ถอดสาระสำคัญ‘ปราบโกง’ตามร่างรธน.ฉบับใหม่

ถอดสาระสำคัญ‘ปราบโกง’ตามร่างรธน.ฉบับใหม่

ผลการการลงคะแนน“ประชามติ”รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้น ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากเสียงขานรับในเนื้อหา“ปราบโกง”ที่มีการบรรจุไว้มากเป็นพิเศษ

เริ่มตั้งแต่ “คำปรารภ” ที่ระบุตอนหนึ่งว่า “...การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ”

ส่วนเนื้อหาข้างใน มาตรา 50 (10) บัญญัติว่าประชาชนคนไทยมีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ ซึ่งก่อนนี้ไม่เคยมีการบัญญัติไว้

มาตรา 63 บัญญัติว่ารัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด...

พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐ

มาตรา 76 บัญญัติว่ารัฐพึงพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม...

ในทางการเมือง ก็มีการกำหนดเป็นลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ “คนทุจริต” ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

อย่างเช่น มาตรา 98 ที่่กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ต้องไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ 

และมาตราเดียวกันใน (10) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม...ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือความผิดฐานฟอกเงิน รวมทั้งไม่เคยต้องคำพิพากษาทุจริตการเลือกตั้ง

โดยให้ใช้ลักษณะต้องห้ามนี้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการกำหนด ห้าม“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืิอง”มีส่วนได้เสียในการแปรญัตติงบประมาณในสภา ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 144 วรรคสอง

 รวมทั้งในวรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ ส.ส. หรือ ส.ว. มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา 

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืน ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าว แต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่อง “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ถึงกับบัญญัติเป็น “หมวด”โดยเฉพาะในหมวด 9 เช่น ห้าม ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี รับสัมปทานจากรัฐหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ครอบคลุมไปถึงคู่สมรส บุตร และผู้ได้รับมอบหมาย

ขณะเดียวกันยังให้อำนาจ “องค์กรอิสระ” ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมาตรา 224 (4) ให้ กกต. มีอำนาจสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเมื่อมีหลักฐานเชื่อได้ว่าผู้สมัครมีการกระทำในลักษณะเป็นการทุจริตเลือกตั้ง และกรณีศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลนั้นกระทำผิด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น เป็นเวลา 10 ปี 

ส่วนขององค์กรอิสระอีกหนึ่งองค์กร คือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในมาตรา 245 ให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ต่อ คตง. เพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

เพื่อนำไปสู่การหารือร่วมกับ กกต. และ ป.ป.ช. ซึ่งหากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบ และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชน

รวมทั้งในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ให้มีการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ส่วนในด้านกฎหมาย ก็ให้มีการปฏิรูปให้มีการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย