เชื่อมจุดเลือนเบื้องหลังประชาธิปไตยไทย กับศิลปะจาก Documenta

เชื่อมจุดเลือนเบื้องหลังประชาธิปไตยไทย กับศิลปะจาก Documenta

ความทรงจำส่วนบุคคลเชื่อมโยงสู่ความทรงจำสาธารณะ นาซี เยอรมัน ไทย ประชาธิปไตย การลบ การสร้าง การให้ความหมายใหม่ เป็นประชาธิปไตยในความหมายของศิลปะร่วมสมัย โดยอริญชย์ รุ่งแจ้ง

นิทรรศการ 246247596248914102516… And then there were none โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง หนึ่งในศิลปินไทย ที่มีผลงานโดดเด่นระดับสากล เป็นงานซีรี่ส์ต่อเนื่องจากผลงานชื่อ “And then there were none… Tomorrow we will become Thailand” ที่เขาทำในเอเธนส์ จากการที่ได้รับเชิญไปร่วมงานเทศกาลศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ในหัวข้อ Learning from Athens – เรียนรู้จากเอเธนส์ โดยศิลปินที่ได้รับเชิญมาจะตีความและแสดงผลงานในมุมมองและรูปแบบหลากหลายไม่จำกัด ซึ่งปีนี้มีการจัดแสดง 2 ที่ นอกจากที่เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนีแล้ว ยังมีแสดงที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซด้วย

20171213204545739

246247596248914102516… And then there were none ประกอบด้วยงานเพนท์ติ้ง ประติมากรรมจัดวาง และงานวีดิโอที่แยกไปอีกห้องหนึ่ง เมื่อเดินเข้าไปจะพบงานเพนท์คัดหน้าสุดท้ายของสมุดเยี่ยมของฮิตเลอร์ ลงวันที่ 20 เดือน 4 ปี 45 หรือ 10 วันก่อนฮิตเลอร์จะกระทำอัตวินิบาตกรรม พร้อมแบบจำลองสมุดเยี่ยมเล่มนั้น ถัดเข้าไปคือภาพวาดของพระประศาสน์พิทยายุทธ และนางประศาสน์พิทยายุทธ และประติมากรรมทองเหลืองจำลองผนังด้านหนึ่งจากฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ประเด็นประวัติศาสตร์การเมืองฉายออกมาจากวัตถุจัดแสดง แต่อริญชย์มิได้มุ่งนำเสนอเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ซึ่งเชื่อมโยง “คน” คือวิถีถ่ายทอดทางศิลปะที่เขาฝึกจนชำนาญ ก่อนการตีความ ลองเดินมุ่งเข้าไปยังห้องด้านหลังซึ่งวางเอกสารสำคัญที่อริญชย์ใช้ค้นคว้าในการสร้างผลงานชุดนี้ หนังสืองานศพ บทความในสิ่งพิมพ์ ต่างกรรมต่างวาระ แต่ล้วนเป็นเหตุการณ์อันเป็นหมุดหมายสำคัญของสังคม บางชิ้นขยายรายละเอียดบางประเด็นที่ไม่เคยรู้ ชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายต่างมีจุดแตะให้เชื่อมเข้าหากัน อ่านแล้วก็จะเห็นทั้งมุมมองของอริญชย์ ที่คัดเลือกชิ้นส่วนเหล่านี้ขึ้นมา และเกิดมุมมองใหม่ตามประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชม

20171213204559242 (1)

ประวัติศาสตร์ส่วนตัวและส่วนรวม

อริญชย์ว่างานของเขาตั้งต้นจาก “คน” ที่เขามักขุดค้นลงในประวัติศาสตร์ ด้วยความผูกพันกับเรื่องเล่าของแม่ถึงพ่อผู้จากไปเพราะถูกกลุ่มนีโอนาซีซ้อมที่เยอรมนี เมื่ออริญชย์อายุเพียง 2 ขวบ ทำให้เขาสนใจประวัติศาสตร์ช่วงนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ฮิตเลอร์ รวมถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ตามอ่านด้วยความสนุก เรื่องเล่าผ่านความทรงจำของผู้อื่นทั้งปากแม่ การคัดเลือกของพ่อผ่านรูปถ่ายและของที่ระลึกจากการทำงานในเรือเดินสมุทรซึ่งท่องไปทั่วโลก จากหนังสือในห้องสมุดเมื่อครั้งเรียน อันเป็นประสบการณ์ที่ถูกส่งต่อ รวมตัวกับประสบการณ์ตรงที่พบเจอด้วยตัวเองเมื่อเติบโตขึ้น

