'สถาบันวานิตา' จิ๊กซอว์ธุรกิจหญิงปลายด้ามขวาน

'สถาบันวานิตา' จิ๊กซอว์ธุรกิจหญิงปลายด้ามขวาน

สถาบันวานิตาฯ คือศูนย์บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมของสตรีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะช่วยปลดล็อดชีวิตและธุรกิจของสตรีปลายด้ามขวาน

“วานิตา” แปลว่า “ผู้หญิง” ในภาษามาลายู

คำเรียกที่คุ้นเคยดีของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ในวันนี้ชื่อเดียวกัน ถูกนำมาตั้งเป็นศูนย์บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมของสตรีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในชื่อ “สถาบันวานิตาเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน” ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ OXFAM GB ประเทศไทย พวกเขาลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อทำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสตรีปลายด้ามขวาน

“ที่เลือกที่นี่ เพราะอย่างที่ทราบว่า มันมีเรื่องของความไม่มั่นคงปลอดภัย มีเรื่องความรุนแรงซึ่งเรื้อรังมากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งทำให้เกิดผู้เสียชีวิตมากมาย ที่สำคัญคือเกิดหญิงม่าย จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันตัวเลขน่าจะเกือบ 3 พันคนไปแล้ว”

“จอมขวัญ ขวัญยืน” เจ้าหน้าที่โครงการภาคเอกชนและการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน OXFAM GB ผู้ดูแลโครงการ จัดตั้งสถาบันวานิตาเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน บอกเล่าสภาพปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อผู้หญิงไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อม เมื่อต้องพลิกบทบาทมาเป็นผู้นำครอบครัว ต้องหารายได้จุนเจือสมาชิกในบ้าน เลยกลายเป็นความยากลำบากของหญิงม่ายเหล่านี้

3 ปีก่อน OXFAM เลยร่วมกับพันธมิตรอย่าง ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ (ศวชต.) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนเริ่มต้นจาก “ยูนิลีเวอร์” ร่วมกันทำโครงการเพื่อเพิ่มภาวะผู้นำทางเศรษฐกิจของผู้หญิง

โครงการน้ำดี สามารถสนับสนุนกลุ่มอาชีพสตรีขึ้นมาได้ 40 กลุ่ม พร้อมผลักดันพี่เลี้ยงที่ปรึกษาธุรกิจ ซึ่งเป็นสตรีในท้องถิ่น ขึ้นมาอีก 25 ชีวิต คอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานหน่วยงานสนับสนุนและกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่
หลังทำงานไปได้ 2 ปี พวกเขาเริ่มถอดบทเรียนจากการทำงาน จนพบช่องว่างที่ยังเป็นปัญหา ไม่ว่าจะความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ ที่แต่ละกลุ่มมีความต้องการไม่เหมือนกัน อย่าง กลุ่มผู้ผลิต ที่ต้องการทำหน้าที่แค่ผลิตและขาย ไม่ได้อยากไปวุ่นวายกับเรื่องการตลาดมากนัก กับอีกกลุ่ม ที่มีความเข้มแข็ง และพร้อมขยายตัวไปสู่การเป็นเอสเอ็มอี

“กลุ่มนี้ชัดเจนว่า เขามีความต้องการเฉพาะ และผลิตภัณฑ์ของเขาจะไม่ใช่แค่ขายในพื้นที่อีกต่อไป เขาต้องคิดต่อว่า จะปรับรูปแบบอย่างไรเพื่อให้เหมาะกับตลาดในเมือง หรือต่างประเทศมากขึ้น อีกประเด็นที่สำคัญคือ กลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีทุนให้ไปต่อ เพราะหน่วยงานส่วนใหญ่มักจะช่วยผู้หญิงในกลุ่มที่เตาะแตะก่อน”

อยากโต อยากขยาย แต่จะทำอย่างไรเมื่อไม่มีทุน แม้มีออเดอร์มา ก็ไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบไปผลิตสนองตลาด

ปัญหาต่อมาคือ หลายหน่วยงานในพื้นที่ยังทำงานซ้ำซ้อนกัน ขณะที่ตลาดจากข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้า เจ้าของช่องทางการจัดจำหน่าย ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในพื้นที่ 3 จังหวัดนัก ไม่รู้ว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรดีๆ ทั้งนี้เพราะขาดตัวเชื่อมไปยังกลุ่มผู้ผลิต ขณะผู้ผลิตเองก็ขาดการเชื่อมต่อกับตลาดข้างนอกด้วย เลยต้องหาทางออกมาอุดช่องว่างนี้ 

“เราจะทำหน้าที่เป็นฟันเฟือง โดยจะไม่ไปทำงานซ้ำซ้อนกับคนอื่น แต่จะเข้าไปเป็นฟันเฟืองช่วยหมุนอะไรที่ติดขัดอยู่แล้ว ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้” เธอบอกพันธกิจ 

นั่นคือที่มาของการจัดตั้ง “สถาบันวานิตาเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน” ขึ้นโดยมี 4 ภารกิจหลัก นั่นคือ อบรมส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้กับกลุ่มอาชีพสตรีใน 3 จังหวัด โดยไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่จะไปเชื่อมกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาเติมเต็มภูมิรู้ให้ สอง ใส่ทักษะความเป็น “ผู้นำหญิง” ที่นอกจากจะค้าขายเก่ง ยังต้องสามารถลุกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ด้วย

“สิ่งที่คิดว่าสำคัญ คือการที่ผู้หญิงกล้าลุกมาบอกว่า ตัวเองต้องการอะไร และอะไรคือสิ่งที่เขาอยากจะช่วยให้ชุมชนของตัวเองพัฒนาไปได้” เธอย้ำ

ภารกิจต่อมาคือ การเชื่อมตลาดให้กับกลุ่มอาชีพในพื้นที่ (Market Linkage) โดยจะทำแพลทฟอร์มเหมือนแคตตาล็อกออนไลน์ เป็นพื้นที่กลางจัดแสดงสินค้าของชุมชน ซึ่งใครสนใจอยากรู้จัก 3 จังหวัดให้มากขึ้น ก็ไปดูได้ที่ช่องทางนี้

“เราจะช่วยเขาสร้างเรื่องราวขึ้นมา แต่เป็นเรื่องจริงของเขานี่แหล่ะ ขอย้ำว่าเราจะไม่สร้างเรื่องราวที่น่าสงสาร เราจะไม่ยอมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเด็ดขาด เพราะสิ่งที่เราทำคือ พลังของผู้หญิง ต่อให้เขาจะเป็นม่าย หรือมีชีวิตที่น่าสงสารอย่างไร แต่สินค้าต้องขายได้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าคนซื้อด้วยความน่าสงสาร เขาจะซื้อครั้งเดียว แบบนั้นไม่ยืนยาว”

ภารกิจต่อมาคือ สร้างเครือข่ายคนทำงานร่วมกัน โดยดึงอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ผ่านความร่วมมือของเหล่าพันธมิตรเพื่อสังคม มาช่วยเติมอาวุธทางปัญญาให้กับสตรีเหล่านี้ รวมถึงใช้พลังของ Local Agency ตัวแทนในท้องถิ่นที่ทำงานคล้ายๆ กัน มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหาทางทำงานเพื่อลดความซ้ำซ้อน

ปิดท้ายกับภารกิจเชื่อมสู่ “เงินทุน” โดยในสถาบันวานิตาฯ จะมี “กองทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาอาชีพ” (Working Capital Fund) ที่จะให้กับกลุ่มผู้หญิงระยะกลางซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นเป็นเอสเอ็มอี โดยสามารถใช้เงินตรงนี้ ซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ หรือนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถตอบสนองตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้

นั่นคือที่มาของการนำตัวเองเข้าร่วมโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ เพื่อขอการสนับสนุนเงินทุนประมาณ 11 ล้านบาท ในเวลา 3 ปี โดยจะนำไปจัดตั้งสถาบันวานิตา ที่ประมาณ 5 ล้านบาท และใช้เป็นทุนตั้งต้นในกองทุนหมุนเวียนฯ อีก ประมาณ 6 ล้านบาท และขอสนับสนุนด้าน องค์ความรู้ จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาทำงานร่วมกับพวกเขา

“ในอนาคตสถาบันวานิตา ต้องเลี้ยงตัวเองได้ เพราะองค์กรอย่างเราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค วันหนึ่งเราต้องถอยกลับ แล้วเขาจะอยู่กันอย่างไร ฉะนั้นต้องสร้างโมเดลที่ยั่งยืนเพื่อให้เขาอยู่ได้ และเป็นกิจการเพื่อสังคมได้อย่างเต็มตัวในอนาคต”

เธอบอกว่า สถาบันวานิตาจะเป็นสัญลักษณ์ให้คนเมือง ยังไม่ลืมคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนได้ โดยจะคอยเชื่อมโยงความช่วยเหลือและกำลังใจไปสู่คนในพื้นที่ สำหรับกลุ่มผู้หญิง เธอว่า การทำอาชีพไม่ใช่แค่รายได้ แต่คือพลัง ที่ได้มาร่วมกันทำงาน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้มีกำลังใจ และมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง

“ตอนลงพื้นที่ได้เจอกับ เจ๊ะรัตนา สามีเจ๊ะเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เจ๊ะช๊อกมาก เก็บตัวอยู่ในบ้านมา 3 ปี จนวันหนึ่งด้วยความช่วยเหลือจากข้างนอก เจ๊ะค่อยๆ ฟื้นสภาพร่างกายและจิตใจขึ้นมา เจ๊ะเอาเสื้อผ้าของสามีมาตัดกระเป๋า แล้วลองไปขาย ตอนนั้นมีแต่คนว่าเจ๊ะบ้า ใครกันจะซื้อ แต่ปรากฏเจ๊ะขายได้ จากนั้นเลยเป็นแรงบันดาลใจ เจ๊ะจึงไปรวมกลุ่มตั้งเป็นกลุ่มอามานขึ้นมา และสู้จนยืนด้วยตัวเองได้ วันนี้เจ๊ะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่ลงไปช่วยคนอื่น ไปให้กำลังใจคนอื่นต่อไป”

เธอบอกเล่าความประทับใจ ผลตอบแทนจากการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเธอเองก็เคยทำงานภาคเอกชนมาก่อน แต่รู้สึกไม่ค่อยชอบ เธอว่าทำเอกชน เหมือนทำกำไรให้คนๆ เดียว หรือตระกูลๆ เดียว เราอาจเหนื่อย แต่ผลกระทบจากความเหนื่อยของเรา ก็ตกไปถึงคนแค่ไม่กี่คน หากทว่าการทำเพื่อสังคม ผลของมันไปได้มากกว่านั้น

“เวลาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิง ก็รู้สึกถึงพลังที่กลับคืนมา รู้สึกว่าเราอยู่ได้ด้วยพลังนี้ มันตอบตัวเองได้ว่า นี่คือที่เราต้องเหนื่อยอยู่ทุกวัน เราทำงาน เราตั้งใจ มันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง และเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น”

หนึ่งผู้หญิงเก่งที่ลุกมาทำเพื่อกลุ่มผู้หญิง โดยปลุกปั้นสถาบันวานิตา เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีปลายด้ามขวาน