เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์

สถาปัตยกรรมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

อาคารสถาปัตยกรรมไทยงดงามราววิมานเทวาลอยลงมาเยือนดินแห่งนี้ มีชื่อว่า เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ปรากฎ ณ เบื้องทิศตะวันออกของ ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ พระราชวังดุสิต


“เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ทำเรือนยอด 9 ยอดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เริ่มต้นอธิบายลักษณะของ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ และเล่าต่อไปว่า


ก่อนหน้านี้จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ห้า) ประเทศไทยมี ‘เรือนยอด’ ที่รัชกาลที่ห้า ทรงสร้างไว้ 5 ยอด คือ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นในอีก 3 รัชกาลต่อมา ก็ยังไม่มีการสร้าง ‘เรือนยอด’ อีกเลย


“เมื่อก่อนอาคารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีเป็นโลหะ มีแต่เป็นไม้ประกอบโลหะ ปูนประกอบโลหะ เช่นที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร แต่ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ เป็นโลหะทั้งหลัง” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ กล่าวและว่า ที่ผู้ใหญ่ตั้งใจใชัวัสดุ ‘โลหะ’ ก่อสร้างนั้นมีเหตุผล ตรงที่ต่อไปเมื่อลูกหลานซ่อมแซม จะได้ไม่ต่อว่าผู้ใหญ่รุ่นนี้ทำอะไรจึงต้องเสียเงินซ่อมแซมมากมาย แต่การสร้างด้วย ‘โลหะ’ แบบนี้ อย่างน้อย ‘เรือนยอด’ จะอยู่ได้ 15 ปีโดยไม่ต้องซ่อมแซม


เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ มีรูปแบบเป็นอาคารจัตุรมุขโถง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดตัวเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตก กว้าง 14.134 เมตร ยาว 28.534 เมตร ผังด้านทิศเหนือและทิศใต้มี มุข ยื่นออกมาทั้งสองด้าน, มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ทิศ, ยกพื้นเป็นฐานสูง, มี ฐานไพที เดินประทักษิณได้โดยรอบ ถัดเข้าไปจึงเป็น ฐานยกพื้นสูงซ้อนชั้น รองรับโถงเรือนยอด ซึ่งมียอดทรงปราสาท 9 ยอด ความสูงจากฐานถึงปลายยอด 24.80 เมตร โครงสร้างเป็น สเตนเลส ทั้งหลัง ส่วนประกอบตกแต่งสถาปัตยกรรมทั้งหมดหล่อด้วยโลหะผสมและงานหินอ่อน โดยมี ‘งานจำหลักไม้’ ของ ช่างศิลปาชีพ สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา เป็นต้นแบบงานหล่อโลหะ


“ชื่อนี้เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า เรือนยอดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่” อาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ กล่าวถึงที่มาของชื่อ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’


โอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ที่อาจารย์เผ่าทองกล่าว หมายถึง โอกาสอันเป็นมงคลเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ‘สถาบันสิริกิติ์’ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเรือนยอด 9 ยอด น้อมเกล้าฯ ถวายในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2560 และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2559


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชันษา ครบ 60 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2560


และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเจริญพระชันษา ครบ 60 ปี วันที่ 5 เมษายน 2554


เรือนยอดนี้เป็นโลหะทั้งหลัง ตอกเสาเข็มลงไปใต้ดินลึกประมาณ 21-24 เมตร เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 48 ต้น เป็นฐานราก ก่ออิฐถือปูนกับโลหะเป็นโครงร่างข้างในทั้งหมด" อาจารย์เผ่าทองกล่าวและว่า "ที่เราเห็นฐานหินอ่อนสีขาวทั้่งหมด ข้างในเป็นโลหะสเตนเลส เพราะฉะนั้นก็อยู่ยั้งยืนยง เราตายแล้วไปเกิดอีกหลายชาติ เรือนยอดนี้ก็ยังอยู่ทั้งหมด ที่เราเห็นหินอ่อน คือเปลือกหุ้มเอาไว้ เป็นหินอ่อนจากเหมืองในเมืองคาร์ราร่า(Carrara ประเทศอิตาลี) เหมืองหินอ่อนเดียวกันกับที่ใช้สร้างองค์พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งอาจดูสีเข้มกว่าเพราะพระที่นั่งอนันตสมาคมผ่านกาลเวลามาครบ 100 ปีเมื่อปีพ.ศ.2558" 