จากงานที่ผ่านมา เขามักค้นหารอยต่อจุดใดจุดหนึ่งที่สัมพันธ์กับคนและสถานที่ที่เขาไปทำงาน และสร้างงานจากความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันหลายมิตินั้น เมื่อได้รับเชิญมาทำงานในเทศกาล Documenta 14 ที่เยอรมนี “ตัวเอก” ที่เขาหยิบยกขึ้นมาลำดับแรกคือ “พ่อ”

“ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อก็มีอยู่แล้ว เป็นคนๆ หนึ่งที่ไปโดนซ้อมที่เยอรมนี พอไปดูพื้นที่ก็พยายามหาความสัมพันธ์ แต่เรื่องของพ่อเราเกิดที่ไหน หาไม่ได้แล้ว

20171213204543652

"ทีนี้มีอยู่วันหนึ่งเราดูสารคดีเรื่อง Inside Hitler’s Reich Chancellery - ภายในทำเนียบของฮิตเลอร์ ซึ่งพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และฮิตเลอร์ ก็มีภาพหน้าสุดท้ายของสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์ เป็นข้อสงสัยว่าผู้ชายไทยคนนี้เป็นใครมาทำอะไรที่เบอร์ลิน ถึงมาเป็นคนเยี่ยมคนสุดท้ายของฮิตเลอร์ ก็เลยถ่ายภาพ แล้วก็พยายามสะกดชื่อ ก็สะกดได้ว่าประศาสน์ ชูถิ่น ก็ไปเสิร์ชต่อ ขึ้นมาเป็นเนาว์ ชูถิ่น เป็นผู้หญิง หนังสืองานศพของเนาว์ ชูถิ่น มีชื่อหนังสือว่า 225 วันในคุกรัสเซีย” โดย พระประศาสน์พิทยายุทธ เลยได้รู้ว่าพระประศาสน์พิทยายุทธ ก็คือประศาสน์ ชูถิ่น ที่อยู่ในสมุดเยี่ยมของฮิตเลอร์ นี่ก็เป็นที่มาอีกส่วนหนึ่ง”

20171213204544646

อริญชย์ค้นคว้าต่อก็พบว่าประศาสน์ ชูถิ่น คือ 1 ใน 4 ทหารเสือ ในการปฏิวัติ 2475 ซึ่งมีมีพ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ และพันเอก พระยาทรงสุรเดช ซึ่งพระประศาสน์พิทยายุทธได้รับการพูดถึงน้อยที่สุดจนถูกลืมเลือนไป แต่ยังพอมีเรื่องราวปรากฏให้สืบค้น ในรูปแบบความทรงจำที่ถูกบอกเล่าจากมุมต่างๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกัน แต่ที่เป็นหลักฐานสำคัญก็คือหนังสือ “225 วันในคุกรัสเซีย” ซึ่งเนื้อหานั้นเขาก็นำมาเป็นบทบรรยายในวีดิโอ

เมื่อตัวเอกอีกคนคือ พระประศาสน์พิทยายุทธ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ถูกเลือกขึ้นมา เพราะเขาคือหนึ่งในทหารที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และด้านที่เป็นรูปปั้นทหารก็ถูกเลือกมาจำลอง พ้องกับข้อสังเกตที่ว่าการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองทั่วโลกนั้น มักนำโดยประชาชน ไทยอาจเป็นประเทศเดียวที่นำการปฏิวัติโดยทหาร

