ประกาศใช้กม.แก้ไขเพิ่มลงโทษผู้ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก

ประกาศใช้กม.แก้ไขเพิ่มลงโทษผู้ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก

เลขาธิการสำนักกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ระบุ กฎหมายอาญาแก้ไขเพิ่มเติมลงโทษผู้ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก ประกาศใช้แล้ว คนมี-ส่งต่อ-ทำเพื่อการค้า

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ได้พิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2558 ความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ซึ่งได้ประกาศการใช้เป็นกฎหมาย ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกฎหมายจะมีผลใช้บังคับภายใน 90 วันนับจากวันประกาศ คือ เดือน ธ.ค.58 นี้ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายนี้ ได้กำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะกับผู้ที่กระทำผิดในลักษณณะมีไว้ ส่งต่อและเพื่อประโยชน์ทางการค้า

นายสราวุธ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ มีที่มาจากเหตุผลว่าปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กได้ถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและต้องมีการออกกฎหมายมารองรับโดยมีการร่างบทบัญญัติดังกล่าว ให้เป็นกฎหมายอาญา มาตรา 287/1และ 287/2ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดว่า ผู้ใด มีการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก โดยเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

โดยความหมายของสื่อลามกนั้น ได้ให้นิยามไว้ใน มาตรา 1 (17) บัญญัติว่า “ สื่อลามกอนาจารเด็ก ” หมายความว่าวัตถุ หรือสิ่งแสดง ให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปีโดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจารไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยรตร์ แถบบันทึกเสียงแถบบันทึกภาพ หรือในรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันและให้หมายความ รวมถึงวัตถุต่างๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ หรือในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ที่สามารถแสดงผลหรือเข้าใจได้ 

“ ดังนั้นคนที่มีสื่อลามากอนาจารโดยครอบครอง ไมว่าจะรับมาทางไลน์จากเพื่อน เมื่อเปิดดูแล้วมีเจตนาแสวงหาเพื่อประโยชน์ในทางเพศของตนก็ถือว่ามีเจตนาพิเศษ ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ต้องการให้มีการละเมิดทางเพศต่อเด็ก ” นายสราวุธ กล่าวและว่า การมีคลิป มีภาพ เสียงเหล่านี้ก่อให้เกิดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก 

สำหรับผู้ที่ส่งต่อสื่อลามกอนาจาร นายสราวุธเลขาธิการฯ เนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า กฎหมายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 287/1

ส่วนผู้ที่ทำไปเพื่อประสงค์แห่งการค้า ก็จะผิดตาม มาตรา 287/2 ซึ่งไมว่าจะแจกจ่าย อวดอ้างแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าในราชอนาจักร พาไปหรือทำให้แพร่หลาย หรือประกอบการค้า หรือเพื่อจะช่วยทำให้แพร่หลาย จะมีโทษจำคุก 3 - 10 ปี ปรับ 60,000 - 200,000 บาทจะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ มีอัตราโทษสูง ดังนั้น ใครได้รับภาพในทำนองดังกล่าว แล้วเปิดดูแล้วเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศ ก็มีความผิด หรือถ้าดูแล้วส่งต่อก็มีความผิดรับโทษหนักเช่นกัน ตามความหมายการครอบครองที่บัญญัติในมาตรา 287/1 ซึ่งแม้มีไว้ในเครื่องโทรศัพท์แล้วเก็บไว้ดู ก็ถือว่ามีเจตนาพิเศษทั้งสิ้น จึงขอเตือนไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับภาพสื่อลามกอนาจารเด็ก ดูแล้วส่งต่อจ่ายแจกก็ผิด ซึ่งกฎหมายได้ประกาศใช้แล้ว 

ขณะที่นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ขณะเดียวกันผู้เสียหายในควมผิดนี้ คือเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กฎหมายนี้ถือเป็นหลักการสากล ที่ให้การคุ้มครองเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นใครก็ตามที่มีสื่อลามกอนาจารเด็กในครอบครอง ก็มีความผิดโดยไม่จำเป็นต้องมีเด็ก หรือใครคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่เปรียบเหมือนมียาเสพติดไว้ในครอบครองเลยแค่มีก็ผิดแล้ว