อาจารย์เผ่าทองเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสถานที่ก่อสร้าง ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ ด้วยพระองค์เอง ทรงเลือกจากหลักฐานภาพเก่าในสมัยรัชกาลที่ห้าทรงโปรดให้สร้าง ‘พลับพลาโถง’ เพื่อประทับทอดพระเนตรการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตลอดสามปี ซึ่งเมื่อขุดลงไปก็เจอฐานรากโบราณของพลับพลาเดิม

# สระอโนดาด คุณพระ มนุษยนาค
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่อง เขาพระสุเมรุ ในวรรณคดีพุทธศาสนาเรื่อง ‘ไตรภูมิพระร่วง’

อาจารย์เผ่าทองบรรยายให้ฟังว่า เรือนยอดฯ นี้หมายถึง ‘เขาพระสุเมรุ’ ยอดของเรือนยอดทั้ง 9 รวมกันเป็นเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของ ‘พระอินทร์’ เทพเจ้าสูงสุดของพุทธศาสนา รองลงมาจาก ‘พระสัมมาสัมพุทธเจ้า’ และเราเปรียบองค์พระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้าสูงสุด ทั้งในฮินดูและพุทธศาสนา


ดังนั้นบนสนามหญ้าทั้งด้านซ้ายและขวาของเรือนยอดฯ ทั้งด้านที่หันสู่ทิศใต้และทิศเหนือ จึงออกแบบให้มี 'สระน้ำ' จำนวน 4 สระ เป็นสัญลักษณ์ของ สระอโนดาด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศทั้งสี่ของเขาพระสุเมรุ

สระอโนดาดแต่ละทิศมีศีรษะสัตว์ 4 ชนิด คือ ช้าง ม้า สิงโต และ วัว พ่นน้ำออกมา เป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงโลกมนุษย์-อมนุษย์ก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร


อาจารย์เผ่าทองยกตัวอย่าง ‘สระน้ำ’ ที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของเรือนยอดฯ ด้านหน้า (ด้านหน้าของเรือนยอดฯ คือด้านที่หันสู่ทิศใต้) มี รูปปั้นม้า เต็มตัวยืนเด่นเป็นสง่าบนแท่นตรงกลางสระน้ำ รอบๆ แท่นมีรูปปั้นศีรษะม้าอีก 4 ศีรษะ พ่นน้ำออกมาจากปากม้า


“คติไตรภูมิพระร่วงเชื่อว่า โลกมนุษย์ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เชิงเขาพระสุเมรุด้านนี้ มีสระอโนดาดที่ให้น้ำหล่อเลี้ยงชมพูทวีป ต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญ 4 สาย คือ คงคา ยมุนา สินธุ พรหมบุตร”


บริเวณพื้นรอบเรือนยอดฯ มี รูปปั้นสำริดรูปช้าง จำนวน 10 ช้าง ปั้นตามลักษณะ ช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนและวางเรียงทักษิณาวัตรไปตามลำดับการขึ้นระวาง เริ่มจาก คุณพระเศวตอดุลยเดชพาหน ตั้งอยู่ด้านหน้าเรือนยอดฯ ซึ่งหันหน้าสู่ทิศใต้


“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนี้ทรงมีช้างเผือกประจำรัชกาล จำนวน 10 ช้าง เราสร้างรูปปั้นช้างสำริดได้ครบ 10 จุดพอดี มีพื้นที่ลงได้สวยงาม” อาจารย์เผ่าทอง กล่าวและว่า ช้างเผือกที่ขึ้นระวางแล้ว ไม่เรียกลักษณะนามเป็น ‘เชือก’ แต่ใช้คำว่า ช้าง และใช้สรรพนามว่า คุณพระ


“พระมหากษัตริย์ในอดีตทุกรัชกาล ถือว่าช้างเป็นสัตว์สำคัญ เป็นราชพาหนะในการปกป้องประเทศชาติ ในการสงครามทั้งหมดสูงสุดคือยุทธหัตถี รัชกาลที่ห้ารับสั่งสอนพระราชโอรสอย่าเรียกช้างว่า ‘มัน’ เพราะเป็นสัตว์มีบุญคุณ ให้เรียกคุณพระ" อาจารย์เผ่าทอง กล่าว