20171213205547394

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นตัวแสดงแทนของหลายเหตุการณ์ การสร้างอนุสาวรีย์ก็คือการแช่แข็งความทรงจำ หรือเรื่องราวนั้นๆ ตัวของมันเองแสดงถึงเหตุการณ์ 2475 แต่จากนั้นก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ แล้วมีความหมายเปลี่ยนแปลงตามเวลา ความเป็นประชาธิปไตยในตอนนั้น ก็ตอนนี้ก็ไม่เหมือนกัน

“เราโตมาเห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาตลอด ตอนเด็กก็ไม่รู้ความหมาย อาจมีพ่อแม่เล่าให้ฟัง ใส่ความหมาย พอเราโตขึ้นในระดับหนึ่ง เราก็จะมีความรู้ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ทั้งที่ถูกสอนและสะสมเอง คนมักใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ 2475 แล้วก็โยนความหมายของประชาธิปไตยที่ตัวเองเข้าใจลงไป มันก็เกิดความลักลั่น เพราะความหมายของประชาธิปไตยแตกต่างกัน

Screenshot 2017-05-19 03.12.32_preview

“ในฐานะ Visual Maker เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วจะทำยังไงให้สัญลักษณ์นี้มีความเป็นกลาง และร่วมสมัยมากขึ้น พอจำลองในพื้นที่ของศิลปะร่วมสมัยแล้ว ก็เหมือนเริ่มใหม่ เราไม่ได้มองมันเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2475 และด้วยกระบวนการของเทคโนโลยี 3D scanning ด้วย ฉะนั้นมันจึงถูกทำซ้ำได้ โดยไม่ต้องกลับไปสู่ของเดิม เหมือนกับการคืนอำนาจให้คนดู โดยไม่ต้องกลับไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยชิ้นนั้น”

บทกวีที่คู่ขนานกับความจริง

อริญชย์บอกว่าเขามักเลือกทางแสดงออกด้วยการทำให้เป็น Poetic Elements หรือทัศนธาตุทางกวี คือการนำมาเรียบเรียงนำเสนอใหม่ให้ไม่ธรรมดา มีความงามในลักษณะกวี เขาจึงเลือกใช้วัสดุทองเหลืองแทนปูนอย่างอนุสาวรีย์ต้นฉบับ

“คือเราเกิดมา ก็เห็นการใช้ทองเหลืองในหลายที่ ซึ่งมีการใส่ความหมายเข้าไป อย่างพระพุทธรูปทองเหลือง ฝรั่งเห็นก็ว่า Exotic ก็เพราะใส่ความหมายเข้าไป ใครมองก็จัดประเภทของได้ว่าเป็นอยู่ในระดับกษัตริย์ ชาติ ดูมลังเมลือง อีกทั้งกระบวนการผลิตก็เป็นงานฝีมือเรา หาได้ง่ายทำง่าย ถ้าไปผลิตที่อื่น ผมก็อาจทำอย่างอื่น แต่ที่เมืองไทยพระพุทธรูปถูกปั้นทุกวัน วันละ 1 องค์เลยนะ กระบวนการทำทองเหลืองในไทยจึงเป็นเรื่องที่เหมาะเจาะเหลือเกิน”

Screenshot 2017-05-19 03.49.21_preview

วีดิโอความยาว 40 นาที ขยายความเข้าใจผลงานให้ชัดยิ่งขึ้น เนื้อหาในวีดิโอถูกแบ่งให้ดำเนินคู่เคียงกันระหว่างของสองสิ่ง คำบรรยายกับภาพ คำบรรยายที่เป็นความทรงจำส่วนตัวและความทรงจำระดับโลก ภาพที่มีความเป็นบทกวีกับความจริงดิบๆ การสร้างใหม่และการลบล้าง

