เตือนหนุ่มสาวโรงงาน อย่าหลงเชื่อแก๊งเงินกู้หลอกดาวน์รถจยย.

เตือนหนุ่มสาวโรงงาน อย่าหลงเชื่อแก๊งเงินกู้หลอกดาวน์รถจยย.

สภ.บ่อวินเตือนหนุ่มสาวโรงงาน อย่าหลงเชื่อแก๊งเงินกู้หลอกดาวน์รถจยย. ให้ค่าจ้างคันละ20,000-30,000บาท แล้วให้ไปแจ้งความหาย อาจติดคุก

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 พ.ต.อ.กรพัฒน์ หอมหวน ผกก.สภ.บ่อวิน เปิดเผยว่า ในตอนนี้ทาง สภ.บ่อวินได้รับแจ้งรถ จยย.หายเป็นประจำ เมื่อตรวจสอบพบว่า ผู้แจ้งบางคนมาแจ้งความรถหายที่เป็นเท็จ ในตอนนี้ทาง สภ.บ่อวิน สามารถจับกุมประชาชนที่มาแจ้งความเท็จ รถ จยย.หายได้แล้วทั้งหมด 10 ราย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา

โดยรายล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ค.58 ที่ผ่านมา แม้ว่า จะมีการติดป้ายเตือนที่หน้า สภ.บ่อวิน และตามริมถนนว่า แจ้งความเท็จ รถจยย.หาย จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีผู้ดื้อแพ่งทะยอยเข้ามาแจ้งความกันอีก ซึ่งผู้ที่เข้ามาแจ้งความนั้น ส่วนมากจะเป็นพนักงานชายหญิงบริษัท โรงงาน ห้างร้าน ระดับกลาง ที่มีรายได้เดือนละ12,000-16,000 บาท ที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งเงินกู้และจะถูกหลอกให้ไปดาวน์รถมาให้ แล้วเมื่อนำรถไปให้ก็จะจ่ายเงินให้ แล้วแต่ว่าดาวรถ จยย.รุ่นไหนมา โดยถ้าอยากได้เงิน 20000 บาท ให้ดาวรถยี่ห้อฮอนด้า สกู๊ปปี้ไอหรือ 25000 บาท ให้ดาวยี่ห้อฮอนด้า เอ็มเอสเอ็กซ์

หลังจากนั้น ก็จะนำรถจยย.ไป โดยจะทิ้งกุญแจไว้ให้ 1 ดอก ก่อนที่จะบอกว่า หลังจาก 2 เดือนไปแล้วให้ไปแจ้งความรถหาย ที่สถานีตำรวจภูธรที่ใกล้บ้าน เพื่อให้ประกันรถชั้น 1 มาจ่ายค่ารถกับไฟแนนท์ให้ ซึ่งก็ไม่รอดสายตาตำรวจเนื่องจากว่า ดอกกุญแจที่นำมาแจ้งความนั้น ไม่ผ่านการใช้งาน รวมถึงไปตรวจสอบจุดจอด รถ จยย.ที่แจ้งหาย ผู้แจ้งก็ให้การวกวนมีพิรุธ เมื่อทางตำรวจสอบสวนหนักเข้า ก็ให้การรับสารภาพว่า มาแจ้งความเท็จเรื่องรถหาย

ซึ่งทางตำรวจก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีตามกฏหมาย โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีนั้น ได้เข้าร่วมขบวนการขายรถเงินดาวน์ เพราะมีสาเหตุมาจาก การที่ได้เจอป้ายประกาศเงินด่วน ทันใจตามเสาไฟฟ้า ตามตู้เอทีเอ็ม ตามเบาะรถจยย.ที่จอดตามห้างสรรพสินค้า หลังจากนั้นได้โทรศัพท์ติดต่อตามที่ติดหมายเลขโทรศัพท์ที่ประกาศไว้ ซึ่งคนที่อยู่ปลายสาย จะแนะนำให้ไปดาวน์รถจักรยานยนต์ และจะมีการบอกยี่ห้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อต่างๆ ซึ่งจะมีราคาแตกต่างกันไป พร้อมทั้งแนะนำให้ไปดาวน์รถตามร้านขายรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีเงินดาว หรือเงินดาวน้อย หลังจากนั้นจะมีคนมารับรถจักรยานยนต์ โดยคนขี่รถจักรยานยนต์จะมารับรถที่จุดนัดพบ หลังจากนั้นจะได้เป็นเงินสดตอบแทนตามราคารถที่บอกไว้

ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่มีมาแจ้งความนั้น แต่ละรุ่นราคาไม่เท่ากัน ทางตำรวจจึงได้แจ้งข้อหา แจ้งความเท็จแก่ผู้ที่มาแจ้งความ เพื่อหวังเอาเงินประกัน ถือว่า มีความผิดอาญาโทษจำคุก 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 พันบาท แต่ผู้ต้องหาที่ถูกจับข้อหาแจ้งความเท็จในพื้นที่ สภ.บ่อวินนั้น ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จ มีโทษจำคุก 2 เดือน โดยทางศาลพิพากษาไม่รอลงอาญา และเมื่อออกมาจากเรือนจำแล้ว ยังต้องผ่อนรถจยย.ที่เอาไปให้นายทุนเงินกู้ ซึ่งก็ตก รายละ 80,000-120,000 บาท ที่จะต้องผ่อนรถพร้อมดอกเบี้ยจนหมดอีกด้วย