รูปปั้นสำริดรูปช้างแต่ละช้างโดยรอบเรือนยอดฯ  ปั้นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง คือไม่ใช้วิธีปั้นและหล่อพิมพ์ออกมาพิมพ์เดียว แต่จะปั้นโดยถอดลักษณะเฉพาะของ ‘ช้างเผือกประจำรัชกาล’ ทั้ง 10 ช้างของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นอากัปกิริยา ‘คุณพระ’ แต่ละช้างจะไม่เหมือนกันเลย แต่ที่เหมือนกันคือ ‘คุณพระ’ ทุกช้างอยู่ในลักษณะเชิดชูงวงขึ้น หมายถึง สมโภชยินดี อาจารย์เผ่าทอง กล่าว


หัวบันไดทางขึ้นเรือนยอดฯ แต่ละด้าน ออกแบบเป็น ศีรษะมนุษยนาค หรือ ‘นาคจำแลงทรงเครื่อง’ ซึ่งในแต่ละทิศก็ออกแบบไม่ซ้ำกันเลย เป็นโลหะหล่อเช่นกัน เป็นความวิจิตรพิศดารที่สุดอีกหนึ่งประการ ไม่มีที่ใดเหมือน ครีบสองข้างบันไดซึ่งใช้คำว่า ‘พนักบันได’ ประดับด้วยลำตัวพญานาคทรงเครื่อง


“ตรงนี้เป็นมหานทีสีทันดร” อาจารย์เผ่าทองชี้ไปที่ ‘สระน้ำ’ ตรงเชิงบันไดนาคจำแลงทรงเครื่องด้านทิศเหนือและทิศใต้


“ในคติไตรภูมิพระร่วง เขาพระสุเมรุตั้งอยู่ตรงกลาง จากนั้นมีเขาเป็นวงกลมล้อมรอบอีก 7 ชั้น จากสูงลงมาหาต่ำ เราเรียกเขาสัตตบริภัณฑ์ ระหว่างเขาแต่ละลูกทั้งเจ็ดชั้น มี ‘มหานทีสีทันดร’ คั้นอยู่ เป็นที่อยู่ของนาคาราช เราจึงทำหัวบันไดเป็นมนุษยนาค" อาจารย์เผ่าทอง กล่าว


‘มนุษยนาค’ หรือ ‘นาคจำแลง’ มีความสำคัญในพุทธศาสนา โดยเป็นผู้ปลอมตัวมาบวชในสมัยพระพุทธเจ้าเริ่มบวชกุลบุตรเข้าสู่พระพุทธศาสนา ตกกลางคืนมนต์ที่กำกับตัวเองให้กลายเป็นมนุษย์คลายลง ระหว่างที่หลับก็กลายร่างเป็นนาคตามเดิม ภิกษุนอนร่วมกุฏิเดียวกันแตกตื่นตกใจ ไปกราบเรียนพระพุทธเจ้า จึงรับสั่งให้มีพระวินัยเกิดขึ้นอีกข้อ ว่าผู้จะบวชได้ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น


“ความจริง นาคเป็นสัตว์ที่อยู่กับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ก่อนตรัสรู้” อาจารย์เผ่าทอง กล่าวและเล่าว่า หลังจากนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสในถาดทองคำ เมื่อฉันแล้ว พระพุทธเจ้าเสี่ยงทายลอยถาด ถาดนั้นจมลงไปใต้บาดาล กระทบกับถาดของอดีตพระพุทธเจ้าซึ่งมีพญานาคตนหนึ่งรักษาอยู่ ชื่อ กาลนาค ซึ่งเป็นเทวดามาก่อนและเมื่อทำบุญทำกุศลก็อธิษฐานอย่างเดียวว่าเกิดชาติหน้าขอให้ได้นอนมากที่สุด


