ใบกระท่อม ออกฤทธิ์คล้ายฝิ่น

ใบกระท่อม ออกฤทธิ์คล้ายฝิ่น

ผศ.ไชยยง รุจจนเวท ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสมุนไพร นำเสนอความรู้สร้างความกระจ่างให้กับพืชสมุนไพรในชื่อ ใบกระท่อมซึ่งฤทธิ์คล้ายฝิ่นหากเคี้ยวมากๆ

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวนักวิจัยญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรของสารออกฤทธิ์ในใบกระท่อม ทำเอาหลายคน อุทานว่า อีกแล้วหรือนี่ เอาต้นไม้ไทยไปหาผลประโยชน์ บ้างก็ว่า ต่อไปคงห้ามคนไทยใช้ใบกระท่อม บ้างก็ตำหนิรัฐบาลว่า มัวแต่ห้ามคนไทยปลูก แต่ปล่อยให้ต่างชาติมาขโมย ฟังๆ ดูก็น่าเดือดดาลอยู่หรอก แต่เรื่องจริงเป็นอย่างไร

กระท่อมเป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดแถวไทย กัมพูชา มาเลเซียและใกล้เคียง ใบเดี่ยวขนาดฝ่ามือ ออกตรงข้าม ขอบใบหยักเป็นคลื่น นอกจากเส้นใบที่เป็นแนวขนานชัดเจนแล้ว ก็ไม่มีลักษณะอื่นใดโดดเด่นพอให้คนไม่รู้จักมาก่อนชี้ได้ว่านี่ ต้นกระท่อม ใบกระท่อมมีรสขม แต่เมื่อนำมาเคี้ยวหรือต้มน้ำกิน ทำให้กระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวแรงทำงาน บางคนเติมน้ำหวานหรือน้ำอัดลมสีดำ พอให้กลบรสขม การเคี้ยวหรือกินใบกระท่อมในลักษณะนี้ ชาวบ้านที่คุ้นเคยกับต้นกระท่อม ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกอะไร ก็ไม่ต่างจากกินหมาก กินเมี่ยง

สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในใบกระท่อม ในขนาดน้อย คือขนาดที่ชาวบ้านเคี้ยวกิน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ตื่นตัว หูตาสว่าง ไม่ง่วงซึม แต่ในขนาดสูง เช่น เคี้ยวหรือกินในปริมาณมาก มีฤทธิ์คล้ายฝิ่น กล่าวคือ ทำให้ทนต่อความปวดเมื่อยได้ ทนงานหนัก สู้แดด สำหรับชาวบ้านผู้มีประสบการณ์แล้ว ไม่อาจเห็นว่าไม่ดีอย่างไร

กระท่อมมีฤทธิ์เสพติดจริงหรือไม่ ตอบแบบถนอมน้ำใจคนรักกระท่อมก็ต้องว่า เป็นเช่นเดียวกับหมาก เมี่ยง นั่นแหละ ร่างกายคนเรานั้น เมื่อกินอะไร หรือทำอะไรแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ สมองจะหลั่งสารเคมีชนิดหนึ่ง ทำให้รู้สึกดี จึงต้องทำสิ่งนั้นอีก การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารออกฤทธิ์ในใบกระท่อม มีมานานหลายสิบปี แต่การนำไปใช้ประโยชน์ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เปรียบได้กับอรุณรุ่งของวันเท่านั้น การจดสิทธิบัตร ไม่ได้หมายความถึงผลประโยชน์เสมอไป

หากยังจำกันได้ หลายสิบปีก่อน นักวิจัยญี่ปุ่นเคยจดสิทธิบัตรการสกัดสารออกฤทธิ์จากต้นเปล้าน้อยของไทย เพื่อผลิตเป็นยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ครั้งนั้น คนไทยก็โวยวายว่า ญี่ปุ่นฉกฉวยเอาภูมิปัญญาของไทยไปบ้างละ ขโมยต้นไม้ของไทยบ้างละ บ้างก็หวั่นเกรงว่าจะไม่สามารถใช้เปล้าน้อยเป็นยาได้ ผ่านมาหลายสิบปี ยาจากเปล้าน้อยที่ชื่อ เคลแนค ของบริษัทซังเกียว ไม่ได้ทำเงินอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งไปกว่านั้น สิทธิบัตรดังกล่าวก็หมดอายุการคุ้มครองแล้ว จะมีผู้รักชาติคนไหน สนใจผลิตยาจากเปล้าน้อยบ้างไหมครับ

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ทั้งของไทยและสากล ล้วนไม่คุ้มครองการประดิษฐ์พืชหรือสารสกัดจากพืช ไม่มีใครอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของต้นไม้ได้ แต่การอ้างสิทธิ์กระบวนการสกัด หรือการใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับว่า สมควรได้รับการคุ้มครอง ในระยะเวลาจำกัด (20ปี) เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย ในต่างประเทศ ใบกระท่อม ผงแห้ง หรือแม้แต่สารสกัดจากใบกระท่อม อาจหาซื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางออนไลน์ การเสพใบกระท่อมแบบพื้นบ้าน ไม่น่าเป็นอันตรายนัก แต่ถ้ามีการสกัดหรือผสมกับสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่น อาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เล่าเรื่องใบกระท่อมมายืดยาว เพียงเพื่อนำเสนอข้อมูลในบางมุมมอง คนเป็นครูสอนหนังสืออย่างผมไม่บังอาจตัดสินว่า อะไร ถูก หรือผิดกฎหมายหรอกครับ คนที่มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดมีอยู่แล้ว ติดตามชมได้ทางทีวีทุกคืนวันศุกร์ ขอแนะนำ

*บทความโดย ผศ.ไชยยง รุจจนเวท ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพรและพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตีพิมพ์ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 5 พ.ย.2559