แก๊งมิจฉาชีพตั้งเพจเฟซบุ๊คให้บริการปลอมสเตทเม้นท์ขอกู้บ้าน

 แก๊งมิจฉาชีพตั้งเพจเฟซบุ๊คให้บริการปลอมสเตทเม้นท์ขอกู้บ้าน

แบงก์แฉธุรกิจปลอมสเตทเม้นท์ขอกู้บ้าน แก๊งมิจฉาชีพตั้งเพจเฟซบุ๊คให้บริการ ชี้ระบาดหนักลามเริ่มเข้าบ้านโครงการดัง แบงก์คุมเข้มสินเชื่อ

นายณัฐพล  ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแก๊งค์มิจฉาชีพรับจ้างทำเอกสารทางการเงินปลอมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อกับธนาคาร โดยมีการโฆษณาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระบุว่า รับทำเอกสารสมัครบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน รวมถึง การทำวีซ่าเพื่อเดินทางต่างประเทศด้วย เป็นการปลอมแปลงข้อมูลทั้ง ข้อมูลบริษัท ผู้ถือหุ้น แต่มีการเดินบัญชีจริง และทำเป็นเครือข่ายใหญ่  และเริ่มมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการกันมากขึ้น  โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน

“เราเริ่มเห็นทิศทางที่น่ากลัว สมัยก่อนยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจจะมีการนำบ้านที่ไม่มีคนอยู่มาแต่งใหม่  มีบริษัทประเมินนอกและคนขายมาหลอกแบงก์ ว่าเป็นทรัพย์ดี ขอกู้สินเชื่อบ้านแล้วไปกินส่วนต่าง เช่นบ้าน 5 ล้านบาทมาบอกเรา 10 ล้านบาท   แต่ตอนนี้มาในลักษณะของธุรกิจรับปลอมสเตทเม้นท์สำหรับขอ สินเชื่อบ้าน บัตรกดเงินสด ขอวีซ่าไปต่างประเทศ พอแบงก์เจอก็แชร์กันในหมู่แบงก์พอแบงก์จับได้ก็ปิดเพจและไปเปิดใหม่”

เขากล่าวว่า มีหลายแบงก์ที่เจอการทุจริตรูปแบบนี้ แม้จะไม่สามารถระบุความเสียหายได้  แต่ก็เป็นความสูญเสียของระบบที่ต้องระมัดระวัง เพราะเมื่ออนุมัติไปแล้ว บางรายก็ไม่ผ่อนชำระ หรือบางรายก็ยังผ่อนต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่แบงก์ยังจับไม่ได้และยังคงปลอมเอกสารขอกู้ใหม่ที่แบงก์อื่น วนเวียนไปเรื่อย ๆ เพราะในช่วง  2 เดือนแรกข้อมูลยังไม่ปรากฏในเครดิตบูโร  

อย่างไรก็ตามหากแบงก์ตรวจสอบพบก็จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์กลุ่มที่ต้องระวัง ซึ่งผู้ที่มาเซ็นสัญญาเงินกู้กับแบงก์บางรายเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งค์มิจฉาชีพ หรือบางรายถูกหลอกและขโมยข้อมูลส่วนตัวมาขอสินเชื่อ  ซึ่งในกรณีหลัง จะเห็นปรากฏเป็นข่าวว่า วันดีคืนดีถูกขโมยเอกสารไปกู้เงินก็มี   ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องไปพิสูจน์กันในศาล 

สถานการณ์ขณะนี้เริ่มลามเข้ามาในโครงการอสังหาแบรนด์ใหญ่ ๆ มากขึ้นแล้วโดยแก๊งค์มิจฉาชีะจะเข้าไปเจรจาขอส่วนลด ในโครงการที่ใกล้ปิด ซึ่งโครงการก็อยากรีบปิดโครงการ และลดต้นทุน กลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพ ซึ่งแบงก์จะชอบโครงการใหญ่ เพราะมีเครเดิต และกระบวนการอนุมัติสินเชื่อไม่นาน  โดยแบงก์จะพยายามคุยกับโครงการเพื่อป้องกันปัญหาเพราะมันก็ไม่ดีกับโครงการ เพราะจะกลายเป็นบ้านร้าง  อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจากนี้ไปเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น การทุจริตรูปแบบนี้น่าจะลดน้อยลงได้

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนระบบสถาบันการเงิน และทำให้ลูกค้าดี ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะแบงก์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หากแบงก์โดนหลอกไป 5 ล้าน แบงก์ต้องปล่อยกู้ให้ได้100 ล้าน ถึงจะมีรายได้ดอกเบี้ยมาชดเชยความสูญเสีย ตอนนี้คุยกัน เริ่มเจอกันหลายแบงก์ ทีมที่คอยจับตาการทุจริตก็เริ่มเจอและลามกันลูกค้าหลงผิดไปใช้บริการแบบนี้ก็มี สุดท้ายก็เสียประวัติ เพราะตั้งใจหลอกแบงก์”