“Saturday School” โรงเรียนชีวิต เฉพาะวันหยุด
มวยไทย โยคะ การแสดง วิเคราะห์นิยาย สร้างแรงบันดาลใจ กับอีกหลายวิชา“ทักษะชีวิต”ที่ไม่มีสอนในโรงเรียนทั่วไป แต่มีให้สัมผัสที่ Saturday School
สาวน้อยหน้าหวาน ยิ้มต้อนรับผู้คน อยู่ในบูธ “Saturday School” โครงการการเรียนการสอนของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในงาน คนไทยขอมือหน่อย 2016 กิจกรรมตลาดนัดอาสาสมัครระดับประเทศ ที่จัดไปเมื่อเดือนก่อน
หลังการทักทายถึงได้รู้ว่า พวกเธอไม่ใช่แค่พริตตี้ประจำบูธ แต่คือเหล่า “ครูอาสา” ของโรงเรียนเฉพาะวันเสาร์ และวิชาที่สอนก็ไม่ธรรมดาเสียด้วย..คนหนึ่งสอนโยคะ อีกคนสอนมวยไทย
“Saturday School เริ่มต้นจากการที่ ยีราฟ (สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร) ซึ่งเป็นคุณครูของโครงการ Teach For Thailand มาเป็นครูสอนเลขในโรงเรียนขยายโอกาสของกทม. ตอนที่สอนเขารู้สึกว่าเวลาที่มีเพื่อที่จะสอนนักเรียนให้เก่งนั้นไม่เพียงพอ เพราะแต่ละอาทิตย์เด็กๆ ต้องเรียนหลายวิชา แล้วแต่ละวิชาก็มีเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่ออาทิตย์เท่านั้น เลยเลือกที่จะสอนน้องๆ เพิ่มในวันเสาร์”
“ดอร่า-นันทินี แซ่โฮ” Co-Director แห่ง Saturday School บอกเล่าที่มาของโรงเรียนวันเสาร์ ที่เธอและคุณครูยีราฟได้ร่วมกันปลุกปั้นขึ้น โดยแต่เดิมนั้นเน้นสอนในรายวิชาทั่วไป ทว่าภายหลังพบปัญหาว่า เด็กๆ ไม่เข้าใจว่าการเรียนทั้งหมดนี้จะมีผลต่ออนาคตของพวกเขาอย่างไร เด็กส่วนหนึ่งขาดแรงบันดาลใจ ขณะส่วนใหญ่ก็มองไม่เห็นว่าในตลาดงานนั้นยังมีอาชีพอีกหลากหลาย ไม่ใช่แค่อาชีพของพ่อแม่หรือของคนใกล้ตัวพวกเขาเท่านั้น เลยเกิดแนวคิดที่จะให้เด็กกลุ่มนี้ได้ขยายกรอบความรู้เรื่องอนาคตของตัวเอง และเสริมสร้างความมั่นใจในการเลือกเส้นทางชีวิตได้มากขึ้น
นั่นคือที่มาของพันธกิจ Saturday School ที่มุ่งให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้น ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และเชื่อว่าตัวเองจะมีอนาคตที่ดีขึ้นได้ ผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing) กับห้องเรียนสุดพิเศษที่เปิดสอนทุกวันเสาร์ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 9.30-12.00 น.
