คสช.ห่วงคนไทยทำร้ายกันเอง รุกฮือรุมทำร้าย'คนโพสต์หมิ่น'
คสช.ห่วงคนไทยทำร้ายกันเอง รุกฮือรุมทำร้าย “คนโพสต์หมิ่น” ให้จนท.ดำเนินการตามกม. ระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ผู้ทำผิดถูกล้อมกรอบ
พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า หลังจาก ศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ในห้วงที่คนไทยเดินทางมาถวายความอาลัยที่พระบรมมหาราชวัง ได้มอบหมายให้กองทัพบกดูแลความสงบเรียบร้อย และ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคมช.ได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบการปฏิบัติให้เกิดความเรียบร้อย โดยเวลา 08.00 น. จะมีการประชุมที่กองบัญชาการที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรวิหาร ซึ่งมี กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) เป็นหน่วยรับผิดชอบเพื่อสรุปภาพรวม และอุปสรรคของการปฏิบัติงานในแต่ละวัน และช่วงเย็นเวลา 15.00 น.จะเป็นการประชุมระดับกองทัพภาค โดยกองทัพภาคที่ 1 เป็นหน่วยหลักในการสรุปการทำงานแต่ละวันอีกครั้งที่ กองบัญชาการกลางท้องสนามหลวง
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า สำหรับกองบัญชาการติดตามสถานการณ์ กองทัพภาคที่ 1 (บก.ศตส.ทภ.1) จะมี พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ดูแล ประสานงานกับ นายกรัฐมนตรี และรับมอบนโยบายและคำสั่งการจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตรง โดย บก.ศตส.ทภ.1 จะเป็นหน่วยหลักในการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาง มูลนิธิ อาสาสมัคร ภาคเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ คสช. มีความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่มาถวายอาลัยอย่างดีที่สุด โดยการอำนวยความสะดวกให้การเดินทาง และการเข้าถวายอาลัย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่สับสน
พ.อ.ปิยพงศ์ ยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มคนที่เข้าไปล้อมกรอบบุคคลที่โพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า เท่าที่ตรวจสอบพบว่าเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว 3กรณีที่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพังงา ซึ่ง คสช.มีความเป็นห่วงว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลและดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย โดยใช้มาตรการที่เหมาะสม รวดเร็ว แยกตัวบุคคลที่โพสต์หมิ่นออกมาเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย ในขณะนี้คงไม่มีใครอยากเห็นคนไทยใช้กำลังทำร้ายกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการนำบุคคลนั้นไปขอขมาในสถานที่ที่ล่อแหลม เสี่ยงที่จะถูกทำร้าย หากเห็นว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็ควรเลือกเวลาที่เหมาะสมในห้วงเวลาอื่น