Storylog ฝันใหญ่ของนักเล่าเรื่อง

Storylog  ฝันใหญ่ของนักเล่าเรื่อง

เปิดทางให้คนที่อยากจะเขียนผลงานได้ “ปล่อยของ”

จากการได้เห็นปัญหาว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะเป็น “นักเขียน” แต่ยังขาดพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราว

ในอดีตคงต้องจรดปากกาเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย และอีกหลายรูปแบบ จากนั้นก็ติดต่อสำนักพิมพ์ สำเร็จบ้าง ได้รับการปฏิเสธบ้าง

แต่หากเป็นในยุคนี้เว็บไซต์หลายแห่งเปิดทางให้คนที่อยากจะเขียนผลงานได้ “ปล่อยของ” แม้จะมีพื้นที่เปิดแต่ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเด็ก และวัยรุ่น เท่านั้น ยังไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนที่โตขึ้นมาหน่อย

จุดว่างตรงนี้เองที่ เปรมวิทย์ ศรีชาติวงศ์ ผู้ก่อตั้ง storylog.co สบเห็นโอกาสและเริ่มออกสตาร์ทกับธุรกิจ “สตาร์ทอัพ”ตัวแรก

“ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเกี่ยวกับ storytelling และรู้จัก Tech startup อยู่แล้ว เมื่อมองๆ ดูก็เห็นว่า มีคนอยากแชร์เรื่อง แต่ไม่มีพื้นที่ให้แชร์เรื่องราวดีๆ แบบกึ่งไดอารี่

ซึ่งคอนเทนท์ในลักษณะนี้ มองแล้วก็น่าจะฟรี เพราะหากขาย คงขายยาก ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ วัยรุ่นเข้ามาเขียนกัน"

ใช้เวลาปีครึ่ง storylog ก็มีเรื่องราวที่แชร์เป็นจำนวนมาก มีฐานของนักเขียนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยฐานคนอ่านอยู่ที่ 25,000 คนต่อเดือน

แม้จะเป็นแพลมฟอร์มที่ชื่นชอบ คนเข้ามาเขียน และอ่านเป็นจำนวนมากต่อเดือน แต่ยอดไลค์ก็ไม่ได้นำมาซึ่ง “รายได้”

“จนถึงวันนี้ storylog ก็ยังไม่ cover ต้นทุนที่ลงไป”

การจะฝ่าด่านนี้ไปได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย สำหรับ ทั้ง 5 คนในทีม

เมื่อเงินก้อนแรกที่ลงทุนไป 3 แสน ต้นทุนส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องคน 4-5 เดือนแรกเงินก็หมด สถานการณ์ก็ถึงมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง

“ในวันที่ทุกคนก็ต้องกิน ต้องใช้ ก็คุยกันกับเพื่อนๆ แบบแมนๆ ว่าคงต้องต่างคนแยกย้ายไปรับจ๊อบพิเศษ ทำงานของแต่ละคน เพื่อหาเงิน เมื่อค่อยๆดีขึ้นก็กลับมารวมตัวกันใหม่”

เปรมวิทย์ เล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทีมมีส่วนสำคัญที่สุดและร่วมกันสู้ปัญหา

ที่ยากสุดคงต้องยกให้ “Process” และ “Product Development” ว่าต้องทำอย่างไร ทำแล้วจะเอาไปคนใช้อย่างไรต่อ

นี่เป็นงานยากสำหรับสตาร์ทอัพ ที่เหลือก็เป็นเรื่อง “เงินทุน”

“มองย้อนกลับไปเคยคิดว่า การทำสตาร์ทอัพจะง่ายกว่านี้ แต่จริงๆ แล้วยากกว่าที่คิด แต่ก็สนุก เชื่อว่าผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนต่างก็มองในมุมบวก โดยมี 2 คนที่ผมอยากพูดถึง เพราะถ้าไม่มี 2 คนนี้ก็ไม่มี storylog เหมือนกัน หนึ่งก็คือ Dtac Accelerate วันนั้น พี่กระทิงพูดกับผมว่าได้เห็นไอเดียที่ดี และเห็น Passion ของเราทำให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

กับอีกหนึ่งรายที่ต้องพูดถึง ก็คือ HUBBA เรียกว่า storylog ก็เคยมียุคมืดเหมือนกัน เจอกับปัญหา แต่พอมาที่นี่ก็จะได้รับคำแนะนำ ให้กำลังใจ และไปต่อได้อีก"

