ฐานะปีนี้ 'ทุบสถิติ' EKH

ฐานะปีนี้ 'ทุบสถิติ' EKH

ระหว่างรอศูนย์กุมารเวชเปิดบริการในอีก 3 ปีข้างหน้า 'นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร' ผู้อำนายการ บมจ.เอกชัยการแพทย์ ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์

โรงพยาบาลแม่และเด็กที่มีครบวงจรมากที่สุดในจังหวัดสุมทรสาคร ความโดดเด่นนี้อาจเป็นตัวผลักดันให้ หุ้น เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH ของ 'ตระกูลเอื้ออารีมิตร' ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 19.66% ยังคงยืนเหนือราคาจอง 3.05 บาท ต่อเนื่อง แม้จะปรับตัวลดลงจากราคาเปิดซื้อขายวันแรก (27 ก.ค.2559) ที่ระดับ 7.20 บาท ปัจจุบันราคาซื้อขายเฉลี่ย 6.63 บาท

'นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร' ผู้อำนวยการโรงพยาบาล บมจ.เอกชัยการแพทย์ เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า ตามแผนธุรกิจองค์กรแห่งนี้จะโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย 'คนไข้เด็ก' เป็นหลัก แม้ในปัจจุบันเทรนด์ของคนไข้สูงอายุกำลังมาแรง หลังประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยก็ตาม
ส่วนตัวมีมุมมองที่ว่า คนสูงอายุตั้งแต่ 60-70 ปี ในยุคปัจจุบันยังไม่เป็นภาระของลูกหลานมากนัก เนื่องจากคนวัยเกษียณส่วนใหญ่ยังคงทำงานได้ ฉะนั้นยังสามารถดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี

ขณะที่คนไข้วัยเด็กยังเป็นภาระต่อผู้ปกครอง แม้จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว แต่ผู้ปกครองยังมองลูกเป็นเด็กตลอดเวลา ซึ่งคนไข้เด็กเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ยินดีจ่ายค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที ฉะนั้นหากสามารถสร้างความเชื่อถือได้ ผู้ปกครองก็พร้อมจะใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่า สัดส่วนคนไข้ของเราก็จะเพิ่มขึ้น

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ย้ำว่า เพื่อมุ่งหน้าสู่ความเป็นเลิศด้านศูนย์แม่และเด็กใน จังหวัดสมุทรสาคร ควบคู่กับการตอกย้ำจุดเด่นของการเป็นศูนย์แม่และเด็กที่มีรายได้อันดับ 2 รองจากศูนย์อุบัติเหตุ หลังจากได้รับเงินระดมทุนบริษัทจะนำไปลงทุนก่อสร้างอาคารกุมารเวช (แผนกเด็ก) มูลค่า 200 ล้านบาท จำนวน 50 เตียง

ล่าสุดอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 จะเริ่มลงมือก่อสร้าง และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2562 ตามแผนอาคารดังกล่าวต้องสร้าง 'จุดคุ้มทุน' ภายใน 7-8 ปีข้างหน้า

'ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 10-12% แต่ในปี 2562 รายได้จะขยายตัวปีละ 15% หลังศูนย์กุมารเวชเปิดให้บริการ' 

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้รวมมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ 1.รายได้ผู้ป่วยนอก (OPD) คิดเป็น 46.20% 2.รายได้ผู้ป่วยใน (IPD) คิดเป็น 52.37% และ 3.รายได้ตรวจสุขภาพนอกสถานที่ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 5-7%

ในส่วนของรายได้ตรวจสุขภาพนอกสถานที่ เราจะมีรถเคลื่อนที่บริการตรวจสุขภาพทั่วประเทศไทยให้กับพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่บริการดังกล่าวมีมาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ หลังมีการตัดราคาค่อนข้างสูง จาก ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายลงไปแข่งราคา

ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เป็นต้น

๐ ขยายฐานต่างชาติ

เขา เล่าต่อว่า ระหว่างรอศูนย์กุมารเวชเปิดให้บริการในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการหารายได้เสริมใน 'กลุ่มต่างชาติ' ที่มีความสนใจจะทำศัลยกรรมความงามล่าสุดเมื่อปลายปี 2558 ได้เปิดออฟฟิศให้บริการในซอยนานา

กระแสตอบรับถือว่าดีมาก โดยเฉพาะลูกค้าแถบตะวันออกกลาง ซึ่งออฟฟิศดังกล่าวจะมีแพทย์คอยให้คำแนะนำ และตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทำศัลยกรรม เช่น เสริมหน้าอก,เสริมจมูก และตัดไข้มันส่วนเกิน เป็นต้น