“การผลิตทองเหลืองก็มีความเป็นทัศนธาตุทางกวี บริบทมันคือการผลิตจริงเลย คือภาพที่ถูกเล่าแบบสมจริง และภาพที่ถูกเล่าในเชิงกวี อย่างการเต้นในลานจอดรถ ซึ่งเป็นความสมจริง ทำไมต้องไปเต้นที่ลานจอดรถ เพราะที่นั่นเคยเป็นฮิตเลอร์บังเกอร์มาก่อน แล้วห้องที่อยู่ในโรงแรมนั้น ตึกนั้นเคยเป็นทำเนียบของฮิตเลอร์ แล้วพอแพ้สงคราม เขาพยายามลบประวัติศาสตร์ พยายามลบภาพนาซีออกไป แล้วทำให้เป็นพื้นที่ธรรมดาที่สุด เพื่อไม่ให้คนมาใช้สถานที่ที่เคยเกี่ยวกับนาซีที่รวมตัวกันของนีโอนาซี แต่ภายหลังก็มีการทำป้ายเล็กๆ มาติดไว้”

Screenshot 2017-05-19 04.07.14_preview

วีดิโอหนึ่งชิ้นงานจึงมีการทับซ้อนกันของความหมายอยู่หลายชั้น

การเดินทางของการทำงานศิลปะ

โดยส่วนตัวแล้วงานชิ้นนี้ทำให้เราได้รู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หลายอย่างที่ไม่เคยรู้ ได้เชื่อมต่อจุดของการเดินทางของเรื่องราวที่มีโยงใยซับซ้อน แม้มีหลักฐานแต่ถูกละเลยหลงเลือนไม่ว่าด้วยเหตุผลใด การมาดูงานที่ค้นคว้าและเผยเอกสารระหว่างการวิจัย จึงเป็นทั้งสุนทรียะและอาหารสมอง

ส่วนของศิลปินเล่า? เมื่อจบงานแล้วงานนั้นได้ตอบโจทย์ใดหรือเปล่า อริญชย์คิดว่าวิธีของเขานั้นเป็นอีกทางมากกว่า

“การทำงานของผมไม่ได้เป็นเรื่องของการหาคำตอบ ตอนที่เรียนจบใหม่ๆ พยายามอธิบายว่าเป็นเหมือนการเดินทาง สมมติต้องข้ามแม่น้ำ หาทางข้ามแม่น้ำให้ได้ ก็หาไม้มาต่อเป็นแพ พอข้ามเสร็จแล้ว เราก็ต้องดูว่าเราจะแบกมันไปด้วยหรือเปล่า ถ้าแบกไปก็หนัก ต้องคิดต่อ แต่ตอนนั้นเราก็รู้แล้วว่าจะต่อแพได้ยังไง

“อย่างก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำเรื่องประศาสน์ ชูถิ่น เราก็ไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ พอมีโอกาสได้ทำ Documenta ทุกอย่างก็ทำให้เราทำงานชิ้นนี้ขึ้นมา พอทำงานจบปุ๊บ อะไรมันจะเกิดก็เป็นเรื่องของการเดินทาง”

ผลสะท้อนจากผู้ชมก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นอย่างไร ก็ขึ้นกับบริบทของพื้นที่ที่จัดแสดง

“ตอนแสดงที่เยอรมนี คนดูก็จะมีรีแอคชั่นแบบหนึ่ง อย่างในวีดิโอ พอพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็จะพูดถึงการที่มีคนยิวถูกฆ่าตายไป 6 ล้านคน คนเยอรมันฆ่าคนยิวอย่างไร แต่น้อยมากที่จะมีคนพูดอย่างประศาสน์ ชูถิ่น ที่บอกว่าเห็นซากศพคนเยอรมันนอนเกลื่อน ซึ่งมีผลกระทบกับเขา ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็จะมีอีกมุมหนึ่ง คือมีการแนะนำให้ไปดูอนุสาวรีย์อีกที่ในเบอร์ลิน ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ แต่มีความคล้ายกันอยู่ ฉะนั้น จึงมีเนื้อหาที่ออกมาจากงาน สะท้อนจากคนดูต่างกัน

“เมื่อมาแสดงที่นี่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมองได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ฉะนั้น ทำงานชิ้นนึงมันตอบอะไรไหม ก็ขึ้นอยู่ว่ามันดำเนินต่อไปอย่างไร”

- - - -

246247596248914102516… And then there were none จัดแสดงที่แกเลอรี่ เวอร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2560 - วันที่ 21 มกราคม 2561