เมื่อเทวดาองค์นั้นหมดบุญจากสวรรค์ ก็ได้ลงมาเกิดเป็น ‘กาลนาค’ ไม่ทำอะไรเลย นอนหลับอย่างเดียว ตามผลบุญที่ได้ตั้งอธิษฐานไว้ ในชีวิตจะตื่นแค่ 5 ครั้ง เมื่อถาดของพระพุทธเจ้าต่างๆ ลงมากระทบบาดาลที่ตัวเองรักษาอยู่


กาลนาคตื่นมา 4 ครั้งแล้ว หนหน้าในยุคพระศรีอริยเมตไตรย กาลนาคจึงจะได้ตื่นอีกครั้ง เมื่อ พระศรีอริยเมตไตรย เสี่ยงทายลอยถาด


“เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เสวยวิมุตติสุขสัปดาห์ที่ห้า ประทับอยู่ริมสระน้ำ ก็มีเมฆฝน พญานาคมุจลินท์อยู่ในสระน้้น ก็เลื้อยขึ้นมาพันรอบองค์พระพุทธเจ้า แผ่พังพานคุ้มไม่ให้พระพุทธเจ้าเปียกฝน ทรงรับสั่งว่านาคเป็นสัตว์มีบุญคุณ เมื่อนาคบวชเป็นพระไม่ได้ ก็ขอให้ได้บวชเป็นนาคโกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาวก่อนเข้าสู่การเป็นพระ” อาจารย์เผ่าทอง กล่่าว

# เครื่องบนส่วนหลังคา
หมู่หลังคาของเรือนยอดฯ ประกอบด้วย ยอดประธาน ตรงกลาง ยังคงคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ สังเกตส่วนที่เป็น ไขรา หรือส่วนรองรับเครื่องยอดปราสาท ทั้งสี่มุมออกแบบเป็น รูปช้างเอราวัณ 3 เศียร (หล่อสำริด ประดับกระจก) ซึ่งก็คือช้างทรงของพระอินทร์ เทพผู้ครองเขาพระสุเมรุ


ตรงกลางของยอดประธานและยอดรองทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ประดับ พรหมพักตร์สี่หน้า เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์ทรงเฝ้าดูแลทุกข์สุขของราษฎร เครื่องยอดหลักทั้งสามยอดนี้ ซ้อนชั้นลดหลั่นเป็น 5 ชั้น


ขณะที่เครื่องยอดทั้ง 9 ยอดปราสาท ประดับด้วย บันแถลง นาคปัก และ บราลี เป็นโลหะหล่อ ปิดทอง ประดับกระจก ปลายยอดทุกยอดประดับ พุ่มข้าวบิณฑ์ โลหะหล่อลงรักปิดทองประดับกระจก สวยงามอลังการทั้ง 9 ยอด


เครื่องลำยอง (หรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยที่มีลวดลายประดับให้อาคารสวยงามซึ่งมักใช้ประดับเทวสถานและพระบรมมหาราชวัง) ออกแบบเป็น นาคสะดุ้ง หางหงส์รูปนาคเบือนสามเศียรทรงเครื่อง ใบระกาแต่ละใบประดับประติมากรรมรูปเทพพนมและเทพรำ ช่อฟ้าเป็นแบบปากนก และที่พุงนกกระจาบของช่อฟ้าเป็นลายเทพพนม แนวสันหลังคาประดับบราลีรูปเทพพนมสี่ทิศ หล่อด้วยโลหะสำริดทั้งสิ้น

 
ผืนหลังคาเป็นโลหะทองแดง ขึ้นรูปเป็นรูป กระเบื้องเกล็ดเต่า ซ้อนเรียงกัน


ขอบด้านในหลังคามี กระจังรวน แขวนอยู่โดยรอบ หล่อด้วยโลหะสำริด

มุมผืนหลังคาประดับลายค้างคาวรูป กระจังปฏิญาณใหญ่, สันตะเข้มุม เป็นโลหะหล่อรูป เหราคายนาคสามเศียรทรงเครื่อง ปิดทองประดับกระจก

# ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย-พระนามาภิไธย
รูปแบบจัตรมุขของ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ มีมุขตามแกนทิศเหนือ-ใต้ เป็นมุขสั้น มีหลังคาลดชั้นซ้อนสามชั้น


กลางหน้าบันมุขด้านทิศใต้ ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ด้านซ้ายมือซึ่งเป็น ‘หน้าบันมุขประเจิดเล็ก’ (ฝั่งทิศตะวันตก) ประดับอักษรพระนามาภิไธย ม.อ. ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, ด้านขวามือซึ่งเป็น ‘หน้าบันมุขประเจิดเล็ก’ (ฝั่งตะวันออก) ประดับอักษรพระนามาภิไธย ส.ว.ในสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี


กลางหน้าบันมุขด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


กลางหน้าบันมุขด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย ม.ว.ก. ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร


กลางหน้าบันมุขด้านทิศเหนือ ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย อ.ป.ร. ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, ด้านซ้ายมือซึ่งเป็น ‘หน้าบันมุขประเจิดเล็ก’ (ฝั่งทิศตะวันออก) ประดับอักษรพระนาม ก.ว. ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, ด้านขวามือซึ่งเป็น ‘หน้าบันมุขประเจิดเล็ก’ (ฝั่งตะวันตก) ประดับอักษรพระนามาภิไธย ส.ธ. ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีี


“เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ มีหน้าบัน 8 หน้าบัน ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย อักษรพระนามาภิไธย 8 พระองค์แล้ว อีก 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี อักษรพระนามาภิไธยและอักษรพระนามของสองพระองค์ประดิษฐานอยู่ด้านบนภายในโถงเรือนยอด” อาจารย์เผ่าทอง กล่าวและกราบเรียนเชิญ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ และ ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิตร ประธานแถลงข่าวการจัดสร้าง ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ นำผู้สื่อข่าวขึ้นชม ‘โถงภายใน’ บนเรือนยอด


บนเรือนยอดฯ ประกอบด้วย ‘โถงกลาง’ กลางฝ้าเพดานโถงกลางประดับ ‘ดาวเพดาน’ และการจำหลักไม้เป็นอักษรพระนาม จ.ภ. ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และที่ฝ้าเพดานโถงมุขทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตกแต่งการจำหลักไม้เป็นอักษรพระนาม อ.ร. ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี


พื้นโถงเรือนยอดฯ ปูหินอ่อนเป็นลายเหลี่ยมเพชร มีเสาย่อมุมทั้งหมด 48 ต้น แบ่งเป็น เสาร่วมนอก ขนาดย่อม 24 ต้น กับ เสาร่วมใน ขนาดใหญ่ 24 ต้น หัวเสาทั้งหมดเป็นลายกลีบบัวแวงซ้อนกันสองชั้น หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทอง และมีลายกรวยเชิงรองรับอีกชั้น


“ท้องเสาร่วมนอกประดับ สำริดหล่อลายหงส์ ปิดทองรองซับด้วยกระจกสี และใส่กรอบซุ้มโดยรอบทั้งสี่ทิศ ตอนบนของซุ้มเห็นเป็นลายตารางโปร่งคือลายราชวัตร ปลายซุ้มประดับอุบะ ทำด้วยโลหะสำริดหล่อลงรักปิดทอง” อาจารย์เผ่าทองบรรยาย


ท้องเสาร่วมใน ตกแต่งด้วย โลหะสำริดหล่อลายครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองรองซับด้วยกระจกสี ประดับ ‘คันทวย’ ค้ำชายคา ผนังคอสอง(ผนังก่อนถึงเพดาน)ประดับผลงานแผนกเขียนลายภาพพระพรหม


‘ราวลูกกรง’ รอบโถงเรือนยอด ออกแบบเป็น เทพพนมสี่ทิศ บางทีเรียก ‘พรหมพนมสี่ทิศ’ สี่องค์สี่ทิศ ถือว่ามหัศจรรย์เหมือนกัน อาจารย์เผ่าทองกล่าวและว่า “ภายในเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เป็นสถานที่มงคลที่สุด หากเสด็จมาประทับก็จะทรงพระเกษมสำราญ เปรียบเสมือนพระวิมานสำหรับพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมุติเทพจริงๆ”

# 847 วัน แห่งการก่อสร้าง
คณะผู้ออกแบบ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ ประกอบด้วยครูพิเศษฝ่ายออกแบบ สถาบันสิริกิติ์ จำนวน 3 คน คือคุณ อัครพล คล่องบัญชี ผู้ออกแบบ, สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ดูแลด้านการออกแบบตกแต่งภายใน และ เจริญ ฮั่นเจริญ รับผิดชอบด้านฐานล่างเรือนยอด


