ก้าวสู่ 99 ปี ไตรรงค์ ธงชาติไทย

ก้าวสู่ 99 ปี ไตรรงค์ ธงชาติไทย

กว่าจะมีธงไตรรงค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ได้จารึกอะไรไว้บ้าง

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2558 เป็นวันครบรอบ 98 ปี และเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นการย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 99 ของการประกาศใช้ “ธงไตรรงค์” เป็นธงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติเอกราชของไทย แต่กว่าจะมาเป็นธงไตรรงค์อย่างที่ปรากฏทุกวันนี้ มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย

กว่าจะเป็น ธงชาติไทย

ตั้งแต่อดีตกาลจนกระทั่งสิ้นสุดสมัยกรุงศรีอยุธยา สยามไม่เคยมีธรรมเนียมการใช้ “ธง” เป็นสัญลักษณ์ของชาติมาก่อน จุดเริ่มต้นของการใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความแตกต่างจากชนชาติอื่นๆ เพิ่งจะมาเริ่มมีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง

พฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย อธิบายว่า จุดเริ่มต้นการใช้ “ธง” เป็นสัญลักษณ์ของ “ชาติ” ในสยามย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อสยามเริ่มมีการใช้ธงชาติเป็นครั้งแรกบนเรือหลวง โดยมีลักษณะเป็นรูปวงจักรสีขาวบนผ้าพื้นแดง เพื่อแสดงถึงการเป็นเรือของพระเจ้าแผ่นดิน เหตุที่ใช้รูปจักรเป็นสัญลักษณ์ ก็เนื่องมาจากพระนามแห่งราชวงศ์จักรีนั่นเอง และด้วยเหตุที่สยามในสมัยนั้นปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด ธงวงจักรสีขาวบนพื้นแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์จึงเปรียบเหมือนเป็นธงชาติสยามไปโดยปริยาย ส่วนเรือของราษฎรทั่วไปใช้ธงสีแดงเกลี้ยง เพื่อบ่งบอกว่า เป็นเรือของราษฎรชาวสยาม

ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในแผ่นดินสยาม คือ มีการคล้องได้ช้างเผือก ซึ่งถือเป็นสิ่งมงคลคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยได้มาถึง 3 ช้างได้แก่ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา พระยาเศวตคชลักษณ์ พระองค์จึงทรงให้เพิ่มรูปช้างเผือกกลางวงจักรบนธงพื้นสีแดง เป็นธงชาติสยามสำหรับใช้บนเรือหลวงและใช้ต่อมาจนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3

เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามได้มีการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น มีเรือสินค้าจากนานาชาติเดินทางเข้ามาค้าขาย เป็นเหตุให้เรือของราษฎรสยามทั่วไปที่ล่องค้าขาย จำเป็นต้องมีธงที่มีเอกลักษณ์แสดงว่าเป็นเรือของชาวสยามให้ชัดเจนและแตกต่างจากเรือของชาติอื่นๆ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้นำภาพวงจักรที่อยู่บนธงออก คงเหลือเพียงรูปช้างเผือกไว้และประกาศให้เป็นธงชาติสำหรับราษฎรใช้ได้ด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธงช้างเผือก ธงชาติสยาม”

ธงสีแดงมีรูปช้างเผือกยืนอยู่ตรงกลางได้ใช้เป็นธงชาติสยามต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธงชาติอีกถึง 2ครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นธงไตรรงค์ ธงชาติไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“ขึ้นปีพ.ศ.2459 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เกิดอุทกภัยใหญ่ พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนราษฎรที่ประสบอุทกภัย ชาวบ้านรู้ข่าวพระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ มาก็พยายามหาธงชาติมาประดับบ้านเรือนเพื่อรับเสด็จ และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณวัดเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านที่ประดับธงช้าง เพื่อรับเสด็จฯ แต่ด้วยความรีบร้อนหรือพลั้งเผลอ จึงได้ติดธงกลับหัว เท้าช้างชี้ฟ้า ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าช้างเผือกเป็นสัตว์มงคลและเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม การประดับธงช้างเผือกกลับหัวทำให้ดูคล้ายกับช้างเผือกล้มซึ่งไม่เป็นมงคล พระองค์จึงตัดสินพระทัยยุติการใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก”

