โบรก 'อัดโปร' ค่าคอมต่ำสุด 0.01% ดึงลูกค้า

โบรก 'อัดโปร' ค่าคอมต่ำสุด 0.01% ดึงลูกค้า

โบรกอัดโปรค่าคอมต่ำสุด 0.01% หวังดึงลูกค้าเทรดหุ้นช่วงตลาดซึม เมย์แบงก์มองเป็นเรื่องปกติแต่ตอนนี้ไม่ใช่จังหวะที่ดี

โบรกเกอร์ออนไลน์อัดค่าคอมต่ำ 0.01%หวังดึงมนุษย์เงินเดือนเทรดหุ้นในช่วงภาวะตลาดซบเซาด้านบล.เมย์แบงก์แจงเป็นเรื่องปกติแต่เชื่อช่วงนี้เป็นจังหวะที่ไม่ดีเพราะดัชนีทรงตัว และเชื่อค่าคอมมิชชั่น 0% คงไม่มีใครทำ ด้านบล.กสิกรไทยเน้นบริการข้อมูลมองกลุ่มต้องการค่าคอมมิชชั่นต่ำไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลักของตลาด

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากนี้ไป ดัชนีน่าจะแกว่งตัวและยังไปได้ไม่ไกล เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ขณะที่ปัจจัยที่จะมีผลต่อไปก็จะเป็นปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ทั้งกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 ที่เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย โดยรวมน่าจะปรับลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายต่อเนื่อง

ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์จะต้องงัดกลยุทธ์ในการดึงลูกค้าที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการเสนอบริการในรูปแบบต่างๆที่จะให้ผลตอบแทนชนิดที่จูงใจมากที่สุด

จากการสำรวจโปรโมชั่นของโบรกเกอร์ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ จะมีการเสนอบริการในแต่ละรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ประกอบด้วย

บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ ได้ออกโปรโมชั่นให้คิดค่าธรรมเนียม 0.01 % ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรมเป็นเวลา 1 เดือนให้กับกลุ่มนักลงทุนอายุ 20-40 ปี ที่เปิดบัญชีระหว่าง 12 ก.ค.-31 ส.ค. นอกจากนี้ ยังมีการใช้ดารานักแสดงโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้าตลาดทุนมากขึ้น

ขณะที่บล.หยวนต้า เน้นใช้กลยุทธ์แบบปากต่อปาก โดยให้ลูกค้าของบริษัทชักชวน เพื่อนมาเปิดบัญชีการซื้อขายจะได้รับบัตรของขวัญ มูลค่า 500 บาท ส่วนบล.ไทยพาณิชย์และบล.บัวหลวง เน้นใช้กลยุทธ์การสะสมคะแนนที่ได้รับจากการส่งคำสั่งซื้อขาย เพื่อนำมาแลกกับของสมนาคุณ

ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)จะมีความแตกต่างที่มากกว่า นอกจากใช้กลยุทธ์การสะสมแต้มการซื้อขายแล้ว ยังดึงตัวอดีตผู้จัดการกองทุน มาให้คำแนะนำผ่านบทวิจัยของบริษัท เพื่อเสริมจุดเด่นของการให้บริการด้านข้อมูลกับลูกค้าให้ดีขึ้น

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การทำโปรโมชั่นของบริษัทหลักทรัพย์ในช่วงนี้เริ่มกลับมาอีกครั้งอย่างการแข่งขันค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันธุรกิจ ซึ่งบล.มองจังหวะนี้อาจไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้นักลงทุนซื้อขายหุ้น

“การทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดเทรด มันเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว และภาวะปัจจุบันก็ยอมรับว่ามีการโปรโมชั่นต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบล.เมย์แบงก์ เรามองว่าจังหวะนี้อาจไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมเพราะภาวะตลาดหุ้นอาจไม่เอื้ออำนวย”

ทั้งนี้ภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบันมองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลังจากนี้จะจำกัด ซึ่งการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าลงทุนอาจเกิดความเสียหาย ทำให้บล.เลือกที่จะชะลอการอัดโปรโมชั่นในช่วงดังกล่าว และในขณะเดียวกัน บล.จะเน้นการให้ข้อมูลกับนักลงทุนให้มากที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในทางกลับกันอาจกระทบกับส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทให้ปรับตัวลดลงไปบ้าง โดยปัจจุบันบรัทมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 7.5 % ซึ่งบริษัทคาดหวังจะให้อยู่ระดับดังกล่าวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์นั้น มองว่าปัจจุบันอยู่ในภาวะทรงตัว และโอกาสที่ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์จะปรับลดลงไปต่ำกกว่าต้นทุน หรือไม่คิดค่าบริการซื้อขายหลักทรัพย์เหมือนในต่างประเทศนั้นมองว่าโอกาสจะเกิดขึ้นลำบาก เพราะกฏเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรืก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ยังกำหนดไว้ว่า ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องสะท้อนกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงและต้นทุนของการดำเนินการ

ทิศทางค่าคอมมิชชั่นหลังจากนี้ มองว่าจะอยู่ในระดับทรงตัว หรือปรับตัวได้ไม่มากนัก ซึ่งการให้บริการและการแข่งขันน่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาโปรแกรมหรือการอำนวยความสะดวกกับผู้ลงทุนทดแทน

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ในปัจจุบัน มองว่าอัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์จะไม่ใช่ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญที่สุดอีกแล้ว ซึ่งนักลงทุนในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น และต้องการด้านข้อมูลมากกว่า

“การแข่งค่าค่าคอมมิชชั่นนั้นยังมีอยู่ แต่ปัจจุบันนักลงทุนที่ต้องการค่าคอมราคาถูกไม่ใช่กลุ่มหลักของตลาดอีกแล้ว จะมีเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นด้วยตนเอง และต้องการเพียงการส่งคำสั่งซื้อขายเท่านั้น”

ทิศทางของการแข่งขันหลังจากนี้จะเป็นเรื่องข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งบล.กสิกรไทยยังเน้นการให้บริการด้านข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่แม่นยำมากกว่า ซึ่งการทำการตลาดในภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ดีนั้นการส่งเสริมให้นักลงทุนทำการซื้อขายมากๆอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์