อาจารย์อัครพลกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ ว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยที่รวมไว้ซึ่งความงามของศิลปะไทยร่วมสมัย


“ผมดึงความงามของศิลปะโบราณ ทั้งอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น-ตอนกลาง มาผสมผสานกัน บนแนวคิดที่อยากให้คนได้เห็นงานใหม่ๆ จุดเด่นของงานคือการรวบรวมศิลปะที่มีแนวคิดสวยงามในหลายๆ ที่ในทุกภูมิภาคของประเทศ มาผสมผสานกัน เช่น วัดใหญ่สุวรรณาราม มีศิลปะสถาปัตย์ลักษณะนี้ แต่ก็จะไม่ใช่รายละเอียดแบบนี้ ผมจะดึงรายละเอียดจากวัดนั้นวัดนี้ที่ว่าสวย นำมาผสมผสานกัน ไม่ใช่เป็นของวัดใดวัดหนึ่งมาทำ คือเอาแนวคิดการทำงานและความรู้สึกของช่างโบราณมาปรับปรุง เช่น ทรงตัวอาคาร ครั้งแรกที่ผมคิด คือได้แรงบันดาลใจจาก ‘สังเค็ด’ ในพิพิธภัณฑ์ ที่ผมนำมาสร้างงาน เป็นงานศิลปกรรมสมัยอยุธยา เส้นหลังคาจะแอ่นโค้งคล้ายท้องสำเภา ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของสมัยอยุธยา มุขบนหลังคาด้านข้างที่เห็นยื่นออกมาและมีเสาตั้งรับ เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเฉพาะของอยุธยา เรียกมุขประเจิด ยอดปราสาทแต่ละยอดอาศัย ‘มุขประเจิด’ เป็นตัวฝากไว้” อาจารย์อัครพล กล่าว


การจัดวางยอดปราสาทให้ได้ 9 ยอด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย


“โบราณจริงๆ เราจะเห็นอาคารยอดปราสาท 5 ยอด คือ ‘พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท’ ในพระบรมมหาราชวัง มียอดประธาน 1 ยอด และยอดเล็ก 4 ยอด ล้อมยอดประธาน แต่แบบนั้นเราทำ 9 ยอดไม่ได้ ถ้าเราจะทำแบบระบบโบราณ อีก 4 ยอดจะทำยาก เพราะฉะนั้นเราจึงต้องแบ่งยอดปราสาทให้วางในลักษณะนี้ จึงจะลงตัว เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรที่จะทำให้ยอดทั้งเก้าอยู่กันได้อย่างลงตัว”


เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นความจงรักภักดีและการรวมใจเป็นหนึ่งของช่างฝีมือทุกฝ่าย ทำงานสุดชีวิตเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ


สถาบันสิริกิติ์ นำแบบ ‘เรือนยอด’ ที่อาจารย์อัครพลออกแบบไว้ครั้งแรก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.2554


“พูดภาษาชาวบ้านคือ ให้พระองค์ท่านดู ว่าท่านจะให้ทำหรือไม่ทำ หายไปสองปี คิดว่าไม่ได้ทำแล้ว ก็มาคิดทำอย่างอื่น เพราะต้องมีงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ 7” อาจารย์อัครพล กล่าวและเล่าว่า ระหว่างที่ปรึกษากันอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแบบกลับลงมา


“เวลาจึงกระชั้น เพราะเป็นงานใหญ่” อาจารย์อัครพลกล่าวและว่า งานฝีมือใน ‘งานศิลป์แผ่นดิน’ ที่สามารถนำเข้าไปจัดแสดงภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม บางชิ้นก็ใช้เวลาสองปี สามปี บางชิ้นถึงสี่ปี แต่นี่คือเรือนยอดทั้งหลัง พระองค์ท่านไม่ทรงมีคอมเม้นต์ใดๆ เกี่ยวกับแบบ แต่ผมมาคอมเม้นต์ตัวเอง เนื่องจากแบบไม่เคลียร์ที่จะสร้างจริงได้ เป็นแบบจากจินตนาการ แต่เมื่อจะทำจริง ต้องปรับแบบเพื่อให้ทำได้จริง"


