‘คิวคิว’ ชีวิตดีได้ไม่ต้องรอคิว

‘คิวคิว’ ชีวิตดีได้ไม่ต้องรอคิว

ลูกค้ารายแรกสำคัญที่สุด ทำให้เราสามารถอ้างอิงได้ พอไปคุยกับลูกค้ารายที่สอง ที่สามก็ง่ายขึ้น

เอสเอ็มอีที่ก้าวเป็นสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่มีเหตุผลหลักๆ ก็คือ ต้องการไปคว้าฝันที่ยิ่งใหญ่ “เอสบ็อกซ์” บริษัทซอฟท์แวร์ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ได้แปลงร่างเป็นบริษัท “ยัมมี่” รุกสู่โหมดสตาร์ทอัพ และประเดิมตลาดด้วย “คิวคิว” แอพจองคิวที่ไม่ต้องเสียเวลาเข้าแถวยืนรอ

“รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” Founder&Master Chef บริษัท วายเอ็มเอ็มวาย จำกัด (ยัมมี่) เจ้าของแอพคิวคิว (QueQ)เล่าถึงที่มาของคิวคิวว่า เกิดจากความรู้สึกไม่โอเคกับการรอคิวของเขาตัวเอง เป็น Pain Point ที่ต้องไปยืนรอคิวนานแสนนาน ณ ธนาคารแห่งหนึ่งซึ่งบังเอิญวันนั้นเป็นวันก่อนสิ้นปีผู้คนจึงแห่กันมาทำธุรกรรมการเงินกันล้นหลาม


ด้วยจิตวิญญานของความเป็นโปรแกรมเมอร์เขาจึง “ปิ๊ง” ไอเดียว่าต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ แต่กว่าที่ฝันจะเป็นจริงได้ต้องใช้เวลากว่าจะคิดพัฒนาจนเกิดเป็นแอพจองคิว ที่ชื่อว่า“คิวคิว” ซึ่งมีร้านอาหารสุดฮอตเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก


"ตอนแรกย่อมยากที่สุด เรานำเอาคิวคิวไปนำเสนอร้านอาหารต่างๆ หว่านไปทุกที่ใช้เวลาถึง 6 เดือน สุดท้ายโออิชิเป็นบริษัทแรกที่เปิดโอกาสให้ จากนั้นเราใช้เวลาอีก 6 เดือนเพื่อพัฒนาระบบให้นิ่ง ตอนนั้นเราบอกลูกค้าว่าคิวคิวน่าจะทำให้ระบบเขาดีขึ้น เพราะเป็นการลองตลาด แต่พอได้ใช้จริงๆก็เป็นอย่างที่เราคิด"


แต่ต้องบอกว่ากว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ ทางทีมงานของเขาต้องไปขลุกอยู่ในร้านชาบูชิในเครือโออิชิ ช่วยทำงานช่วยเสิร์ฟในร้านเพื่อศึกษาให้เข้าใจถึงระบบปฏิบัติการที่แท้จริง


“ลูกค้ารายแรกสำคัญที่สุด ทำให้เราสามารถอ้างอิงได้ พอไปคุยกับลูกค้ารายที่สอง ที่สามก็ง่ายขึ้น ปัจจุบันเราไม่ได้วิ่งหาร้านค้าฝ่ายเดียวแต่มีร้านค้าบางรายที่ติดต่อเข้ามาเอง


สำหรับเขามองว่า เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยี เป็นแอพหรือโซลูชั่น ก็ยังไม่ขึ้นชื่อว่าเป็นสตาร์ทอัพ แต่ต้องเป็นเรื่องของ “บิสิเนสโมเดล” คิวคิว จะไม่เป็นแค่การระบบคิว แต่ต้องเป็นการสร้างพฤติกรรมบางอย่าง


"คนที่ใช้บริการเรามากที่สุดคือนักศึกษา รองลงมาคือแม่บ้าน ผู้หญิงใช้บริการมากกว่าเพราะเป็นคนคิดว่าวันนี้จะกินอะไร แต่ผู้ชายมักจะชวนไปกินร้านอื่นเพราะร้านนั้นคนเยอะ แต่เราสร้างพฤติกรรมใหม่ให้ผู้หญิงไม่คล้อยตาม คือเขาสามารถจองคิวไว้ก่อน ระหว่างรอก็ไปช้อปปิ้งไปทำอย่างอื่นก่อน พอใกล้ถึงคิวระบบจะเตือนให้กลับมา อัตราของการเปลี่ยนใจไปร้านอื่นก็ลดลง "


อีกพฤติกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่มาเดินในห้างสรรพสินค้าเวลานี้มักจะคิดถึงแอพคิวคิว พิสูจน์ได้จากจำนวนดาวน์โหลดซึ่งปัจจุบันมีถึง 2 แสนราย และที่แอคทีฟใช้เป็นประจำมีอยู่ประมาณ 35% หรือในแต่ละเดือนจะใช้จริงอยู่ประมาณ 6 หมื่นราย


