แฟชั่นล้ำ ขยะล้น

แฟชั่นล้ำ ขยะล้น

เมื่อโลกแห่งแฟชันก้าวข้ามความพอดี สิ่งที่ตกค้างจึงกลายเป็น‘ขยะ’

สำหรับแฟชั่นนิสต้าการไม่ต้องรอฤดูกาลแห่งแฟชั่นซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเพียง 2 ครั้งต่อปี คือ Spring/Summer และ Fall/Winter เหมือนในอดีต อาจสร้างทางเลือกและสีสันใหม่ๆ ได้พอๆ กับดึงเงินในกระเป๋าออกไปโดยสมัครใจ

แต่ภายใต้เป้าหมายการตลาดแบบ ‘fast-fashion’ ซึ่งแบรนด์ชั้นนำเริ่มส่งคอลเลคชั่นใหม่ๆ เข้าร้าน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่แฟชั่นตลาดล่างก็มีสินค้าออกใหม่แบบรายวัน ปรากฏการณ์ตู้เสื้อผ้า(แทบ)ระเบิดจึงเกิดขึ้นในหลายบ้าน

คำถามก็คือ คุณจะจัดการอย่างไรเมื่อมันมากมายและไม่อิน(เทรนด์)อีกต่อไป

บริจาค / ย้ายขยะ

ภาพเสื้อผ้ากองพะเนินที่ผู้คนนำมาบริจาคไว้ที่มูลนิธิกระจกเงา ด้านหนึ่งสะท้อนความมีน้ำใจของคนไทย แต่อีกด้านเสื้อผ้าที่กองสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เผยให้เห็นความฟุ่มเฟือยของการบริโภคสิ่งที่เรียกว่า ‘fast-fashion’ 

“ในส่วนของเสื้อผ้าก็มีคนนำมาบริจาคทุกวันค่ะ มีมาเรื่อยๆ มากบ้างน้อยบ้าง” เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ฯ กล่าว ทั้งนี้เสื้อผ้าที่ได้รับบริจาคส่วนหนึ่งจะนำส่งมอบต่อให้กับผู้ขาดแคลน,ชุมชน, ผู้ประสบภัยในเมืองและต่างจังหวัด อีกส่วนจะถูกนำมาระดมทุนที่ร้านแบ่งปัน แน่นอนว่าเสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพเก่าหรือชำรุดเกินกว่าจะนำไปส่งมอบต่อหรือดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นย่อมกลายเป็น“ขยะ”

ทว่า ไม่เฉพาะที่นี่เท่านั้น ในบ้านเรายังมีกลุ่ม,องค์กรที่รับบริจาคเสื้อผ้าเก่าอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้คัดแยกเสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพใช้ได้ออกจากสภาพเกินเยียวยา ส่งผลให้ปลายทางของเสื้อผ้าบริจาค ไม่ต่างอะไรจากสถานที่ทิ้งขยะของคนในเมือง

หากนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา ขั้นกว่าของปัญหาขยะจากเสื้อผ้าเหลือใช้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ และการบริจาคอาจไม่ใช่คำตอบที่สวยงามเสมอไป เฟซบุ๊ค Sal Forest - ป่าสาละ นำเสนอบทความ"เมื่อไม่มีใครต้องการเสื้อผ้าเก่าของคุณ" โดยให้ข้อมูลว่า

"การบริจาคทำให้ผู้คนรู้สึกดีและในหลายๆ ประเทศยังมีผู้ยากไร้ที่ต้องการเสื้อผ้าบริจาค แต่สำหรับอเมริกาความต้องการเสื้อผ้ามือสองเหล่านี้ เทียบไม่ได้กับความรวดเร็วของการผลิต(เสื้อผ้ามือสอง) ดังจะเห็นได้ว่าองค์กรที่ดูแลคนไร้บ้านและผู้มีรายได้น้อยในวอชิงตันดีซี ออกประกาศว่ามีปริมาณเสื้อผ้าเกินความต้องการและไม่สามารถรับบริจาคได้อีกแล้ว ชาวอเมริกันโยนเสื้อผ้าทิ้งประมาณ 80 ปอนด์ต่อคน ปริมาณเสื้อผ้าเหลือทิ้งเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านตัน เป็น 14 ล้านตัน ในเวลาเพียง 20 ปี

การบริจาคข้ามทวีปไปยังแอฟริกาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาขยะเสื้อผ้าได้ทั้งหมด Trans-Americas องค์กรที่รับบริจาคเสื้อผ้าไปยังแอฟริการะบุว่าร้อยละ 30 ของเสื้อผ้าบริจาคเป็นเสื้อยืดและเสื้อโปโล แต่จะถูกตัดเป็นเศษผ้าสำหรับร้านยานยนต์ อีกร้อยละ 20 ของเสื้อผ้าบริจาคเป็นของขาดหรือมีตำหนิ จะถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและส่งไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพรมปูพื้น ซึ่งภายใต้ fast-fashion เสื้อผ้าที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ด้วยคุณภาพที่ต่ำเสื้อผ้าเหลือทิ้งเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมา ซึ่งสร้างมูลค่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น"

