ไทรอยด์ โรคร้ายใกล้ตัวที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

ไทรอยด์ โรคร้ายใกล้ตัวที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกาย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเจริญเติบโต และการทำงานของร่างกาย ปัจจุบันเราพบโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มากยิ่งขึ้น ซึ่งแยกความผิดปกติออกได้เป็น 2 แบบ คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานที่เรียกว่า ไฮโปไทรอยด์ และ ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือ ไทรอยด์เป็นพิษ ความผิดปกติที่เกิดจากเนื้องอก ซึ่งโรคไทรอยด์เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในทางพฤติกรรม แต่ถ้าไทรอยด์เป็นพิษและหากมันทำงานผิดปกติ จะส่งผลเสียอย่างร้ายแรง ต่อมไทรอยด์นี้มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมทั้งควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกาย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

ศาสตราจารย์ นพ.สุชาติ จันทวิบูลย์ แพทย์ที่ปรึกษาด้านการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้อง โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ต่อมไทรอยด์มีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่บริเวณคอด้านข้างกล่องเสียงและด้านหน้าของหลอดลม ด้านซ้ายและขวา เชื่อมด้วยส่วนที่แคบ ที่เรียกว่า อีสมัส (Isthmus) ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ส่งผลต่อสมอง หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิต ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคบริเวณต่อมไทรอยด์นั้น ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดมาจากอะไรแต่มีแนวโน้มว่าเพศหญิงมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเพศชาย โดยคนไข้ส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นเพศหญิง และส่วนหนึ่งก็เกิดจากพันธุกรรม การขาดสารไอโอดีน

เมื่อพูดถึงข้อบ่งชี้ของการเกิดโรคไทรอยด์นั้น สามารถบ่งชี้ได้ใน 2 ลักษณะ คือ ไทรอยด์ที่ผิดปกติจากการทำงานของต่อมในไฮโปไทรอยด์ ผู้ป่วยจะมีอาการเซื่องซึม เชื่องช้า ชีพจรเต้นช้า แต่ ถ้าไทรอยด์เป็นพิษ ชีพจรจะเต้นเร็ว ใจร้อน หงุดหงิดง่าย เหงื่อออกมาก มือสั่น ผมร่วง และ ประจำเดือนผิดปกติ ส่วนความผิดปกติทางกายภาพและเนื้องอกนั้น จะสังเกตได้จากการคลำ การสังเกตจากคนรอบข้าง เราสามารถป้องกันได้โดย การตรวจร่างกายประจำปี ในกรณีที่เกิดความสงสัยให้เจาะเลือดเพื่อตรวจหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ ตลอดจนการกินอาหารที่มีธาตุไอโอดีนและการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี

เมื่อวินิจฉัยอาการป่วยแล้ว ว่ามีความผิดปกติจากต่อมไทรอยด์ สามารถรักษาได้หลายวิธี โดยการทานยา น้ำแร่รังสี และการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่ตรวจพบ เช่น การรักษาไฮโปไทรอยด์ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปรับฮอร์โมน แต่หากไทรอยด์เป็นพิษ แพทย์จะแนะนำให้ทานยาควบคู่กับการติดตามอาการ ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารใช้ยาได้ แพทย์อาจจะพิจารณาให้น้ำแร่รังสี หรือใช้การผ่าตัด

ส่วนในรายที่เกิดจากความผิดปกติจากก้อนเนื้อ จะใช้การผ่าตัดเพื่อตัดก้อนเนื้อนั้นออก และในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผ่าตัดไทรอยด์ก้าวหน้าไปอย่างมากจากเมื่อก่อน เพราะ จากเดิมจะใช้การผ่าตัดเปิดแผลที่บริเวณคอ ที่ทำให้เกิดแผลใหญ่อย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันการแพทย์มีเทคโนโลยีผ่าตัดไทรอยด์แผลเล็ก โดยใช้กล้องช่วยในการผ่าตัดแบบเจาะช่องผ่านทางซอกรักแร้ ขนาด 0.5 เซนติเมตร เพื่อทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก โดยที่มีแผลจากการผ่าตัดเล็กกว่าการใช้เทคนิคเดิม ทั้งนี้ยังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังการผ่าตัด รวมไปถึงแผลผ่าตัดหายได้เร็วขึ้นอีกด้วย