(สกู๊ป) “อี-สปอร์ต”ไทยกับความภูมิใจในระดับนานาชาติ

(สกู๊ป) “อี-สปอร์ต”ไทยกับความภูมิใจในระดับนานาชาติ

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แฟนกีฬาชาวไทยคงได้มีความสุขกันถ้วนหน้าเนื่องจากหลายชนิดกีฬาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม

     ทั้งทัพ "ช้างศึก” ฟุตบอลทีมชาติไทย ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 45 หลังเอาชนะจุดโทษ เบลารุส 5-4 เช่นเดียวกับทัพ "ลูกยางสาว” วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่พลิกล็อกเอาชนะ บราซิล แชมป์เก่าในศึกวอลเลย์บอล เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ 2017 ได้อย่างขาดลอย 3-0 เกม ด้วยสกอร์ 25-22, 25-21 และ 29-27

     อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเภทกีฬาที่ผงาดคว้าแชมป์ในระดับโลกได้ นั่นก็คือ “อี-สปอร์ต” ในเกม RoV ที่ทีม “Monori Bacon” ตัวแทนของประเทศไทย หยิบโทรฟีของรายการ Throne of Glory ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดของเกมดังกล่าวในขณะนี้ ด้วยการเอาชนะทีมเต็งแชมป์จากไต้หวันได้อย่างสุดมันส์ พร้อมรับเงินรางวัลกว่า 700 ล้านดอง (ราว 1,044,776 บาท) อีกด้วย

     สำหรับกระแสของกีฬา “อี-สปอร์ต” ในประเทศไทยนั้น ได้รับความนิยมมาได้สักระยะ เนื่องจากเกม ถือเป็นกิจกรรมยามว่างยอดนิยมสำหรับคนไทย ซึ่งจากการที่เกมได้พัฒนากลายเป็นการแข่งขันแบบจริงจังในระดับสากล โดยสามารถนำมายึดเป็นอาชีพ และสร้างรายได้ให้ตัวนักกีฬาได้นั้น ก็ส่งผลให้กีฬาประเภทนี้เริ่มรู้จักกันในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงกลุ่มนักเล่นเกมเท่านั้น แต่หมายถึงแฟนกีฬาชนิดอื่นๆด้วย

รู้จัก “RoV”
     สำหรับ RoV (Realm of Valor) เป็นเกมแนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) บนสมาร์ทโฟน ที่เล่นได้ทั้งในระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์ ซึ่งได้รับความนิยมในโซนเอเชีย ทั้ง ไต้หวัน, เวียดนาม, ไทย, เกาหลี และญี่ปุ่น รวมถึงโซนยุโรปบางประเทศ โดยมีวิธีการเล่นแบบเดียวกับเกม LOL (League of Legends) หรือเกม HoN ที่เคยได้รับความนิยมจากแฟนเกมชาวไทยทั้งชายและหญิงมาในช่วงก่อนหน้านี้
     กติกาของเกมดังกล่าว คือ การที่แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝั่ง ฝั่งละ 5 คน และแต่ละฝั่งจะเลือก “ฮีโร่” หรือตัวละคร มาทำลายป้อมปราการของอีกฝั่ง ซึ่งในการเล่น คนในทีมจะต้องทำงานร่วมกัน ทั้งการโจมตี และป้องกันฝ่ายตรงข้าม รวมถึงมีไอเทมต่างๆให้เลือกซื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของตัวละคร ซึ่งแต่ละเกมจะใช้เวลาในการเล่นเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น
     โดยเกม RoV ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย หลังการเปิดตัวได้ไม่นาน และปัจจุบันก็ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุที่ว่าเป็นเกมที่สามารถเล่นได้ง่ายเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ จึงครองใจวัยรุ่น จนไปถึงระดับคนทำงานได้อย่างรวดเร็ว
     นอกจากนั้น RoV ยังเป็นหนึ่งในเกมที่อยู่ในรายการของ “อี-สปอร์ต” ที่จัดให้มีการแข่งขันอย่างจริงจัง ทั้งในระดับประเทศ อย่างรายการ “Road to Glory” ซึ่งจัดการแข่งขันโดยบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) เจ้าของลิขสิทธิ์เกมดังกล่าวในประเทศไทย โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท พร้อมได้สิทธิ์เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งขันรายการ Throne of Glory ซึ่งเป็นรายการระดับนานาชาติที่ประเทศเวียดนาม พร้อมชิงเงินรางวัลรวมกว่า 3 ล้านบาทต่อไป จึงทำให้เป้าหมายของผู้เล่น RoV ส่วนหนึ่งไม่ได้หยุดอยู่ที่การเล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่เป็นการเล่นเพื่อพาตัวเองเข้าสู่การแข่งขันในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง

ทีมไทยกับแชมป์ในระดับนานาชาติ
     ด้วยความนิยมของเกม RoV ซึ่งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในยอดดาวน์โหลดของแอพลิเคชันในทุกระบบ จึงส่งผลให้มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยในรายการ Road to Glory ขึ้น โดยมีทีมที่เข้าสมัครกว่า 20,000 ทีมด้วยกัน จนกระทั่งได้ 2 ทีมที่เข้าสู่ในรอบชิงชนะเลิศ คือ Monori Bacon กับ Black Forest ซึ่งผลปรากฏว่าเป็นทีม Monori Bacon ที่คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ และคว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ Throne of Glory ระหว่างวันที่ 16-18 ก.ค. ที่ประเทศเวียดนาม ทั้ง 2 ทีม
     ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ถือว่าเป็นสังเวียนชิงชัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกม RoV ประกอบด้วย 8 ทีม คือ Monori Bacon และ ทีม Black Forest, ทีมจากเวียดนาม 3 ทีม และทีมจากไต้หวัน อีก 3 ทีม โดยจะแบ่งเป็น 2 สายคือ เอ กับ บี และจะเอา 2 ทีมที่ดีที่สุดของแต่ละสายเข้ารอบรองชนะเลิศ และนำผู้ชนะในรอบตัดเชือกเข้าชิงชนะเลิศต่อไป
     สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ทีมไทยถือว่าเสียเปรียบ เนื่องจาก ไต้หวัน และ เวียดนาม คือ 2 ประเทศแรกที่ได้ลองเล่นเกมดังกล่าว ซึ่งมีพัฒนาการด้านตัวฮีโร่ และมีให้เลือกใช้หลากหลายกว่าไทย อย่างไรก็ตามทีม Monori Bacon ก็ได้แสดงศักยภาพด้วยการคว้าแชมป์ของสายบี และผ่านเข้ารอบตัดเชือกได้สำเร็จ ขณะที่ Black Forest ไม่ติดอันดับ 1 ใน 2 ของสายเอ
     และผลการแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ ปรากฏว่าตัวแทนจากไทย สามารถเอาชนะทีม Monster Shield จาก ไต้หวัน ไปด้วยสกอร์ 2:1 ไปรอชิงชนะเลิศกับทีม AHQ WHITE อีกหนึ่งตัวแทนจาก ไต้หวันที่ทีมจากไทยเคยเอาชนะมาได้แล้วในรอบคัดเลือก
     ด้วยสปิริต รวมถึงกำลังใจจากแฟนๆที่ดูสดผ่านไลฟ์สตรีมกว่า 200,000 คน ในนัดชิงดำ ก็ส่งผลให้พวกเขาย้ำแค้นทีมจาก ไต้หวัน อีกครั้ง คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จด้วยสกอร์ 3:2 เกม พร้อมรับเงินรางวัลกว่า 700 ล้านดอง (ราว 1,044,776 บาท) อีกด้วย
     โดยหลังจากนี้ทีม Moniri Bacon ก็จะมีการแข่งขันในรายการโปรลีก ซึ่งจะนำเอาทีมอันดับ 1-8 จากรายการ Road to Glory มาแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนในเดือน ส.ค.

อนาคตของกีฬา“อี-สปอร์ต”ในไทย
     จากการคว้าแชมป์ครั้งนี้ทำให้ Monori Bacon รวมถึงกีฬา อี-สปอร์ต เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล รวมถึงเป็นชนิดกีฬาที่ได้รับการบรรจุ ในการแข่งขันกีฬาชิงเหรียญอย่างเป็นทางการในเอเชียนเกมส์ 2022 อย่างไรก็ตามในประเทศไทย กีฬา อี-สปอร์ต ยังไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นชนิดกีฬาอย่างเป็นทางการจากการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยหลายปัจจัย เช่น กระแสสังคมที่ต่อต้านเหตุกลัวเยาวชนติดการเล่นเกมมากเกินไป รวมถึงกฎหมาย พ.ร.บ. กีฬา ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงกีฬาชนิดนี้ เป็นต้น
     โดยนายสันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ต (TESA) เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หากพิจารณาคุณลักษณะของ อี-สปอร์ต ตอนนี้ถือว่ามีองค์ประกอบของการเป็นการแข่งขันกีฬาที่ครบแล้วตั้งแต่ มีผู้เข้าแข่งขัน ผู้ดำเนินการ มีมาตรฐานในการดำเนินงาน คัดเลือกเกมที่มีความสมดุล ซึ่งถึงแม้ว่านักกีฬา อี-สปอร์ต ทุกคนที่ไปทำการแข่งขันต่างประเทศตอนนี้จะไปในรูปแบบเอกชน แต่โลกรับรู้ว่านี่คือทีมไทย การได้ไปในนามทีมชาติที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการถือเป็นความภาคภูมิใจของนักกีฬา”
     ขณะที่นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวถึงอนาคตของกีฬาชนิดนี้ว่า "ต้องมีการมองกันในหลายแง่มุม โดยอย่ามองว่ากีฬา อี-สปอร์ต เป็นเรื่องงานเล่นเกมเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองว่าสามารถจะเป็นกีฬาที่พัฒนาทักษะได้เช่นเดียวกัน และจากการเก็บข้อมูลพบกว่า นักกีฬา อี-สปอร์ต อาชีพ (Professional eSport player)เป็นกลุ่มที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสูง ไม่ใช่เด็กติดเกมอย่างที่หลายคนเข้าใจ อย่างไรก็ตามต้องขอระยะเวลาอีกสักระยะในการเก็บข้อมูล ก่อนจะตัดสินว่าจะบรรจุกีฬาชนิดนี้อย่างเป็นทางการหรือไม่"
     

     ทั้งหมดที่กล่าวมาคือความสำเร็จของนักกีฬาไทย ในอีกหนึ่งประเภทกีฬาที่กำลังได้รรับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอย่างจริงจังแล้วว่า ถึงเวลาหรือยังที่กีฬาชนิดนี้ จะได้รับความสนใจ และสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นทางการเหมือนกับกีฬาชนิดอื่นๆ

เครดิตภาพจากเฟสบุ๊ก : Garena RoV Thailand