"คิวคิวจะมีฮาร์ดแวร์ เป็นตู้จองคิวไปตั้งไว้ที่หน้าร้านค้า โมเดลของเราก็คือ จะลงทุนฮาร์ดแวร์ให้และเก็บเป็นค่าเช่า ซึ่งตรงนี้ส่วนนักลงทุนเขามองว่าถ้าขยายมากๆต้องใช้เงินเยอะ แต่กลายเป็นว่าในตลาดอาจมีคนทำธุรกิจไอเดียเดียวกันแต่เขาไม่มีตู้นี้เหมือนเรา มันเลยกลายเป็นเหมือนแบรนด์แอมบาสเดอร์"


และต้องบอกว่าในอดีตคงเป็นไปไม่ได้เลยที่ร้านอาหารดังๆ จะยอมให้ตู้ที่โชว์โลโก้คิวคิวมาอยู่ที่หน้าร้าน หรือจะยอมโชว์โลโก้แบรนด์ของตัวเองคู่กับแบรนด์ที่โนเนม แต่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีสองปีที่แล้ว องค์กรธุรกิจรับเรื่องนี้มากขึ้นเนื่องจากได้เคยทดลองทำแอพของตัวเองไม่รู้กี่แอพต่อกี่แอพ และแม้จะอัดงบก้อนโตแต่แล้วก็พบว่ามีคนใช้งานจริงน้อยมาก ก็เลยตกลงใจกับทางเลือกที่ว่า น่าจะดีกว่าหากร้านค้าจะมาอยู่บนคิวคิวเพียงแอพเดียว


"แปลว่าแบรนด์เราจากเล็กๆ ก็ขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่แบรนด์ใหญ่ๆได้ ฮาร์ดแวร์ตัวนี้ถือเป็นการลงทุนที่ได้แบรนด์ สตาร์ทอัพไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมา ต้องสร้างคุณค่าและทำให้คนรับรู้มูลค่าที่มากที่สุดของสตาร์ทอัพคือแบรนด์ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ"


ซึ่งปัจจุบันรายได้หลักของคิวคิวมาจากร้านค้าเป็นหลัก เป็นค่าเช่าโซลูชั่น 6 พันบาทต่อสาขา ขณะที่ยูสเซอร์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในอนาคตคิวคิวก็คิดหาทางหารายได้จากยูสเซอร์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ได้ทดลองทำแคมเปญการตลาดโดยไปดิวกับ “บาร์บีคิว พลาซ่า” ที่ทุกปีจะมีเทศกาล“รีฟิล กินไม่สะดุด เต็มอิ่มครบรส” แล้วเอามาผูกเข้ากับ “แกร็บแท็กซี่” ให้ยูสเซอร์ซื้อราคาอาหารเท่าเดิมแต่ที่เพิ่มเติมคือบริการของแกร็บแท็กซี่ฟรี 150 บาท เป็นต้น


ย้อนถามถึงแนวคิด เป้าหมายในการเป็นสตาร์ทอัพ รังสรรค์ บอกว่าเดิมทีเอสบ็อกซ์เป็นบริษัทซอฟแวร์เฮ้าส์ที่รับทำโมบาย แอพพลิเคชั่น และโมบาย แบงกิ้ง แต่เมื่อสามปีที่แล้วมีคอปอเรทแห่งหนึ่งสนใจพอคุยกันไปคุยกันมาก็เกิดบริษัทร่วมทุนชื่อยัมมี่


"แนวคิดของยัมมี่คือการสร้างโปรดักส์ แล้วเอาโปรดักส์ไปทำตลาด ไอเดียเราจึงเป็นสตาร์ทอัพมาแต่ต้นแล้ว แต่แนวคิดประเทศไทยจะตามหลังอเมริกาไม่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของบิสิเนสโมเดล มุมมองทางธุรกิจ และการขยายสเกล เราไม่ได้ตามหลังแค่ซอฟแวร์แต่ตามหลังในเรื่องจากมุมมองของลูกค้า ทั้งองค์กรและคนทั่วไป จริงๆปีนี้สตาร์ทอัพบูมมากสุดเพราะรัฐบาลโฟกัส เมื่อก่อนเราเองไม่กล้าออกแมสโปรดักส์ เพราะมองว่าไม่ง่ายเหมือนในเวลานี้ที่มาร์เก็ตติ้งทุกอย่างใช้โซเชียลได้ ใช้ออนไลน์ ใช้ปากต่อปากได้ เมื่อก่อนต้องใช้เงินมากในการทำแบรนด์ เลยเป็นจังหวะทีพอดี"


เขายังมองว่า การผนึกกำลังกับพันธมิตรสร้างผลดีแบบทวีคูณ ที่ไม่ใช่เรื่องของหนึ่งบวกหนึ่งแล้วเป็นหนึ่ง แต่มันกลายเป็นสามเป็นสี่