ขณะที่เสด็จกลับพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรจำนวนมากที่ไม่มีธงช้างรับเสด็จ (เนื่องจากในสมัยนั้นเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพลงบนผ้ายังไม่แพร่หลายในสยาม ธงช้างเผือกจึงไม่ใช่สิ่งที่มีทั่วไป) ได้นำ แถบผ้าสีแดงและสีขาวซึ่งเป็นสีในธงช้างเผือกผูกประดับตามเส้นทางเพื่อรับเสด็จ พระองค์จึงทรงนำสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรมาออกแบบธงชาติสยามขึ้นใหม่เรียกว่า “ธงแดงขาวห้าริ้ว” โดยมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียเงินซื้อธงช้างสำหรับรับเสด็จ แต่สามารถหาผ้าแดงกับผ้าขาวมาต่อกันเป็นผืนธงอย่างง่ายๆ ซึ่งในที่สุดก็เรียกธงแบบนี้ว่า “ธงชาติสำหรับประชาชน” หรือในภาษาทางการที่ระบุในราชกิจจานุเบกษาคือ “ธงค้าขาย” แต่ในส่วนของหน่วยงานราชการ ให้ใช้ธงชาติแบบราชการที่ทรงออกแบบใหม่เป็นแบบช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบของธงชาติอีกครั้ง เกิดขึ้นเมื่อสยามประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 ประเทศมหาอำนาจทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา ที่สยามเข้าร่วมรบด้วย ต่างมีธงชาติเป็นแบบสามสี คือ แดง ขาว และน้ำเงิน ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนแถบสีแดงตรงกลางของธงค้าขายหรือธงชาติสำหรับประชาชนให้เป็นสีขาบ (สีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) และประกาศให้เป็นธงชาติสยามแบบใหม่ล่าสุด อยู่ในพระราชบัญญัติธง ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2460

หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์จึงได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “ดุสิตสมิต” โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า “วรรณสมิต” เพื่อให้ความหมายแถบสีทั้งสามบนธงชาติสยาม ดังนี้

                ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย

แห่งสีทั้งสามงามถนัด

                  ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์

และธรรมมะคุ้มจิตไทย

                  แดง คือโลหิตเราไซร้ซึ่งยอมสละได้

เพื่อรักษะชาติศาสนา

                  น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา

ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

                 จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง

ที่รักแห่งเราชาวไทย

                  ทหารอวตาลนำไป ยงยุทธ์วิชัย

วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ

สู่ศตวรรษธงชาติไทย

“ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงประดิษฐ์ธงไตรรงค์ ธงชาติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้พระราชนิพนธ์เรื่อง ”เครื่องหมายแห่งไตรรงค์“ เพื่อให้ความหมายแถบสีบนธงชาติไทย โดยเราสามารถให้คำนิยามความหมายของแถบสีบนธงชาติได้ดังนี้ สีแดง หมายถึง เลือดของเราที่พร้อมพลีเพื่อรักษาเอกราชของชาติ ส่วนสีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งคำสอนของพุทธศาสนาและการมีธรรมะประจำใจคนไทย และสีน้ำเงิน หมายถึง สีทรงโปรดของรัชกาลที่ 6 จึงเป็นที่มาของสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์จวบจนถึงทุกวันนี้” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย กล่าว

จากความสำคัญของธงชาติไทยที่กล่าวมา พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยจึงได้ร่วมกับสภาพุทธบริษัทภาคประชาสังคมจิตอาสา และสำนักข่าวพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม (DDTV) ริเริ่มโครงการ “ก้าวสู่ 99 ปี ธงชาติไทย ร่วมสืบสานความตั้งพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนา ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์และธรรมะคุ้มจิตไทย” เป็นโครงการที่มุ่งให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่วัดทั่วประเทศได้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย และสามารถเผยแพร่ความหมายของแถบสีขาวบนธงชาติไทยตามพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์ รวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการประดับธงชาติไทยร่วมกับธงธรรมจักรอย่างถูกระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ พ.ศ.2529 ข้อที่ 13 ที่กำหนดให้ประชาชนชาวไทยประดับธงชาติไทยในวันสำคัญทางพุทธศาสนาด้วย ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

ส่วนปีถัดไป ซึ่งหมายถึงการฉลองครบรอบการประกาศใช้ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย 99 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 100 แนวการฉลองจะเน้นการเชิญชวนให้คนไทยประดับธงชาติไทยให้ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประดับธงชาติตามสถานศึกษาและโรงเรียนทั่วไป จะต้องเน้นความร่วมมือร่วมใจและช่วยกันรณรงค์ให้มีการประดับธงชาติอย่างถูกต้อง ไม่เสื่อมเสียเกียรติชาติ และควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมและชุมชนนั้นๆ ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยได้วางแนวทางการดำเนินงานไว้แล้วโดยได้เตรียมจัดทำเว็บไซต์ชื่อ www.โรงเรียนร่วมใจประดับธงชาติไทยให้ถูกต้อง.net เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องการประดับธงชาติที่ถูกต้อง

และในปีพ.ศ.2560 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองครบรอบศตวรรษหรือ 100 ปี ธงชาติไทย ทางพิพิธภัณฑ์จะร่วมมือกับสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ การชัก การประดับธงชาติไทยแก่คนไทยทั้งประเทศ เช่นเดียวกับโครงการธงไตรรงค์ ธำรงไทย ที่เคยจัดทำมาก่อนหน้านี้ และวางแนวทางเพื่อเตรียมการจัดนิทรรศการธงชาติอย่างยิ่งใหญ่ทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ

เพื่อนับถอยหลังสู่การครบวาระ 100 ปีธงไตรรงค์ ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2560 พร้อมกัน

........

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ “ก้าวสู่ 99 ปี ธงชาติไทย ร่วมสืบสานความตั้งพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนา ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์และธรรมะคุ้มจิตไทย” ได้ที่เว็บไซต์ www.พุทธศาสนากับสีขาวบนธงชาติไทย.net