์เหมือนกัน บางคนไม่ถูกโฉลกกับสีเขียว บางคนไม่ถูกโฉลกกับสีแดง เราพยายามทำสีให้มันสวยขึ้น รูปแบบให้มันสวยขึ้น เพราะอย่างสิงโตถั่วเขาจะตั้งไว้บูชาทั้งปี สมมติเราไปไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ บางคนขอลูกสาว เพราะเขามีแต่ลูกชาย ครั้นจะเอาสิงโตที่หน้าตาดุดัน สีเขียวสีแดงเขาก็กลัว จะขอลูกสาว เราเลยทำเป็นสีชมพูเพื่อเวลาเขาเชิญกลับบ้านมา เขาจะได้ลูกสาวที่น่ารัก สดใสอ่อนหวานเหมือนสีชมพู

อย่างบางคนทำกิจการ เกี่ยวกับพวกการเกษตร เขาก็อยากได้สิงโตสีเขียวไป เวลาเชิญกลับมาพืชผลก็จะได้ เจริญรุ่งเรือง บางคนอยากได้สีแดงบ่งบอกถึงอำนาจ สีแต่ละสีมีความหมายของเขา”

ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์น้ำตาล สิงโตน้ำตาล หรือว่าสิงโตถั่ว เป็นของไหว้ที่ช่างทำด้วยความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นขนาดเล็กหรือใหญ่ลูกค้าต้องมาอุ้มจากร้านไปเอง เพื่อป้องกันความเสียหาย

“ทำให้คิดในมุมกลับว่า สิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกความตั้งใจของเขาถ้าเขาอยากไหว้ ต้องมาประคองดูแลดีๆไม่สามารถไปทิ้วขว้างที่ไหนก็ได้ อาจทำให้เวลาเขาไปอธิษฐาน ขออะไรสัมฤทธิ์ผลก็ได้

บางคนไหว้ที่ตี่จู่เอี้ยะ บางคนไหว้ศาลเจ้าก่อน เสร็จนำกลับมาก็มาตั้งที่เจ้าที่ หรือปึงเถ้ากง หิ้งพระ ครบ 1 ปีค่อยนำไปลอยน้ำเพื่อความร่มเย็น

บางคนไหว้กลับมาแล้วหักยอด เจดีย์ไปชงกับกาแฟมาทานเพื่อควาเมป็นสิริมงคล ถือว่าเป็นของมงคลไหว้มาแล้วเกิดสิริมงคลแก่ตัวเอง”

หลังจากกราบไหว้เทพยดาฟ้าดิน ขอบคุณธรรมชาติที่ให้ผืนดิน ท้องฟ้า และแผ่นน้ำให้มนุษย์เราดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มต้นทำงานด้วยความตั้งใจอันดีที่จะทำให้ชีวิตดีงามและก้าวหน้าต่อไปอย่างรู้คุณธรรมชาติและครอบครัว