อาจารย์อัครพลเล่าบรรยากาศการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมชิ้นเอกนี้ว่า


“การทำงานประกอบด้วยช่างก่อสร้างที่มีความชำนาญขึ้นโครงสร้างสถาปัตยกรรมไทยโดยเฉพาะ ช่างฝีมือด้านงานประณีตศิลป์ งานฝีมือจากช่างแผนกแกะไม้และแผนกช่างเขียนของสถาบันสิริกิิติ์ ทำต้นแบบเพื่อนำไปหล่อโลหะ ช่างทุกคนทำงานเต็มที่ มาตั้งแต่หกโมงเช้า กินข้าว เจ็ดโมงก็เริ่มงาน เวลาแทบไม่ต้องคุยกัน เรื่องใจมาก่อน ทุกคนทำงานถวายในหลวง แต่อยู่ในเขตพระราชฐาน ก็จะเลิกกันประมาณสี่ทุ่ม ผมทำงานตามหน้างาน ให้คำชี้แนะ และผมก็ได้ความรู้จากช่าง ได้แลกเปลี่ยนกัน ชิ้นงานที่เด็กนักเรียนแกะไม้อันไหนไม่ดี เราก็ต้องให้เขาไปแก้ไขจนกว่าจะใช้ได้ ทุกชิ้นงานผ่านการกลั่นกรองจากอาจารย์ที่ดูแลแต่ละส่วน ซึ่งถ้าไม่ได้นักเรียน งานก็เป็นแค่ลายเส้น ผมใช้ชีวิตเกือบสองปีอยู่ตรงนี้ตลอด เมื่องานเสร็จ ทุกวันนี้เช้าผมยังต้องมาแวะที่นี่ก่อน ไม่งั้นทำอะไรไม่ถูก” อาจารย์อัครพลเล่าไปยิ้มไป


เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เริ่มก่อสร้างวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 แล้วเสร็จวันพฤหัสฯ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2559 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 847 วัน เป็นหนึ่งในศิลปกรรมชิ้นเอกอันทรงคุณค่าสำหรับจัดแสดงใน งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7 ซึ่ง ‘สถาบันสิริกิติ์’ กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เปิดงานเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ซึ่งตรงกับวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 1 วัน หรือเท่ากับ 25,571 วัน


งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป ระหว่างเวลา 10.00-16.30 น. ประชาชนทั่วไปบัตรราคา 150 บาท นักเรียน-นักศึกษา(แสดงบัตรประจำตัว) 75 บาท ปิดทุกวันจันทร์ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ วันรัฐธรรมนูญ (ปิดการจำหน่ายบัตร 16.00 น.) ผู้เข้าชมกรุณาแต่งกายสุภาพ สุภาพบุรุษห้ามใส่กางเกงขาสั้นและกางเกงยีนส์ สุภาพสตรีกรุณาสวมกระโปรงหรือผ้าซิ่น ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน สอบถามโทร.0 2283 9411 หรือ www.artsofthekingdom.com


“ค่าก่อสร้าง เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ทั้งหมดได้จากเงินค่าบัตรที่นักท่องเที่ยวเข้าชม ‘งานศิลป์แผ่นดิน’ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งไว้ตั้งแต่แรก ว่าสถาบันสิริกิติ์ไม่ให้ทำโรงงานขายของ ให้เราทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อต่อไปได้เก็บเงินค่าบัตรไว้เลี้ยงศิลปาชีพฯ เราก็คิดว่า ค่าบัตรจะเลี้ยงได้อย่างไร แต่วันนี้เราเห็นแล้ว พระองค์ท่านทรงมองไปไกลลิบกว่าเราเยอะเลย” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ กล่าว


สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงสร้างสรรค์งานน้อยใหญ่เป็นสมบัติชาติ เพื่อให้คนไทยเก็บกินชั่วลูกชั่วหลาน

หมายเหตุ : เฉพาะ ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ ไม่อนุญาตให้ขึ้นโถงชั้นบน แต่เปิดให้ประชาชนเดินชมได้โดยรอบโดยไม่เก็บค่าเข้าชม