พ.ต.อ.กรพัฒน์ หอมหวน ผกก.สภ.บ่อวิน กล่าวต่อว่า ขบวนการดังกล่าวจัดอยู่ในขบวนการฉ้อฉลประกันภัย พฤติกรรมคือ จะติดป้ายหรือกระดาษโฆษณาชวนเชื่อ ตามตู้โทรศัพท์สาธารณะตามหน้าโรงงาน สถานที่ชุมชน เสาไฟฟ้า หน้าตู้เอทีเอ็ม ว่าต้องการเงินด่วนให้โทรติดต่อไป อัตราดอกเบี้ยต่ำ เมื่อมีผู้สนใจโทรติดต่อไปแก๊งเงินด่วน จะอาศัยความโลภของเหยื่อ หว่านล้อมให้ไปดาวน์รถ จยย.แบบที่เสียเงินน้อยที่สุด โดยจะระบุสเป๊กรถจยย.และร้านจำหน่ายให้กับเหยื่อ แล้วให้นำรถ จยย.มาขายต่อให้ หลังจากนั้น ก็แนะนำให้เหยื่อผ่อนสัก 2-3 งวดแล้วไปแจ้งความว่า รถหาย หลังแจ้งความเรียบร้อยให้นำเอกสารหลักฐานการแจ้งความรถหายไปให้กับทางร้านจำหน่ายรถ จยย.ให้เคลมกับบริษัทประกันภัย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งงวดต่อไป

สำหรับแก๊งเงินด่วนพวกนี้ จะอาละวาดอยู่ละแวกพื้นที่ภาคตะวันออกเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการลักทรัพย์ โดยใช้กลอุบาย แจ้งความเท็จ และร่วมกันฉ้อโกง ฝากเตือนประชาชนอย่าเห็นแก่เงิน เข้าไปมีส่วนร่วมกับแก๊งเงินด่วนที่มีอยู่ทั่วไป เพราะความโลภและรู้เท่าไม่ถึงการนั้น ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฏหมายไปด้วยในข้อหาแจ้งความเท็จ ซึ่งจะต้องติดคุก โดยไม่รอลงอาญาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดว่า น่าจะทำกันเป็นขบวนการใหญ่ และมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งพบว่า สถิติการแจ้งความรถจยย.หายในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น วันละหลายคันอาจเป็นขบวนการแก๊งเงินกู้ที่ให้ไปดาวน์รถแล้วนำมาขายให้ก็เป็นได้ ซึ่งขอให้ประชาชนอย่าไปหลงผิด และหลวงเชื่อพวกแก๊งเงินกู้ที่จะพูดจาหว่านล้อม อาจทำให้ติดคุกเพราะความโลภหรือรู้เท่าไม่ถึงการ

ซึ่งในเรื่องนี้หลังจากที่มีปัญหารถจักรยานยนต์หายในหลายพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี ทาง พล.ต.ต. นิติพงศ์ เนียมน้อย ผบก.ภ.จว.ชลบุรีได้ สั่งการให้ตำรวจทุกสถานีตำรวจตรวจสอบประวัติเจ้าของรถ และสถิติการแจ้งรถมอเตอร์ไซค์หาย ในช่วงต้นปี 2558 เป็นต้นมาทันที โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาแกะรอยอยู่ไม่นาน ก็พบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามข้อสงสัย โดยผู้ที่เข้ามาแจ้งความบางราย ถูกสอบสวนจนต้องยอมรับว่า รถไม่ได้หายไป แต่เกิดจากการร้อนเงิน จึงไปกู้เงินกับพวกบริการเงินด่วนทันใจ ที่ติดป้ายโฆษณาไว้ตามตู้โทรศัพท์ ตามตู้เอทีเอ็มและเสาไฟฟ้า จึงนำเอกสารบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และสลิปเงินเดือนไปไปทำเรื่องยื่นซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งบางร้านดาวแค่ศูนย์เปอร์เซ็นต์ บางร้านดาวแค่ประมาณ1,000 บาท

หลังจากนั้น จึงนำรถไปขายให้แก๊งเงินกู้ หลังจากที่ผ่อนไปสัก 2-4 งวด โดยที่ทางแก๊งเงินกู้ ก็จะแนะนำให้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ว่า รถจยย.หาย เพื่อติดต่อขอรับเงินจากบริษัทประกันให้ชดใช้ค่ารถที่หายไปจะได้ไม่ต้องผ่อนส่งรถต่อ ซึ่งก็เห็นว่า มีแต่ได้ไม่มีเสีย จึงพากันทำตามที่พวกแก๊งเงินกู้บอกมา

ซึ่งทาง พล.ต.ต.นิติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ได้สั่งการให้ตำรวจชุดสืบสวนทุก สภ.และชุดสืบสวนภูธรจังหวัดชลบุรี ออกสืบหาและติดตามพวกแก๊งเงินกู้เงินด่วนทันใจ ที่ให้คนไปดาวนฺ์ รถจยย.แลกกับเงินสด ก่อนที่จะให้ไปแจ้งความหาย หลังจากที่ผ่อนรถไปแล้ว 2-4 งวด เพื่อโยงคดี รถจยย.หายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งถ้าจับกุมได้ จะมีการดำเนินคดีในข้อหาหนัก เพื่อให้หลาบจำไม่กล้ากระทำผิดอีกต่อไป