Future with Robotics หุ่นยนต์เปลี่ยนอนาคต

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และช่อง Now 26 จัดเสวนาโต๊ะกลม roundtable # ซีรีส์ 3 เรื่อง Future with Robotics โดยตัวแทนจากภาครัฐ เอกชนและภาคการศึกษาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยมาถูกทางแล้วกับการวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการผลิตและใช้หุ่นยนต์
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และช่อง Now 26 จัดเสวนาโต๊ะกลม roundtable # ซีรีส์ 3 เรื่อง Future with Robotics โดยตัวแทนจากภาครัฐ เอกชนและภาคการศึกษาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยมาถูกทางแล้วกับการวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการผลิตและใช้หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยมีเทคโนโลยีของตัวเอง
รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทภายในปี 2564 โรงงานอย่างน้อย 50% ต้องใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิต รวมทั้งมีการผลิตหุ่นยนต์อย่างน้อย 30% ของมูลค่าการนำเข้าที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 8 หมื่นล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอส่งเสริมกิจการประเภทหุ่นยนต์มาตั้งแต่ปี 2552 ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต อุปกรณ์เครื่องมือ ผู้ออกแบบและควบคุมระบบสมองกล (System Integration) แต่ละประเภทจะได้รับการส่งเสริมแตกต่างกัน ล่าสุดคือ มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพสายการผลิต เปิดกว้างทั้งผู้ที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีและสิ้นสุดโครงการแล้ว แต่ต้องการลงทุนพัฒนาระบบการผลิตอัตโนมัติ รวมทั้งผู้ที่ยังไม่เคยยื่นเรื่องขอบีโอไอ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% ของเงินลงทุน อีกทั้งเมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอก็ออกประกาศเพิ่มเติมประเภทกิจการที่ให้การสนับสนุน โดยรวมกิจการด้าน SI เพิ่มเติมไว้ด้วย เมื่อเปรียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน ผู้แทนบีโอไอ กล่าวว่า ไทยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยสูงสุดขณะนี้คือ 8 ปีไม่จำกัดวงเงินสำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ เพียงแต่บ้านเรามีมาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือเดียว ขณะที่สิงคโปร์มีมากกว่าทั้งมาตรการการเงิน อุปกรณ์เครื่องมือและกฎระเบียบต่างๆ ที่เพียงพอผลักดันให้เกิดการลงทุนได้แท้จริง
ขณะที่ผู้ประกอบการไทยบางส่วนมองว่า ตลาดหุ่นยนต์เป็นเรื่องไกลตัวและราคาแพง แต่ นายกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรบอทซิสเต็ม จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ 8 ปีที่ให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจยังมีอีกมากโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศอย่างเยอรมนี รัสเซียและจีน ซึ่งมีปัญหาค่าจ้างแรงงานในบางประเภทสูงกว่าไทย จึงเริ่มเข้าไปทำตลาดในจีน ทั้งยังพบว่า ไทยมีปริมาณหุ่นยนต์ที่ใช้งานติดอันดับ 7-8 ของโลก แต่การนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมยังมีอุปสรรคอยู่ 2 ประการคือ ขาดกฎหมายรองรับการใช้หุ่นยนต์ สวนกับทิศทางที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้มีการลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้น ส่วนที่สองคือ ขาดทรัพยากรบุคคลที่จะมาพัฒนาซอฟต์แวร์หุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกทั้งในอนาคต ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์จะมีความสำคัญมากกว่าตัวหุ่นยนต์ เนื่องจากสามารถนำไปใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม
ด้าน นายเปรมวิทย์ จรีเวฬุโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ รวมถึงหุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ในรถพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและหุ่นยนต์ช่วยงานแผนกผู้ป่วยนอก โดยเน้นการทำวิจัยสร้างเทคโนโลยีใหม่ ต่อยอดเทคโนโลยีเดิมและรับการถ่ายทอดจากหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและมหาวิทยาลัย บริษัทไม่ทำวิจัยระดับต้นน้ำหรือเบสิครีเสิร์ช แต่จะมุ่งการวิจัยประยุกต์ใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นระดับกลางน้ำและขยับสู่ระดับปลายน้ำ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้โดยตรงและรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็ว
นายประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหารบริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมอย่างจริงจังผ่านคลัสเตอร์หุ่นยนต์ หวังว่าจะเห็นข่าวดีในอีกไม่ช้า ทั้งนี้ บริษัทนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาจำหน่าย 1,600 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในไลน์การผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ในส่วนของดีมานด์ไซด์ก็เป็นผู้ผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ตอนนี้ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยนำหุ่นยนต์ช่วยการผลิตเข้ามาใช้ในหลายจุด เช่น หุ่นยนต์ยกเหล็กที่จะนำไปเชื่อม และระบบอัตโนมัติอื่นอีก จึงจะยื่นขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอ
มุมของผู้ต้องการใช้หุ่นยนต์อย่างบริษัท ซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า บริษัทต้องการหุ่นยนต์และระบบผลิตอัตโนมัติที่ใช้ในโรงงาน ได้ติดต่อผู้ผลิตและจำหน่ายทั่วโลกแต่ก็ไม่พบระบบสำเร็จรูปอย่างที่ต้องการ จึงเป็นเหตุให้จัดตั้งทีมวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ ทั้งยังเปิดหลักสูตรผลิตวิศวกรหุ่นยนต์ในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เพื่อสร้างคนมารองรับการใช้งานหุ่นยนต์ในสายการผลิตของโรงงาน
‘เซอร์วิสโรโบท’เทรนด์มาแรง
หน่วยงานวิชาการร่วมฉายภาพอนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ย้ำว่าเยาวชนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดๆ การันตีด้วยรางวัลระดับโลกมากมาย เพียงแต่ภาครัฐและเอกชนต้องมีโปรเจคหรือโจทย์ที่ดึงศักยภาพของแชมป์เหล่านี้ออกมาใช้ประโยชน์ แล้วผลักดันให้ก้าวกระโดดสู่สตาร์ทอัพต่อไป
รศ.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ภาพรวมของหุ่นยนต์แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ หุ่นยนต์ด้านการผลิตที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต เช่น หุ่นยนต์ในสายการผลิตรถยนต์ โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งโดรนเพื่อการเกษตร คาดว่าจะมีความต้องการ 3-4 หมื่นยูนิตภายใน 1-2 ปีนี้ ส่วนที่สองคือหุ่นยนต์บริการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมไปถึงหุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์และหุ่นยนต์เพื่อการศึกษา เป็นเทรนด์ที่กำลังมาและน่าจับตาอย่างยิ่ง
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไทยเราก็มียุทธศาสตร์หุ่นยนต์ ซึ่งระบุครอบคลุมรอบด้านทั้งการพัฒนาคนและเทคโนโลยี การถ่ายทอดองค์ความรู้ ผู้ประกอบการตลอดจนนโยบายและกฎหมาย แต่น่าเสียดายที่ขาดการส่งเสริมต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือ เรายังไม่มีคนที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ส่วนการจะปรับสถานะจากประเทศผู้ใช้ไปเป็นประเทศผู้ผลิตหรือฐานการผลิตหุ่นยนต์ในอีก 5 ปีตามเป้าหมายของรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบความต้องการ ปัจจุบันไทยสามารถออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ได้แล้ว แต่ถ้าจะก้าวสู่เวทีโลกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนก็จะมีโอกาสเห็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยสู้กับต่างชาติได้
ด้านนายสุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่าการศึกษาวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์-ระบบผลิตอัตโนมัติ 12% จะสร้างผลผลิตเพิ่ม 40% ขึ้นอยู่กับการนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตัวเอง อีกทั้งการทำหุ่นยนต์ไม่ต้องเริ่มเป็นตัวๆ ควรจะเริ่มที่ระบบอัตโนมัติซึ่งมีต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่า จากนั้นมุ่งพัฒนาระบบอัจฉริยะหรือความฉลาดให้กับหุ่นยนต์ จะคุ้มค่าและมีโอกาสความสำเร็จมากกว่าพัฒนาหุ่นยนต์เป็นตัวๆ
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
"Weekly Oil" report 18 January 2021
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021