รักโลก / รกโลก

แม้คนส่วนใหญ่จะยังไม่ยี่หระกับปัญหานี้เท่าไหร่นัก แต่ความจริงที่ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณเสื้อผ้าที่่ถูกผลิตในแต่ละวัน ไม่เพียงมาพร้อมกับมลพิษที่เล็ดลอดออกสู่สภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิต ยังซ้ำเติมด้วยปริมาณขยะที่ยากจะจัดการ โจทย์นี้ก็ไม่ควรถูกซุกไว้ใต้พรม

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า "ปกติแล้วอุตสาหกรรมสิ่งทอก็เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างที่จะมีการปล่อยของเสีย หรือปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว เช่นในขั้นตอนของการฟอกย้อมที่ต้องผ่านการใช้สารเคมี ทีนี้พอมันมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ แล้วพอเราไม่ใช้เอาไปบริจาค มันก็กลายเป็นกองขยะใหญ่โต ถามว่ามันมีใครศึกษาเรื่องผลกระทบเรื่องนี้อย่างจริงจังมั้ย ผมว่ายังไม่น่าจะมี แต่มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ตั้งแต่กระบวนการผลิตมาจนถึงกระบวนการที่เราเอาไปใช้แล้วเอาไปทิ้ง"

ถึงอย่างนั้นเขาประเมินว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าจะเกิดขึ้นในขั้นตอนของการทิ้งก็คือ เมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ไปอยู่ในหลุมฝังกลบ สารเคมีที่ผสมอยู่ในเนื้อผ้าหรือตัวเส้นใยของผ้าจะถูกชะออกมาผสมปนเปกันอยู่ในหลุมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน หรือกรณีที่มีไฟไหม้หลุมฝังกลบ นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเสื้อผ้าที่ผลิตในปัจจุบันมักมาจากเส้นใยสังเคราะห์ที่มีส่วนประกอบของพลาสติก หากรอให้ย่อยสลายเองอาจต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี ซึ่งในอนาคตหากไม่มีแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบ ขยะเสื้อผ้าจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น 

"โดยเฉพาะเมื่อมันมาอยู่ในกระแส fast fashion ใส่ครั้งเดียวสองครั้งแล้วแฟชั่นก็เปลี่ยนแล้ว เสื้อผ้าก็เต็มอยู่ในตู้ ไม่มีที่เก็บก็ไปบริจาค คนรับบริจาคใส่ไม่ได้ก็เอาไปทิ้ง" 

recycle / reuse

ขยะเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้ง่ายๆ หลายคนโฟกัสไปที่การรีไซเคิล แต่ในความเป็นจริงกลับยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะกระบวนการรีไซเคิลเสื้อผ้าใช้แล้วต้องผ่านขั้นตอนมากมายเพื่อทำให้เกิดเป็นทรัพยากรหมุนเวียน และยังไม่สามารถรองรับปริมาณอันมหาศาลของเสื้อผ้าที่เจ้าของไม่ต้องการ แถมยังต้องแลกด้วยต้นทุนไม่ว่าจะเป็นพลังงานหรือสิ่งแวดล้อม

เช่นในประเทศจีน แต่ละปีเสื้อผ้าเก่าจำนวนประมาณ 26 ล้านตันถูกโยนลงถังขยะ แต่สามารถนำมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ส่วนญี่ปุ่นกระบวนการรีไซเคิลจะเกิดขึ้นหลังจากเสื้อผ้าร้อยละ 87 ถูกบริจาคให้กับผู้อพยพ ผ่านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยร้อยละ 3 จะมีการใช้เสื้อผ้าเหล่านั้นสำหรับการผลิตพลังงาน, อีกร้อยละ 10 ถูกใช้ในกระบวนการผลิตวัสดุกันความร้อน

อัตราส่วนการรีไซเคิลที่ไม่อาจตามทันปริมาณขยะเสื้อผ้า ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการรียูส โดยประเทศในแถบยุโรปเริ่มใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จาก“เบื่อแล้วทิ้ง” มาเป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้สามารถกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทย มองว่าคีย์สำคัญของปัญหานี้คือ ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมแฟชั่นตระหนักว่าต้องทำให้เสื้อผ้าที่อยู่ในตู้กลับมาใช้ใหม่ได้อีก

"อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องมีการปฏิวัติใหม่ ตอนนี้ที่กรีนพีซรณรงค์อยู่มุ่งไปที่การเรียกร้องให้แบรนด์ใหญ่ๆ ลดละเลิกสารพิษในกระบวนการผลิต ซึ่งมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะเสื้อผ้า ซึ่งกรณี fast fashion มันต้องทำงานร่วมกับนักออกแบบและอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมดเลย เพราะต่อให้เรามีสิ่งทอที่สะอาด แต่ถ้ามันใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แฟชั่นมันเปลี่ยนเร็วขนาดที่ว่าแค่เดินออกจากร้านก็เอาท์แล้ว มันก็คงแก้ปัญหาปลายทางไม่ได้ เพราะมันไม่มีที่ให้เอาเสื้อผ้าไปใช้ หลุมผังกลบก็เพิ่มขึ้น แล้วมันจะกลายเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต"

ท่ามกลางความน่ากังวลดังกล่าว สัญญาณดีกำลังเกิดขึ้นจากทางฟากฝั่งยุโรปซึ่งเผชิญกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของธุรกิจนี้มาก่อน เว็บไซต์ ec-europa.au/environment ระบุถึงโครงการใหม่เพื่อจัดการขยะที่เป็นเสื้อผ้าและสิ่งทอทั่วยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายที่การกำจัดขยะสิ่งทอ 90,000 ตันออกจากผืนดินภายในปี 2019 ด้วยการปรับปรุงแนวทางที่ยั่งยืนในการจัดการผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอตลอดวงจรชีวิต จากจุดที่ทำการออกแบบไปจนถึงจุดที่หมดความต้องการใช้งาน โดยการนำผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับในอุตสาหกรรมมาร่วมมือกัน มีภาครัฐบาลและผู้ค้าปลีกเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เสื้อผ้าใหม่ภายใต้แนวคิด zero waste Model

การตอบรับเป็นไปด้วยดีมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงรวมถึงนักออกแบบแฟชั่นชั้นนำของอังกฤษอย่าง Stella McCartney ยกมือร่วมด้วย คาดการณ์กันว่าหากโครงการนี้ซึ่งออกตัวที่ประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จ จะทำให้อังกฤษสามารถจัดการขยะอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ถึง 16,000 ตัน (เท่ากับน้ำหนักของรถโดยสาร 2 ชั้นกว่า 1,300 คันทีเดียว)

ด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมรายงานว่า ในปี 2013 สิ่งทอเกือบ 13 ล้านตันถูกทิ้งไว้ที่สถานที่ฝังกลบขยะในประเทศ ก็มีการริเริ่มที่น่าสนใจ องค์กรเอกชนได้มีการก่อตั้งบริษัท Renewal Workshop เพื่อให้บริการซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ลูกค้าเอามาคืนที่ร้านของแบรนด์ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ รวมถึงชิ้นที่ได้รับความเสียหายระหว่างผลิตซึ่งปกติจะมีประมาณร้อยละ 10-12 โดยชิ้นที่ผ่านการซ่อมแล้วจะติดป้าย Renewal Workshop และนำไปขายบนเว็บไซต์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจริงร้อยละ 30 – 50 ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจรักโลกที่กำลังถูกจับตามอง

สำหรับประเทศในแถบเอเชีย รวมถึง‘ไทย’ซึ่งไม่เคยตกเทรนด์ แม้ความตื่นตัวในเรื่องนี้จะยังมองไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่จำนวนเสื้อผ้าบริจาคที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณในแต่ละปีคือสัญญาณเล็กๆ ที่บอกว่าเราสิ้นเปลืองทรัพยากรไปมากแค่ไหนจาก fast fashion และผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกมากน้อยขนาดไหนที่จะตามมาจากขยะเหล่านั้น ซึ่งแนวทางในการรับมือกับเศษซากแห่งรสนิยมเหล่านี้ ไม่มีอะไรยากเย็นเท่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อแฟชั่น

"มันเป็นการล้อเล่นกับรสนิยม เรื่องของความแปลกใหม่ มันเป็นวัฏจักรที่ท้าทายเหมือนกัน เพราะถ้าอุตสาหกรรมแฟชั่นเขาขายของไม่ได้ เขาก็ไม่ได้กำไร แต่อย่างไรก็ตามผมว่ามันน่าจะมีวิธีการที่ไม่ต้องได้กำไรสูงสุด แต่ก็สามารถที่จะทำธุรกิจไปได้และดูแลสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสารเคมีในเสื้อผ้า แต่รวมถึงขยะเสื้อผ้าด้วย" ธารา กล่าวอย่างมีความหวัง

ส่วนใครที่ยังฝันจะเห็นโลกใบนี้ไม่ถูกถมทับด้วยขยะพิษ  คิดสักนิด...ก่อนสอยเสื้อตัวใหม่มาใส่ตู้ใบเดิม