“เราเริ่มหาอาสาสมัครในวงที่ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะให้อาสามาแชร์อาชีพของตัวเองให้กับน้องๆ นอกจากนี้ ยังให้พี่ๆ อาสาได้สอนน้องในสิ่งที่พวกเขาชอบด้วย เพราะหลายคน ก็ไม่ได้ทำงานในด้านที่ตัวเองชอบ แต่ได้ทำงานในสายที่ถนัดมากกว่า เมื่อถนัดแต่ไม่ได้ชอบ การทำงานในแต่ละวันของกลุ่มแรงงานในประเทศนี้จึงไม่ได้เกิดผลลัพธ์สูงสุด”
เธอร่วมแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงานไทย ซึ่งบ่อยครั้งที่ “ความชอบ” และ “ความถนัด” มักจะเดินสวนทางกัน Saturday School เลยมุ่งให้อาสาได้สอนในสิ่งที่ตัวเองชอบและเกิดประโยชน์เป็นสำคัญ
“อาจารย์ที่สอนเป็นอาสาทั้งหมด ส่วนจะสอนอะไรนั้น ก็ให้เอาสิ่งที่อาสาชอบเป็นหลักก่อน เพราะในที่สุดแล้วถ้าเราเก่งอะไรแต่เราไม่ได้ชอบมัน ความรู้สึกที่อยากถ่ายทอด อยากจะสอน ก็คงไม่ได้มากเท่ากับสิ่งที่เราชอบ”
เธอยกตัวอย่างตัวเองที่เรียนมาทางด้านการบัญชี ถ้ามองในมุมของคนทั่วไป สิ่งที่เธอน่าจะถ่ายทอดได้ดีสุดก็คือ “วิชาบัญชี” จริงไหม? แต่เธอว่า เอาเข้าจริงกลับไม่ได้อินเรื่องบัญชีเลย ถ้าสอนน้องๆ ไป ก็คงจะน่าเบื่อ และคงไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกมีส่วนร่วมได้ เธอเลยเลือกเป็นครูอาสาสอนวิชา “เทควันโด” ที่ชอบ
แล้วทำอย่างไรจะให้ความชอบของครู ก่อเกิด “ผลลัพธ์ที่ดี” กับผู้เรียนได้ ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็เอามาสอน Saturday School เลยเริ่มจากให้อาสาเขียนแผนการสอน (Lesson Plan) ของตัวเอง ส่งให้กับทีมงานช่วยพิจารณา ผ่านทางเว็บไซต์ www.saturday-school.com เพื่อที่จะดูว่าสิ่งที่อาสาจะสอนนั้น มีผลที่ดีกับน้องๆ ไหม เธอว่า จะได้ “win-win” กันทั้งสองฝ่าย คือเด็กได้อะไรจากการเรียน ขณะอาสาก็ได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบไปพร้อมกันด้วย
“สิ่งที่อาสาสมัครจะได้รับนอกจากทักษะการสอน คือคุณค่าทางจิตใจที่ไม่สามารถประเมินค่าได้” เธอว่าอย่างนั้น
“เอมมี่-วรรณภาลักษณ์ บุญสกุลเจริญ” ครูสาวหน้าหวาน อดีตวีเจที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาด้านสังคมศาสตร์มาสดๆ ร้อนๆ เธอมาเป็นครูอาสาของ Saturday School เพราะสนใจงานด้านสังคมและเรื่องการศึกษาเป็นทุนเดิม เธอเล่าว่าสิ่งที่ฝังใจมาตลอด คือความคิดที่ว่า การศึกษาไทยน่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้ และเธอเองก็อยากมีส่วนร่วมด้วย
“การศึกษาเป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตใครบางคนได้ เอมมี่โชคดีที่มีการศึกษาดีมาตลอด เพราะมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยสนับสนุน เลยคิดว่า ถ้าพอมีเวลา หรือมีกำลังที่จะช่วยน้องๆ ได้ ก็อยากจะช่วยพวกเขา”
เธอเลือกสอนโยคะ กับภาษาอังกฤษที่ทั้งชอบและถนัด ซึ่งการได้เจอกับน้องๆ ทำให้เธอกล้ายืนยันว่า เด็กไทยมีศักยภาพมาก เพียงแต่ไม่ค่อยเอาออกมาใช้เท่านั้น และนั่นคือพันธกิจสำคัญที่ทั้งเธอและเหล่าครูอาสาจะได้มาสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขามีศักยภาพ และมีโอกาสที่จะทำอะไรที่ดีได้
“ทักษะชีวิตสำคัญมาก บางทีหลายคนรับมือกับปัญหาในชีวิตไม่ค่อยได้ ง่ายๆ คนที่เรียนเก่ง ก็มีเพื่อนน้อย เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ หรือบางคนสอบตก เกรดตก ก็ฆ่าตัวตาย เลยมองว่า ถ้าเขาได้โอกาสฝึกฝนทักษะชีวิต ก็น่าจะทำให้มีความสุขมากขึ้นกว่านี้”
สาวสวยอีกคนเธอเป็นนักแสดง “แคท-อิงครัตน์ จรัสวงศ์โกศล” ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หลักสูตรอินเตอร์มาได้ 1 ปี เธอชอบงานอาสาสมัคร และทำงานอาสามามากระหว่างเรียน หนึ่งความสนใจที่ไม่ต่างจากน้องเอมมี่ก็คือเรื่องการศึกษา
“แคทเรียนโรงเรียนไทยมาตลอด เรียนโรงเรียนที่มีเด็กเนิร์ดเยอะด้วย อย่าง เตรียมอุดมฯ แล้วก็มาต่อจุฬาฯ รู้สึกว่าทุกคนตั้งใจเรียนมาก เอาแต่เรียนจริงๆ ทั้งที่มองว่าเขายังทำอะไรได้มากกว่านั้น เพราะบางทีการเก่งแต่ในห้องเรียนอย่างเดียวไม่พอ นอกห้องเรียนก็สำคัญ เลยคิดว่า น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนความคิดนี้ให้กับน้องๆ ได้”
เธอเลยสมัครมาเป็นครูอาสาของ Saturday School เป็นนักแสดงแต่ไม่เลือกสอนการแสดง ทว่าเลือกสอนมวยไทย กีฬาที่เธอชอบ จากคนเคยขาดความมั่นใจ คิดว่าถ่ายทอดอะไรไม่เป็น คงสอนใครไม่ได้ แต่หลังจากได้มาเจอน้องๆ และได้เห็นความตั้งใจของผู้สอนด้วยกัน กลับเป็นพลังเติมความมั่นใจให้ครูสมัครเล่นอย่างเธอ
“รู้สึกว่าทุกคนตั้งใจมาก และตัวเราเองถ้าตั้งใจจริงก็คงทำได้เช่นกัน เลยเหมือนเป็นแรงผลักดัน จากที่เคยบอกตัวเองมาตลอดว่า ไม่อยากทำ ทำไม่ได้หรอก เลยเปลี่ยนความคิดว่า ทำไมไม่พยายามทำให้ได้ล่ะ ทำเพื่อคนอื่นเป็นเรื่องที่ดี ทำไมไม่พยายาม คงไม่ยากเกินไปหรอก หลังจากนั้นก็เลยพยายามมากขึ้น”
ครูแคทบอกกับเรา ถึงความตั้งใจ ที่จะขวนขวายศึกษา และหาวิธีมาถ่ายทอดทักษะชีวิตให้กับน้องๆ
Saturday School เปิดมาได้ประมาณปีครึ่ง โดยเริ่มต้นทำงานกับ 2 โรงเรียน ใน กทม. และอีก 1 โรงเรียนในเชียงใหม่ สอนเด็กในระดับ ม.1-ม.2 ไปแล้วกว่า 100 คน และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างติดต่อโรงเรียนขยายโอกาสอื่นๆ เพื่อที่จะขยายผลการทำงานในวงกว้างขึ้น โดยยังพร้อมเปิดรับครูอาสาผ่านช่องทางเว็บไซต์ (www.saturday-school.com) และ Facebook / SaturdaySchoolThailand ให้ได้ร่วมเปลี่ยนโลกการศึกษาไปพร้อมกับพวกเขา
วันนี้ยังเป็นแค่โครงการ แต่อนาคตพวกเขาก็หวังให้ Saturday School เป็นกิจการเพื่อสังคมโดยสมบูรณ์ ดอร่าบอกว่า นอกจากทำกับเด็กในโรงเรียนขยายโอกาส ยังหวังที่จะขยายไปยังเด็กในโรงเรียนทั่วไปด้วย เพราะเรื่อง “ทักษะชีวิต” ยังเป็นโจทย์สำคัญของเด็กไทย ขณะที่เป้าหมายระยะไกล เธอหวังว่า Saturday School จะกลายเป็นโรงเรียนที่มีรายได้ แล้วโรงเรียนหลักแห่งนี้ ก็จะหล่อเลี้ยงโรงเรียนตามต่างจังหวัด เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนฟรี เด็กที่มีกำลังก็จ่าย
และนั่นจะตอบโจทย์ “ความยั่งยืน” ของโรงเรียนชีวิตแห่งนี้ในอนาคต