ตอนนี้มีคนไข้ติดต่อสอบถาม และเข้ามาทำศัลยกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนไข้แถบตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่นิยมใช้บริการตัดไขมันส่วนเกิน บางเดือนมีรายได้เข้ามาเป็น 'หลักล้าน' ถือเป็นอีกช่องทางที่สามารถหาเงินได้อย่างดี แต่คงยังไม่เน้นมาก

๐ระบบแพทย์ไทยเทียบเท่าเพื่อนบ้าน

เมื่อถามถึงภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาล 'หมออำนาจ' มองว่า ระบบการรักษาของแพทย์ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ซึ่งการรักษาของแพทย์ไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ ในด้านของคุณภาพใกล้เคียงกัน เพียงแต่สิงคโปร์อาจมีเทคโนโลยีสูงกว่า

ดังนั้นธุรกิจโรงพยาบาลในเมืองไทยยังไปได้สบาย เฉลี่ยอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมประมาณ 10% ยิ่งธุรกิจสุขภาพของไทยกำลังขยายตัวเข้าไปในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา,ลาว,พม่า,เวียดนาม) ยิ่งทำให้มีการเติบโตสูงขึ้น

'พร้อมอาศัยจังหวะเข้าไปขยายฐานคนไข้ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาการดีลคนไข้'

ส่วนภาวะการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาล ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในด้านสุขภาพมากขึ้น โรงพยาบาลต่างๆ จึงปรับตัว เพื่อรองรับความต้องการด้านการรักษาพยาบาลหรือตรวจสุขภาพมากขึ้น

ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีการควบรวมไปแล้วหลายแห่ง เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และมีการขยายบริการให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งลงทุนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

เขา ทิ้งท้ายว่า หลังเดินสายโรดโชว์พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจหุ้น EKH ค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะเราเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำ และได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจน้อยมาก

'การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้บริการของโรงพยาบาลเอกชัยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น'

จากความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของทีมแพทย์ และผู้บริหารที่แข็งแกร่ง ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา องค์กรแห่งนี้เติบโตต่อเนื่อง ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้เห็นว่า โรงพยาบาลได้รับความเชื่อถือ เชื่อมั่น และพร้อมที่จะเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต

'รายได้และกำไรในปี 2559 จะสร้างสถิติครั้งใหม่ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท'


กว่าธุรกิจจะลงตัว..

หลัง 'นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร' เรียนจบคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2534 ก็เริ่มต้นทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงที่ทำงานได้เห็นปัญหาด้านสูตินารีแพทย์หลายอย่าง ทำให้ตัดสินใจกลับมาเรียนต่อวุฒิบัตร สาขาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ต่อมาเข้าไปทำงานในหน่วยโรคมะเร็ง โรงพยาบาลราชวิถี ผ่านมาปีกว่า มีคนชวนไปทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ทำได้สักระยะ เห็นปัญหาเกี่ยวกับการบริการของโรงพยาบาล เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีประชากรแฝงในสัดส่วนเกือบ 1 ล้านคน แต่โรงพยาบาลมีเพียงแห่งเดียว ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่ว่า ควรจะมีโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

รพ.เอกชัย จำนวน 100 เตียง ก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยกลุ่มแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ร่วมกับกลุ่มเจ้าของธุรกิจที่มีฐานรากอยู่ในจังหวัดสมุทรสาครที่มีอุดมการณ์ตรงกัน ปัจจุบันเปิดให้บริการ 86 เตียง มีห้องตรวจ 38 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ถึง 716 คนต่อวัน
ปีแรกของการเปิดบริการ ผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เนื่องจากไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจจากศูนย์ แต่มีผู้ป่วยที่ผูกพันกับทีมแพทย์ ทำให้มีคนไข้ติดตามมารักษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาถึงปีที่สองโรงพยาบาลหันมาเปิดรับผู้ป่วยประกันสังคม เพราะต้องการปริมาณคนไข้เพิ่มขึ้น แต่คนไข้ประกันสังคมส่วนใหญ่นิยมใช้บริการล้วนๆ ทำให้ผลประกอบการเข้าสู่ 'ภาวะขาดทุน'

แม้ในช่วง 2-3 ปีจากนั้น จะใช้ความพยายามในการบริหารจัดการความเสี่ยง แต่ตัวเลขยังคงขาดทุน ทำให้ตัดสินใจยกเลิกรับประกันสังคมในปี 2554 ส่งผลให้ตัวเลขกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง....