นักวิชาการชี้กฏหมายบิดผัน ใช้อำนาจรัฐริดรอนสิทธิประชาชน

นักวิชาการชี้กฏหมายบิดผัน ใช้อำนาจรัฐริดรอนสิทธิประชาชน

"เกษียร"ระบุ เกิดการบิดผันสิทธิอำนาจในกฎหมายสมัยใหม่ แทนที่จะใช้จำกัดสิทธิของรัฐ แต่กลับให้อำนาจรัฐริดรอนสิทธิประชาชน

ที่ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “กฎหมายคืออะไร ในมุมมอง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” โดยนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายไม่อาจจะเป็นคำสั่งของรัฐโดดๆ ขึ้นมาได้ หากจะต้องมีเหตุผลมารองรับสนับสนุน อย่างในสังคมโบราณที่มักจพนำหลักเหนือธรรมชาติ ศีลธรรม ธรรมะ เพื่ออ้างอิงกฎหมาย หรือบางแนวคิดก็ระบุว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐ และมีบทลงโทษควบคู่ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ขอคนหมู่มาก และมีอีกหลายแนวคิด แต่โดยสรุปแล้วกฎหมายจะไม่สามารถเป็นแต่เพียงคำสั่งรัฐที่มาแบบเลื่อนลอย หากจะต้องมีเงื่อนไขสนับสนุนด้วย 

“คำสั่งที่จะเป็นกฎหมายได้จะต้องมี 4 องค์ประกอบคือ 1.การยินยอมของผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย 2.กฎหมายจะต้องมีความชัดเจน และกระชับ อีกทั้งยังต้องใช้วิจารณญาณของผู้ใช้กฎหมายให้น้อยที่สุด 3.กฎหมายจะต้องถูกบังคับใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ และ4.คำสั่งที่จะเป็นกฎหมายได้ จะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่ยุติธรรมจริงๆ” 

ทั้งนี้นายนิธิ กล่าวอีกว่า ในภาวะระบอบการปกครองที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำสั่งมากกว่า กฎหมายนั้น สิ่งที่เราทำได้คือการหวังว่าภาวะดังกล่าวจะเป็นภาวะเพียงชั่วคราว อีกทั้งตระหนักว่าภาวะดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เคยมีมาแล้ว หากเรามีโอกาสสิ่งที่ต้องทำก็คือปฏิรูปกฎหมาย ไม่ใช่แค่เพียงตัวอักษร หากจะต้องคำนึงถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเช่นนศาล อัยการ ตำรวจ เป็นต้น 

ขณะที่นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ากฎหมายมีหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐ และตัวกฎหมายเองจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนด้วย โดยจะมีอยู่ 2 ปัจจัยคือหลักแนวคิดทางเสรีนิยม ชีวิตเป็นของปักเจกบุคคล และความสมเหตุสมผลของระบบกฎหมาย ในฐานะเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายสมัยใหม่ มีเพื่อควบคุมอำนาจรัฐให้คงที่และมีขอบเขต ป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือถ้าจะมีการจำกัดสิทธิของประชาชน ก็จะต้องผ่านการออกกฎหมายจาก ส.ส. ผู้แทนของประชาชน ทั้งนี้ตัวองค์กรที่คุมเส้นแบ่งอำนาจรัฐกับสิทธิอย่าง ศาล ตุลาการนั้น จะต้องมีความเป็นอิสระไม่เลือกปฏิบัติด้วย ทั้งนี้กฎหมายจะต้องบไร้ช่องโหว่ มีความเป็นกลาง คาดเดาผลล่วงหน้าได้ ไม่ยึดติดบุคคลเชิงรูปแบบ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และต้องไม่คำนึงเรื่องส่วนตัว 

นายเกษียร กล่าวอีกว่า ภาพที่เราเห็นในปัจจุบันคือ เกิดการบิดผันสิทธิอำนาจในกฎหมายสมัยใหม่ กล่าวคือแทนที่จะใช้กฎหมายจำกัดสิทธิของรัฐ แต่กลับให้อำนาจรัฐริดรอนสิทธิประชาชน ซึ่งหมายถึงเป็นกฎหมายที่ขึ้นอยู่กับอ่อนไหวของผู้ใช้อำนาจ ดังนั้นจึงขอเสอนว่า กรอบคิดกฎหมายใหม่นั้นจะต้องให้ความชอบธรรมกับรัฐ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการยอมรับถึงจะมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตนเห็นว่าข้อเสนอแนะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่างในข้อ 7 ที่ระบุว่า การใช้กำลังทหารโดยสุจริต เพื่อความมั่นคงของรัฐทั้งจากภายในและภายนอก ราชอาณาจักรไม่ต้องรับโทษทางอาญา และทางปกครองนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักความชอบธรรม และความสมเหตุสมผลของกฎหมาย 

ด้านนายสมภาร พรมทา อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าทางปรัชญากฎหมายคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จากการศึกษาพบว่าสำนักกฎหมายบางสำนัก กล่าวว่าเวลาพิจารณากฎหมายให้พยายามมองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากที่สุด ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมายที่ประกาศใช้อยู่นั้น จะต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นเป็นของจริงมีผลต่อชีวีตเราจริงๆ แต่การมีกฎหมายก็ทำให้ชีวิตมนุษย์ปกติสุข เพราะสถานะของกฎหมายมีความยิ่งใหญ่มาก ส่วนสภาพการที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็กลายเป็นกฎหมายไปแล้ว ทั้งนี้ผู้มีความรู้ทางนิติศาสตร์ ต้องมีความระมัดระวังที่จะเข้าไปรับใช้อำนาจรัฐ โดยต้องพิจารณาว่าเขามีที่มาอย่างไร 

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวลาที่มองกฎหมายอาจมองได้หลากหลายมิติ แต่มุมมองในทางนิติศาสตร์ กฎหมายคือ กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่เป็นนามธรรม และใช้บังคับเป็นการทั่วไป และมีกระบวนการในการบังคับใช้ แต่คำถามคือกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักยุติธรรมนั้น ควรเป็นกฎหมายหรือไม่ คำสั่งของคณะยึดอำนาจถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่เราต้องพิจารณาก็คือการยึดอำนาจนั้นสำเร็จเกิดประสิทธิภาพขึ้นมาตามความเป็นจริงหรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเชื่อฟังคำสั่งเท่ากับก่อตั้งอำนาจให้คณะรัฐประหารออกกฎเกณฑ์อื่นๆได้อีก จึงถือว่าเป็นกฎหมายแล้วนอกจากนี้ปัญหาใหญ่ของคณะรัฐประหารจะอยู่ที่ตอนลงจากอำนาจ เมื่อพ้นจากอำนาจแล้ว ปัญหาก็อาจจะถูกรื้อฟื้นกลับมาได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกันตรขอเตือนว่าคนที่ครองอำนาจอยู่อย่าเชื่อนักกฎหมายมากนัก เพราะตอนนี้เขียนอะไรก็เขียนได้