" เมื่อก่อนข้อเสนอของคอปอเรทจะเป็นเรื่องการซื้อ การควบรวมกิจการ ขอเข้ามาถือหุ้น 51% สุดท้ายสตาร์ทอัพก็จะกลายเป็นพนักงานคนหนึ่งของเขา แต่เดี๋ยวนี้คอปอเรทเข้าใจและไม่คอนโทรลแต่มาขอถือหุ้นเล็กๆ แล้วให้เงินอัดฉีด ซึ่งถ้าสตาร์ทอัพโตเป็นสิบเท่าเงินลงทุนที่เขาใส่ก็จะโตเป็นสิบเท่า และถ้าสิ่งที่สตาร์ทอัพทำเชื่อมโยงกับธุรกิจเขาที่สุดมันก็เอื้อกลับมาที่ธุรกิจหลัก เมื่อเกิดความเข้าใจก็เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย"


เมื่อถามถึงไมล์สโตน เขาบอกว่าตอนนี้เริ่มขยายกลุ่มลูกค้าไปที่ธุรกิจธนาคาร และจะขยายไปในตลาดต่างประเทศกลุ่มอาเซียน


"ถ้าขยายไปต่างจังหวัดคงต้องใช้แรงเยอะ คิวไม่ใช่ปัญหาของคนต่างจังหวัดก็เลยคิดข้ามชอตไปที่เมืองหลวงของแต่ละประเทศ ล่าสุดก็ไปที่อินโดนีเซียแล้วเราไปเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับบริษัทไต้หวันชื่อแอดเวนเทค ที่ทำธุรกิจฮาร์ดแวร์อยู่แล้ว ซึ่งเดิมเราคิดว่าอาจจะยุ่งยากในเรื่องการขนส่งฮาร์ดแวร์ แต่โชคดีที่แอดเวนเทคเขามีสาขาทั่วโลก"


อีกภารกิจหนึ่งของสตาร์ทอัพก็คือการ Raise Fund ที่คิวคิวก็ยังไม่เคยทำแม้แต่ครั้งเดียวที่ผ่านมาใช้เงินส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง แต่เร็วๆนี้รังสรรค์บอกว่ามีแผนจะทำเพราะต้องการนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจและทำการตลาด


"คิวคิวมีโอกาสเข้าโปรแกรมหนึ่งของรัฐบาลมาเลเซียชื่อ MaGIC Accelerator Program เพราะเรามีแผนจะบุกเข้าตลาดมาเลเซียเลยอยากไปศึกษาอีโคซิสเต็มของเขา และหวังจะได้คอนเน็คชั่นกับคอปอเรท รวมถึงนักลงทุนของเขาได้ง่ายขึ้น" 

แต่ไม่ได้หมายถึงความต้องการจะไประดมทุนที่นั่น เพราะเขากับผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนได้ปักธงไว้ในใจก็คือ ไม่ว่าจะ Raise Fund ที่ไหน บริษัทต้องอยู่ที่ประเทศไทยเป็นสัญชาติไทยเท่านั้น

ไล่ตามความฝัน


รังสรรค์บอกว่าเขาเป็นคนที่ชอบคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังเรียนแค่ชั้นป.4 สมัยนั้นมีเกมมากมายแต่มีอยู่เกมหนึ่งที่จุดประกายเพราะแปลกกว่าเกมอื่นตรงที่มีแป้นพิมพ์ เขาจึงถามพ่อว่ามันคืออะไร ซึ่งพ่อก็ตอบเขาว่าเป็นคอมพิวเตอร์ เขาถามต่อว่าคอมพิวเตอร์คืออะไร พ่อเขาอธิบายและบอกว่าคนที่ทำสินค้าแบบนี้ได้ก็คือ วิศวะคอมพิวเตอร์ เขาเลยบอกพ่อว่าโตขึ้นเขาจะเป็นวิศวะคอมพิวเตอร์


"เพราะตอนนั้นผมอยากได้เกมนั้น แต่ทางบ้านมีเงื่อนไขว่าต้องสอบได้ที่หนึ่งก่อนถึงจะซื้อให้ เลยทำให้ผมตั้งใจเรียนเลยสอบได้ที่หนึ่งจริงๆ พอได้มันมาผมก็เริ่มหัดเขียนโปรแกรมง่ายๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ "


และแล้วความฝันแรกเขาก็ไล่ล่าได้สำเร็จ แต่ความฝันสูงสุดของรังสรรค์ในวันนี้ก็คือ การนำเอาคิวคิวไปแทนที่คิวซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น


"ถ้าเราสามารถเอาคำว่าคิวคิวแทนที่วัฒนธรรมการยืนรอคิว ทำให้ถูกจริตคนเขาได้ มันจะเปลี่ยนคำว่าคิวธรรมดา เป็นคิวคิว ซึ่งผมถือว่าเป็นการซัคเซสแบบสุดๆ และถ้าเราทำให้คนต่างชาติเวลาคิดถึงเมืองไทยจะมีสตาร์ทอัพที่ชื่อคิวคิวได้ก็จะเจ๋งน่าดู"