เมื่อปัญหาที่รุมอยู่ก็คลี่คลาย  ล่าสุดผลจากการมองที่เป้าหมายเดียวคือ “User-Generated Content” ก็นำมาสู่การควบรวมกิจการ หรือ M&A กันระหว่างสตาร์ทอัพรุ่นพี่ Ookbee นำโดย ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Ookbee กับรุ่นน้องอย่าง Storylog

“M&A ทำให้ภาวะเสี่ยงน้อยลงกว่าเดิม และตื่นเต้นน้อยลง ที่ต้องลุ้นว่าจะอยู่รอดมั้ย เพราะเงินที่ได้รับการสนับสนุนมานี้ก็ทำให้อยู่ไปได้อีก 3 ปี แม้จะเบาใจจากเม็ดเงินที่ใส่เข้ามา แต่อีกส่วนก็หนักใจว่าจะทำให้ถึงเป้าได้แค่ไหน จะอย่างที่พี่หมูไว้วางใจมั้ย”

การทำงานนั้น Storylog จะยังคงทำงานอิสระเหมือนเดิม และทุกอย่างก็ต้องเดินหน้า

วันนี้ได้เห็นเทรนด์คนต้องการเขียนนิยายมากขึ้น แต่พื้นที่ออนไลน์ไม่ค่อยมี

“พบว่าเทรนด์ของ  User Generate Content ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งก็พบว่า 70% ของคอนเทนท์จะมาจาก UGC มากขึ้นเรื่อยๆ”

หากจะเขียนขึ้นมาเพื่อหวังขาย โอกาสก็มีน้อยมาก

ในอดีตการพิมพ์นิยายจะขั้นตอนเยอะมาก Fictionlog.co จะเป็นอีกแพลทฟอร์มที่ทำให้ขั้นตอนพวกนี้เร็วขึ้น และให้ประโยชน์คืนกลับไปยังนักเขียนสูงถึง 50%

Fictionlog จึงถูกวางไว้ให้เป็นแพลทฟอร์มใหม่ เป็นการนำเอานิยายมาลงและขายสร้างรายได้แบบบทต่อบท โดยเป็นพื้นที่ให้กับนักเขียนในแนวนวนิยายโดยเฉพาะ 

“เราเปิดกว้างสำหรับนักเขียนทุกคน เริ่มคุยกับนักเขียนอิสระ เช่นเดินทางไปเชียงใหม่ เจอกับนักเขียนชื่อดัง ชาติ กอบจิตติ เล่าโมเดลว่าเราจะทำอะไรบ้าง กระแสตอบรับถือว่าดีมาก”

ล็อตแรกของ Fictionlog จะเป็นการนำเอา original series ของนักเขียน 7 คน อาทิ ปิง ผู้กำกับฮอร์โมน มาเขียนในแพลทฟอร์มนี้

ข้อดีคือ Fictionlogนักเขียนสามารถหารายได้จากค่าอ่านออนไลน์ในแบบบทต่อบท การนำเสนอผลงานก็ทะยอยลงแบบบทต่อบทได้เช่นกันซึ่งก็ดึงให้ทุกคนได้เข้ามาติดตามอ่านอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เราไม่ถือลิขสิทธิ์ รายได้จะตกอยู่ที่นักเขียน 100%  ส่วนคนอ่านจะต้องจ่ายในราคาไม่สูง ประมาณ 3-5 บาทต่อบท

“พฤติกรรมการอ่านผมว่าคนไทยไม่ได้อ่านน้อยลง แต่เปลี่ยนช่องทางมากกว่า”

คอนเทนท์แบ่งออกเป็น 13 ประเภท ได้แก่ แฟนตาซี ดราม่า ฯลฯ ซึ่งได้ดีลเอาไว้ครบทุกสาย

นอกจาก Fictionlog แล้ว ในช่วงปลายปี storylog จะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยจะมีการขยายมิติของเรื่องราว เดิมความรัก ความเหงา การพัฒนาตัวเอง มาสู่คอนเทนท์อื่นๆ อาทิ การท่องเที่ยว

ถามว่าอะไรสำคัญที่สุดสำหรับ “สตาร์ทอัพ”

คำตอบที่ได้คือ กุญแจสำคัญสำหรับการทำสตาร์ทอัพ ก็คือ สร้าง(สินค้า/บริการ)ให้ดี และขายให้ได้ แค่นี้ผมว่าก็พอแล้ว

สร้างผลงานขึ้นมาให้เป็น “เอกลักษณ์” มากกว่าหา “รายได้”