สวธ.ติวเข้มศิลปะมวยไทยให้ครูพละ-แก้ขาดแคลน

สวธ.ติวเข้มศิลปะมวยไทยให้ครูพละ-แก้ขาดแคลน

สวธ.จัดอบรมศิลปะมวยไทยให้ครูสอนพลศึกษา แก้ปัญหาขาดแคลนครูมวยสอนเยาวชน หวังสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กล่าวเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปะมวยไทยเพื่อการป้องกันตัวให้แก่ครูผู้สอนพลศึกษา ว่าปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับได้กำหนดให้วิชาพลศึกษาอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาสุขศึกษา-พลศึกษาและวิชามวยไทยถูกกำหนดให้เลือกเรียนไว้ในระดับชั้นม. 4-6โดยเนื้อหาวิชามวยไทยจะมุ่งสอนเกี่ยวกับวิชามวยไทยเพื่อการนันทนาการและมวยไทยเพื่อการแข่งขันเป็นอาชีพ

"ปัจจุบัน สถานศึกษาขาดแคลนครูผู้สอนมวยไทยเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีครูผู้สอนมวยไทยที่มีมาตรฐานเพียงพอและมีคุณค่า เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมวยไทยให้แก่เยาวชนของชาติในสถานศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้ตรงตามเป้าหมายและเต็มประสิทธิภาพ สวธ. จึงร่วมกับ เครือข่ายสถานศึกษาทั่วประเทศ ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอนวิชามวยไทยเพื่อการป้องกันตัวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อจะได้นำความรู้ความสามารถไปถ่ายทอดสู่ตัวเด็กนักเรียน รวมถึงเป็นการวางรากฐานในระบบการจัดการเรียนการสอนวิชามวยไทยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชา และเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้านศิลปะมวยไทยต่อไป" อธิบดี สวธ. กล่าว

ด้านพล.อ.ธันวาคม ทิพยจันทร์ ประธานพันธมิตรมวยไทย กล่าวตอนหนึ่งของการบรรยายเรื่อง ความสำคัญของการเรียนการสอนศิลปะมวยไทย ว่าการเรียนการสอนมวยไทยในปัจจุบันเป็นการเรียนเรื่องตำนานมวยไทย ซึ่งจะบอกแค่ท่าทางมวย ทั้งเรื่องของแม่ไม้มวยไทยต่างๆ แต่ไม่ได้สอนว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะรุกคู่ต่อสู้ ดังนั้น การเรียนต้องเรียนด้วยของจริง และตนมองว่าความสำคัญของการฝึกมวยไทย อยู่ที่ความเข้าใจไม่ใช่อยู่ที่การอบรม ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะเข้าใจในการนำแม่ไม้ต่างๆมาใช้ได้อย่างไร อีกสิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนจากมวยไทย คือเรื่องของวัฒนธรรม เพราะไม่มีสิ่งใดเหนือไปกว่าการบ่งบอกถึงความเป็นวัฒนธรรม นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2553 ที่มวยไทยได้ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งอีกประการหนึ่งที่ต้องสืบสานกันต่อ คือเรื่องของวัฒนธรรมแห่งการต่อสู้ วัฒนธรรมแห่งจิตใจ วัฒนธรรมแห่งการสำนึกในบุญคุณครู สำนึกในบุญคุณพ่อแม่ สำนึกในหมู่คณะ สำนึกในเพื่อนพ้อง ต้องไม่รังแกใคร ซึ่งนี่คือวัฒนธรรมแห่งการให้

"การส่งเสริมของภาครัฐหรือเอกชน ในเรื่องมวยไทยขณะนี้นั้น เกิดจากภาครัฐสนับสนุนงบประมาณเรื่องมวยไทยก็จริง แต่ส่งต่อให้กับคนไม่เข้าใจ หรือองค์กรที่ไม่มีความรู้เรื่องของมวยไทย แต่จะเป็นองค์กรที่ติดต่อต่างประเทศได้ จึงเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างธุรกิจตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ารัฐให้งบประมาณกับผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องมวยไทย และให้ไปจัดการหาผู้ที่เป็นมวยไทยจากต่างประเทศ เพื่อดึงมวยต่างประเทศเข้ามาชก ส่งผลให้เม็ดเงินไหลสู่ภายนอก อีกทั้งยังทำให้วัฒนธรรมของการชกมวยเปลี่ยนไป"ประธานพันธมิตรมวยไทย กล่าว

ขอบคุณภาพ www.culture.go.th