จิตแพทย์เด็กชี้บำบัดเด็กติดเกม ห้ามใช้ความรุนแรง

จิตแพทย์เด็กชี้บำบัดเด็กติดเกม ห้ามใช้ความรุนแรง

จิตแพทย์เด็กชี้บำบัด เด็กติดเกม-อินเทอร์เน็ต ด้วยความรุนแรง น่าเชื่อถือต่ำ แนะฝึกวินัยต้องเริ่มในครอบครัว มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ช่วยป้องกันได้

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์ด้านเด็กและสื่อ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการบำบัดภาวะติดเกม และอินเทอร์เน็ตด้วยความรุนแรงว่า ในประเทศจีนมีการบำบัดภาวะติดเกม โดยใช้วิธีให้อยู่ในค่ายคล้ายทหารมานานประมาณ 10 ปีแล้ว ช่วงแรกเกิดในโรงพยาบาลทหาร ต่อมาแพทย์ชาวจีนผู้ริเริ่มได้ตีพิมพ์ผลงานว่า วิธีการบำบัดดังกล่าวได้ผลดีอย่างมาก จึงมีการสนับสนุนให้ตั้งค่ายบำบัดอีกนับร้อยแห่ง โดยค่ายบำบัดแต่ละแห่ง ก็จะใช้วิธีการและระยะเวลาแตกต่างออกไป ส่วนมากต้องอยู่นานกว่า 6 เดือน และหลายแห่งมีรายงานการใช้ความเข้มงวดระดับเดียวกับการฝึกทหาร

“จากงานวิจัยในจีนพบว่าได้ผลดี ช่วยลดระยะเวลาเล่นเกมได้มาก แต่ก็เป็นงานวิจัยที่มาจากผู้ให้การบำบัดเอง ทำให้ความน่าเชื่อถืออาจมีน้อย ส่วนกรณีข่าวสาววัยรุ่นชาวจีนทำร้ายมารดาจะเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาเรื่องการติดเกมเป็นแค่เพียงปลายเหตุของปัญหาใหญ่ทั้งหมด ซึ่งปัญหาหลักจริงๆ ส่วนมากคือเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ความเชื่อมั่นในตนเอง ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ” นพ.วรตม์ กล่าว      

นพ.วรตม์ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การมาตามบำบัดเมื่อมีอาการติดเกมไปแล้ว แต่ต้องตระหนักและป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น โดยสอนให้เล่นเกมอย่างสมดุลกับชีวิต เริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว มีการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ทำกิจกรรมครอบครัวสม่ำเสมอ พ่อแม่มีการพูดคุยและสื่อสารอย่างชัดเจน เกี่ยวกับการเล่นเกมของเด็ก โดยพ่อแม่เองก็ต้องมีความเข้าใจในเกมที่เด็กเล่นด้วย ฝึกการควบคุมตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น โดยอาจช่วยกันตั้งกฎกติกาและระยะเวลา ที่จะใช้เล่นเกมในแต่ละวัน ให้คำชมหรือกำลังใจเมื่อลูกสามารถควบคุมการเล่นเกมของตัวเองได้ดี และสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองด้านอื่นๆของลูก       

“หากมีอาการติดเกมอย่างรุนแรง สามารถพาเด็กมาปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อทำการรักษาต่อไปได้ โดยการรักษามีตั้งแต่การให้คำแนะนำ การเข้ากลุ่มผู้ปกครองสำหรับพ่อแม่ การเข้าค่ายสำหรับเด็ก การรักษาด้วยการทำจิตบำบัดรายบุคล รวมทั้งการรักษาโดยใช้ยา ซึ่งไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น และวิธีทั้งหมดที่กล่าวมาก็มีงานวิจัยรองรับว่าได้ผลเป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังสามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต หมายเลข 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.วรตม์ กล่าว