'รมว.ทรัพย์ฯ' KICK OFF 'แม่แจ่มโมเดลพลัส'

'รมว.ทรัพย์ฯ' KICK OFF 'แม่แจ่มโมเดลพลัส'

"รมว.ทรัพย์ฯ" KICK OFF "แม่แจ่มโมเดลพลัส" เปิดพื้นที่เรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ "ไผ่และกาแฟครบวงจร" พร้อมขยายผลให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัส จัดงาน KICK OFF จากแผนสู่การขับเคลื่อน “แม่แจ่มโมเดลพลัส” เพื่อขับเคลื่อน แม่แจ่มโมเดลพลัสสู่การปฏิบัติการร่วมกันของทุกฝ่าย และเปิดพื้นที่เรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ “ไผ่และกาแฟครบวงจร” ในพื้นที่ตำบลบ้านทับ ขยายผลไปในพื้นที่ 7 ตำบลให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้ไผ่ตำบลบ้านทับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการเกิดวิกฤติปัญหาไฟป่า หมอกควันที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ความรุนแรงของปัญหานำมาสู่เวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของหลายภาคส่วน ซึ่งปัญหาไฟป่า หมอกควันนั้น ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเหตุและปัจจัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการจัดการป่า ลักษณะการใช้ที่ดิน รูปแบบของระบบการผลิตที่สัมพันธ์กับปากท้องของประชาชนในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน คงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะช่วงวิกฤติเท่านั้น แต่ควรเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กันไป

ซึ่งจากภารกิจหลักของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 1 ใน 11 ด้าน คือ “การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้าง สมดุลระหว่างการอนุรักษ์ กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งเน้นการดำเนินการไว้สองระยะ ได้แก่ ระยะเฉพาะหน้า คือ การเร่งปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พร้อมส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่เอกชน เพื่อลดแรงกดดันในการตัดไม้จากป่าธรรมชาติ และระยะที่สอง คือพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดินและแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยยึดแนวพระราชดำริที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ภายใต้ความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกด้วย

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากแนวทางการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลภายใต้สถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า จนนำมาสู่การหยุดยั้งบุกรุกพื้นที่ป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาพร้อมกับดำเนินการจัดระเบียบที่ดิน – ป่าไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ปรับระบบการผลิตของเกษตรกรที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในที่ดินทำกิน ที่สำคัญลดการปลูกข้าวโพด สร้างป่า สร้างรายได้ ในปี พ.ศ. 2560 จนก่อเกิดคำว่า “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนการทำงานอยู่ 6 เรื่องหลักๆ คือ 1) สิทธิ สิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ที่ดินทำกิน โดยการดำเนินการขอใช้พื้นที่ตามมาตรา 19 และสิทธิ ตามกฎหมายและนโยบายกรมป่าไม้ และ กรรมการปฏิรูป กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

2) การผลิตสินค้า การตลาด การลงทุน 3) อาชีพ เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการพักชำระหนี้ 4) การจัดการทรัพยากร 5) การพัฒนากลไก กลุ่ม องค์กรเครือข่าย และ 6) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์ “แม่แจ่มโมเดล” ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน ทำให้อำเภอแม่แจ่มสามารถเปลี่ยนจากพื้นที่ลำดับต้น ๆ เกิดค่าจุดความร้อนมากที่สุดเกือบทุกปี มาเป็นพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนน้อยที่สุดในช่วง 60 วันอันตรายของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2559 ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างสำคัญของกระบวนการแก้ไขปัญหาที่สามารถจัดกลไกความร่วมมือในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งได้ยกระดับเป็น “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ที่ยกระดับจากการแก้ไขปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้าซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน ไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่จะตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

\'รมว.ทรัพย์ฯ\' KICK OFF \'แม่แจ่มโมเดลพลัส\'

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัส โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย ได้ดำเนินงานในพื้นที่แม่แจ่มมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การจัดทำแผนงานและ Road Map การขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส และเพื่อให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง สู่แนวทางสร้างป่า สร้างรายได้ทุกภาคส่วน จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “KICK OFF จากแผนสู่การขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส” ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ศูนย์เรียนรู้ไผ่ตำบลบ้านทับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำเสนอแผนการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส ให้หน่วยงานและองค์กรภาคีรับทราบ เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงานไปสู่รูปธรรมการปฏิบัติการในพื้นที่ รวมทั้งร่วม KICK OFF แผนงานสู่รูปธรรมการสร้างพื้นที่เรียนรู้ “ไผ่และกาแฟครบวงจร” เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่วมปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานและการประสานความร่วมมือขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม “KICK OFF จากแผนสู่การขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส” ในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมคณะทำงานที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อติดตามและรายงานความก้าวหน้า พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจาก พล.อ.สุรศักดิ์ มาเป็นประธานเปิดกิจกรรมพร้อมรับทราบนโยบายต่อทิศทางการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส มอบกล้าไผ่และกาแฟแก่เกษตรกรและผู้นำชุมชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงาน รวมทั้งมีการลงนามเพิ่มเติม “บันทึกเจตนารมณ์ร่วมสนับสนุนขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานร่วมลงนาม ระหว่าง ประชารัฐอำเภอแม่แจ่ม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ สถาบันการเงิน ภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่จะสนับสนุนหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สร้างป่า สร้างรายได้สร้างพื้นที่สีเขียว และดำเนินการอนุรักษ์ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ด้วยบทบาทร่วมขององค์กรภาคีที่จะเข้ามาสนับสนุนภายใต้แผนงาน เป้าหมาย ยุทธศาสตร์การจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกัน โดยในวันนี้จะมีการลงนามเพิ่มเติมของหน่วยงานที่ยังไม่ได้ลงนาม ทั้งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีเครือข่ายให้ความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีผู้แทนชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เข้าร่วมกว่า 400 คน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมืออันดีของทุกฝ่าย และพร้อมร่วมขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป