กชกร วรอาคม บอกรัก...ด้วยงานศิลป์

กชกร วรอาคม  บอกรัก...ด้วยงานศิลป์

เบื้องหลังการคิดและชีวิตภูมิสถาปนิกคนนี้ ดูธรรมดาๆ แต่มีแง่มุมชวนคิด โดยเฉพาะวิธีการเรียนรู้



แม้เธอคนนี้ กชกร วรอาคม จะไม่ต่างจากสถาปนิกทั่วไป คือ ชอบวาดรูป มีไอเดียสร้างสรรค์ แต่มีสิ่งที่ต่างคือ ประสบการณ์การเรียนรู้ ตอนเรียนอยู่ปี 4 คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเลือกที่จะไปฝึกงานที่อเมริกา ไม่ใช่เพราะมีเงิน ก็ไปได้ แต่ไปเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและสไตล์การออกแบบ และทำงานอยู่พักหนึ่ง 

จากนั้นไปเรียนปริญญาโท ภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กลับมาเป็นภูมิสถาปนิก มีบริษัทของตัวเอง Landprocess เป็นอาจารย์พิเศษ และ 5 ปีที่แล้วรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อตั้งกลุ่มศิลป์บำบัด ARTFIELD ใช้ศิลปะและดนตรีช่วยบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง
การพูดคุยครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเธอเรียนเก่ง ได้เกียรตินิยมเหรียญทอง (ตอนเรียนปริญญาตรี) หรือการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
สิ่งที่น่าสนใจคือ กระบวนการเรียนรู้ การคิด และทำ และสิ่งเหล่านี้อยู่ในงานออกแบบที่เน้นคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตั้งแต่ โครงการอุทยาน จุฬาฯ 100 ปี โครงการหมอน 47 และSiam Green Sky ที่หลายคนเรียกว่าสวนลอยฟ้ากลางกรุง ฯลฯ เปิดตัวไปไม่นาน
ก่อนหน้านี้ ตอนอยู่อเมริกา เธอเคยร่วมกับเพื่อนๆ ต่างชาติที่เรียนด้วยกัน ตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร ชื่อ KOUNKUEY เพื่อทำงานพัฒนาชุมชน โดยนำความรู้หลายด้านมาผสมผสาน ทำงานในหลายพื้นที่ และนั่นทำให้เธอยังไม่หยุดแค่นั้น...

ชอบทำงานสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็กไหม
ทั้งๆ ที่เรียนศิลป์คำนวณ ตอนเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ แต่ชอบวาดรูป และชอบละครสถาปัตย์มาก ชอบทำงานที่ใช้มือ ตอนนั้นที่บ้าน อยากให้ทำธุรกิจ แต่เรารู้ตัวว่าชอบอะไร เราเก่งอะไร และรู้ว่าอะไรไม่ใช่สำหรับเรา ถ้าทำแล้วอึดอัด ก็ไม่ทำ และถือว่า โชคดี ยิ่งเรียนด้านนี้ ก็ยิ่งใช่ ต้องขอบคุณเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนด้วยกัน เพราะเขามีประสบการณ์เรียนมหาวิทยาลัยอื่นมาก่อน มาเจอกันที่จุฬาฯ เขาจะบอกให้เราไปดูงานที่นั่นที่นี่ พอมาเรียนสถาปัตย์เป็นการเรียนที่เป็นการคิด เรารู้สึกว่าทำไมไม่เรียนตั้งแต่เด็ก ถ้าได้เรียนแบบนี้คงจะดี

เรียนจนได้เกียรตินิยมเหรียญทอง มีวิธีการเรียนรู้ยังไง
เป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับอาจารย์ นั่งแถวหน้า แต่ไม่ใช่เด็กเรียน เพราะเราตั้งใจเรียน และอยากทำงานออกมาให้ดี ตอนเรียนปี 4 เราเป็นคนเดียวและคนแรกๆ ที่เดินทางไปฝึกงานที่อเมริกา เพราะเราเรียนตำราฝรั่งมาเยอะ อยากเห็นว่า บริษัทที่ไปฝึกงานด้วย เขาทำงานออกมาดีๆ ได้ยังไง ปีนั้นปีเดียวเราไปฝึกงานสามบริษัท ทั้งๆ ที่เรียนยังไม่จบ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกมาก ถ้าเราไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าเรากลัว ก็ไม่รู้ บางคนกลัวแล้วไม่ทำ แต่เรากลัวแล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ตอนนั้นอายุ 21 ปี ฝรั่งก็ให้โอกาสทำโครงการใหญ่ๆ ซึ่งตอนเป็นนักศึกษาเวลาออกแบบจะใส่ดีไซน์เยอะ แต่พอเราเห็นสถาปนิกฝรั่งทำงาน ก็ได้รู้จักคำว่า clean และclear

เวลาเราไปอยู่ต่างแดน เราจะตื่น ใช้เวลาหนึ่งปีเรียนรู้ด้วยตัวเอง อยากให้เด็กทุกคน ได้มีโอกาสปีหนึ่งไม่ต้องเรียน ไปทำงาน ดูพิพิธภัณฑ์และเที่ยว เพราะคนเราบางทีเราเรียนจบแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ถ้าใช้เวลาปีหนึ่งเรียนรู้โลกก่อนที่จะทำวิทยานิพนธ์ ก็ดีนะ เราก็ใช้เวลาเที่ยวเล่นปีหนึ่ง ก็ได้รู้ว่า ถ้าเรียนจบ เราจะสมัครงานยังไง ถ้าอยากทำงานเมืองนอก ต้องทำอย่างไร

ทั้งเรียนและทำงานในอเมริกาหลายปี คิดว่า คนไทยสู้คนต่างชาติได้ไหม
สู้ได้คะ ตอนที่เราฝึกงานยังเรียนปริญญาตรี และคนที่ไปฝึกงานก็จบจากฮาวาร์ด เราก็ทำงานกับพวกเขา เราสู้เขาได้ เราก็ได้คอมเม้นท์ที่ดีในการทำงาน เด็กไทยถึกกว่าในเรื่องการทำงานด้วยมือ ฝรั่งจะถนัดใช้คอมพิวเตอร์ เพราะเราคนไทยทั้งอดทนและตั้งใจ ไม่ใช่ว่าโอกาสจะได้มาง่ายๆ เราต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสาร ถ้าเรามีไอเดียต้องพรีเซ็นต์ให้เป็นด้วย นั่นทำให้เรากล้า และเป็นการจัดระบบความคิด

เรียนจบปริญญาตรี ก็ไปทำงานเมืองนอก เราก็ไปเจอเจ้านายฝรั่ง ให้คำแนะนำดีๆ ซึ่งต่างจากเด็กไทยทั่วไปที่เรียนจบแล้ว ก็เรียนปริญญาโทเลย แต่เราเลือกที่จะทำงานสองปี ได้ทำงานโครงการต่างๆ ได้ทำงานกับลูกค้า ซึ่งสองปีนี้เราได้ประสบการณ์และเข้าใจวัฒนธรรมแต่ละรัฐของอเมริกา ตอนนั้นเราไม่ได้อยู่นิวยอร์ค การทำงานช่วงนั้นเหมือนการตุนประสบการณ์ไว้ในกระเป๋า เห็นการใช้ชีวิต และแลนสเคปที่ต่างๆ อาศัยว่าเราเป็นคนไม่กลัวอะไร ตอนที่กลับมาเมืองไทย เพื่อนก็ทำงานแล้ว แต่กำลังจะไปเรียนปริญญาโท

ไปเรียนที่ฮาวาร์ด ปรับตัวยากไหม
ถ้าเรารู้หลัก มันเรียนไม่ยากเลย ตอนนั้นเห็นโลกมาระดับหนึ่งแล้ว เราก็เริ่มชัดในวิชาชีพ จำได้ว่า เคยถูกมอบหมายให้ทำงานออกแบบคาสิโนในลาสเวกัส ตอนนั้นไปแล้ว รู้สึกเศร้ากับงานออกแบบ รู้สึกเป็นการออกแบบที่หลอกลวง ทำให้คนเข้าไปเล่นการพนันไม่รู้เวลา เหมือนอยู่ในภวังค์ เราไม่ได้อินกับตรงนั้น เริ่มรู้สึกว่า ไม่อยากออกแบบแบบนั้น ซึ่งปกติเราจะตื่นเต้นเวลาทำโปรเจ็กต์ แต่ครั้งนั้นมันไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเราเอาพลังชีวิตไปทำเรื่องแบบนี้ เราไม่อยากทำ เพราะคนที่เข้ามาเล่นการพนัน เหมือนกึ่งหลับกึ่งตื่น มีสติหรือไม่มีสติก็ไม่รู้ เวลาเล่นการพนันพวกเขาเครียดนะ นั่นทำให้แนวคิดชัดขึ้น มันทำให้เรารู้ว่า เราชอบการออกแบบพื้นที่สาธารณะ หรือส่วนที่เกี่ยวกับธรรมชาติมากกว่า

ที่ฮาวาร์ด ทำให้เรารู้ว่า คนที่นั่นมาเรียนเพื่ออะไรบางอย่าง มีความชัดเจน จึงอยากบอกหลายคนว่า ถ้าไม่ชัดว่าอยากเรียนอะไร อย่าเพิ่งไปเรียนดีกว่า เวลาเจอรุ่นน้อง เราบอกเสมอว่า ไม่ต้องรีบเรียน ถ้าไปเรียนปริญญาโท แล้วไม่รู้ว่าจะไปเอาอะไร ก็จะไม่ช่วยอะไร ตอนนั้นเราสมัครเรียนที่นี่ ที่เดียว เราคิดแล้วว่า จะทำยังไงที่จะให้สองปีนี้ตุนความรู้ในกระเป๋าได้อีก อีกอย่างเพื่อนในห้องเรียนสำคัญมาก ตอนนั้นต้องขอบคุณเจ้านายที่บอกว่า ให้เราไปทำงานก่อนแล้วค่อยมาเรียนปริญญาโท

ซึ่งเราก็เจอเพื่อนกลุ่มที่ทำงานด้วยกัน กลับมาเรียน มีตั้งแต่คนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี บางคนไม่รู้เรียนไปเพื่ออะไร แต่ขยันไปก่อน และคนอายุ 60 ปี ก็มาเรียน เราก็ได้เรียนรู้วิธีคิดของทุกคน ซึ่งเราก็ได้อาจารย์ที่ปรึกษา มีความเมตตามาก ถ้าเราอยากทำอะไรเขาผลักดันเรา เพื่อทำให้สิ่งที่เราคิดเป็นจริง ตอนนั้นเราอยากทำงานออกแบบในองค์กรไม่แสวงหากำไร และเมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์ที่เคยเรียนด้วย เพิ่งมาเมืองไทยและเราคุยกัน เขาถามเราประโยคหนึ่งว่า "คุณรู้ไหม ฮาวาร์ดต่างจากที่อื่นยังไง" เขาบอกว่า คนที่ถูกเลือกให้เรียนที่นั่น เพราะพวกเราเชื่อว่า คนๆ นั้นจะถูกผลักดันให้เป็นผู้นำในสิ่งที่เขาทำ เขาสอนให้คุณเข้าใจว่า เมื่อคุณจะทำอะไรคุณต้องทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ซึ่งอาจารย์ที่นั่นจะช่วยผลักดัน และไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่ๆ กับการเรียน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากส่งต่อเรื่องเหล่านี้ให้นักศึกษาที่เราสอน

เมื่อเป็นอาจารย์ คุณเลือกที่จะสอนแบบไหน
ใช้วิธีการตั้งคำถามเยอะมาก จะไม่ให้คำตอบ ส่วนใหญ่นักศึกษาจะคุ้นชินที่จะถามว่า อาจารย์ต้องการแบบไหน ไม่ใช่มาตั้งคำถามกับอาจารย์ แต่ให้กลับไปถามตัวเอง นักศึกษาก็งง เพราะไม่เคยถูกถามกลับ อีกอย่าง ถ้าไม่ผ่าน ก็คือ ไม่ผ่าน เพราะวิชาที่สอน Pre Thesis Studio5 (นิสิตปีที่ 5) และ Thesis Studio 5 ซึ่งเราไม่ใช่แค่สอนดีไซน์ แต่เราสอนแนวคิดด้วย เพราะแนวคิดพวกนี้จะออกมาในงานดีไซน์

ทำไมสนใจทำงานเพื่อสังคม
ตอนเรียนฮาวาร์ด มีเพื่อนในห้องมาจากหลายประเทศ พวกเรานั่งคุยกัน บางคนเคยไปทำงานที่ทิเบต บางคนทำงานช่วยเหลือสัตว์ป่า พวกเราอยากทำงานเพื่อสังคมบ้าง ตอนนั้่นเราก็ไปเคนย่า เข้าไปในสลัม เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเคนย่า เราก็ตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ KOUNKUEY (คุ้น-เคย) พวกเราก็ซื้อตั๋วเครื่องบินเอง มีทุนจากฮาร์วาร์ดบ้าง ตอนนั้นทำหลายโปรเจคในสลัม เราได้เห็นว่า คนสองแสนคนไม่มีห้องน้ำ เราก็ไปช่วยดีไซน์ ที่นั่นสลัมจริงๆ หลังหกโมงเย็นต้องออกจากชุมชน ไม่อย่างนั้นของจะถูกขโมย ตอนนั้น Kibera ซึ่งเป็นจุดที่องค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 200 องค์กรเข้าไปทำงาน เน้นเรื่องเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหานั่นนี่ แต่ทำอะไรที่จับต้องไม่ได้ เราเข้าไปทำในเชิงกายภาพที่จับต้องได้ ห้องน้ำ คอมมูนิตี้เซ็นเตอร์ และสร้างเครือข่ายร่วมกัน

เมื่อกลับมาทำงานในเมืองไทย ก็ได้ออกแบบภูมิสถาปัตย์ Siam Green Sky ?
เป็นการจัดพื้นที่สีเขียว ผสมผสานกับความทันสมัย เราต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เป็นงานที่ใหญ่มาก ตอนนั้นต้องเขียนแบบภายในสามเดือน มีอาคาร มีสวน และกรีนดีไซน์ ถือว่าโชคดี เพราะตอนที่กลับจากเมืองนอก เราก็ไม่แน่ใจว่า จะได้งานในแบบที่เราอยากทำ คือ การออกแบบให้พื้นที่สาธารณะ ตอนพรีเซ็นต์เราเปิดแปลนวิเคราะห์แสงให้พวกเขาดูว่า ในเมืองนอกการออกแบบกรีนๆ ไปถึงไหนแล้ว

เราบอกไปว่า ในฐานะจุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษา ถ้าแนวคิดการออกแบบแบบนี้ไม่เกิดตรงนี้ ก็คงไม่มีที่ไหนทำได้ แม้ออกแบบไปแล้ว สถานที่แห่งนี้จะไม่สร้างรายได้เหมือนโครงการทั่วไป แต่มันมีคุณค่า กว่าจะทำเสร็จ อุปสรรคเยอะ กรีนรูฟ มีแปลงนา ซึ่งเป็นรากเหง้าของเกษตรบ้านเรา ถือว่าเป็นตัวอย่าง อาคารใหญ่ควรจะมีอะไรที่เป็นกรีนๆ การออกแบบก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะ ถ้าวัดกันที่เงินก็จบตั้งแต่แรก แต่ถ้าวัดคุณค่าที่จะได้ หาที่ไหนไม่ได้แล้ว

ทำไมให้คุณค่ากับงานดีไซน์ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ
เรื่องการสร้างรายได้ไม่ใช่ประเด็นหลักของชีวิต เพราะโครงการที่เราอยากทำ มันสร้างรายได้เยอะๆ ไม่ได้ ถ้าอยากรวยต้องไปทำงานออกแบบด้านอื่น เพราะกว่าจะผลักดันแต่ละโครงการเหนื่อยมากในสังคมไทย คนเราจะมีเวลาช่วงเดียวที่จะทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ในช่วงที่เรายังมีแรงอยู่ เพราะชีวิตไม่เที่ยง เราคิดว่า เวลาสำคัญกว่าเงิน แต่วัยต่อไป อาจมองอีกแบบ เราอยากทำงานให้เมืองไทย เวลาไปอยู่เมืองนอกนานๆ แม้เงินจะได้เยอะ แต่ไม่ได้เติมเต็มให้ชีวิต และเราก็ไม่คิดว่าจะใช้ชีวิตในเมืองนอก

งานอีกส่วนที่คุณสนใจ โดยการใช้ศิลปะเพื่อบำบัดผู้ป่วยมีที่มาที่ไปอย่างไร
ตอนอยู่เมืองนอก ก็สนใจพุทธศาสนา เคยไปฟังพระทิเบตเทศน์ ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมไทย พุทธศาสนามีการแบ่งแยกเพศ แต่มาอยู่เมืองนอกเรียนพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เข้าใจ และเมืองที่เราอยู่ก็เป็นเมืองที่สนใจเรื่องการรีทรีต เมื่อก่อนไม่สนใจพุทธศาสนา แต่พอมาเรียน รู้สึกว่า คำสอนแนวพุทธ ใช่เลยสำหรับชีวิต และเราก็ได้เรียนศิลปะบำบัดที่ฮาวาร์ดด้วย เห็นพระทิเบตทำแมนดาล่าทราย เราก็ซึมซับ ซึ่งกระบวนการแบบนี้ เหมือนตอนทำงานวาดรูป ระบายสี กระบวนการมันบำบัดเรา เพราะที่นั่นมีชัมบาลาเซ็นเตอร์ เราก็เรียนหลายอย่าง การจัดดอกไม้ด้วย ทำให้เราอ่านฟอร์มออก เวลาสอนเด็ก เราต้องสื่อสารกับเขา

เวลาเด็กๆ ป่วยด้วยโรคร้าย คุณใช้ศิลปะบำบัดอย่างไร
เวลาคนไม่สบายจะเปราะบางมาก เราเชื่อว่า จิตใต้สำนึกถูกคลุมด้วยจิตสำนึก เวลาทำงานศิลปะ เมื่ออยู่ในโหมดผ่อนคลาย ศิลปะจะเป็นตัวสื่อสารเรื่องราว เพราะเวลาทำงานศิลปะ เด็กๆ จะใช้อารมณ์ เพื่อสร้างรูปทรง ฟอร์มศิลปะ บางทีเศร้าๆ ก็แสดงออกมาในงานศิลปะ กระบวนการศิลปะช่วยบำบัดเด็กๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เวลาที่เราทุกข์ เมื่อเราเห็นความทุกข์ของคนอื่น เราก็เข้าใจ เมื่อเอาความทุกข์มาแชร์กัน จะมีการฟังและเข้าใจกันมากขึ้น กลายเป็นว่า เราไม่ได้ทุกข์คนเดียว และนอกจากงานศิลปะ เราก็ทำวิจัยด้วย

ผลงานวิจัยสรุปว่ายังไง
วิจัยนี้เพื่อให้คนที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ รู้ว่า ศิลปะบำบัดช่วยเรื่องคุณภาพชีวิต เมื่อสภาวะจิตคลี่คลายลง ใจสบายแล้ว ความร่วมมือในการรักษาจะง่ายขึ้น เราเคยทำกิจกรรมหนึ่งให้พวกเขามองหน้ากันแล้ววาดรูป ห้ามพูด ปรากฎว่า พวกเขาร้องไห้ แม้พวกเขาจะอยู่ด้วยกันทุกวัน แต่ไม่มีเวลาให้กันและกัน ซึ่งเวลาวาดพอร์ตเทรต เราต้องเห็นความงามในสิ่งที่เราวาดก่อน เหมือนการบอกรัก ด้วยการใช้ศิลปะและดนตรีมาปรับใช้บำบัดฟื้นฟู เยียวยา จิตใจคน

ถ้าจะบอกว่า พลังศิลปะเป็นมากกว่าที่เห็นจะได้ไหม
ระบบการแพทย์ไทย ถ้ารักษาผู้ป่วยไม่หาย พวกเขาต้องออกจากโรงพยาบาล เพราะเตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย คุณหมอกวีวรรณ ลิ้มประยูร ที่รู้จักกัน ได้ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช สร้างโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บางใหญ่ ตอนที่เราเข้าไปจัดพื้นที่ว่างทำงานศิลปะบำบัด ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ว่างทางกายภาพ แต่เป็นที่ว่างระหว่างคนที่ทำให้เกิดพลังงาน เพื่อให้คนส่งพลังถึงกันและกัน

การทำงานศิลปะบำบัด เราเห็นผลชัดเลย บางคนยอมรับความตายได้มากขึ้น เราสังเกตได้จากแววตา กิจกรรมเหล่านี้ทำให้คนกล้าแสดงความรู้สึกโดยไม่เขินอาย เพราะอยู่เฉยๆ จะให้ใครมาบอกว่า เป็นห่วงคุณนะ คงยาก ถ้าคนเรารับรู้ว่าถูกรัก ก็พอแล้ว

ทำงานส่วนนี้มากี่ปีแล้ว
เป็นปีที่ 5 แล้ว เป็นการเติมเต็มให้ชีวิต

แล้วคุณคาดหวังอะไร
หวังว่า คนจะเชื่อในพุทธศาสนา พลังใจสำคัญมาก แม่เราเอง ก็ป่วย และรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ทรมานกับการใช้ยา ทำให้รู้ว่า การแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้คนช่วยตัวเองไม่ได้ แม้กระทั่งตอนตาย ยังไม่รู้เลยว่าตาย ต้องพึ่งยา พึ่งหมอ แต่ถ้าเราพึ่งใจ พึ่งความเชื่อ น่าจะเป็นทางเลือก
ถ้าถามเรา ...ถ้าเราจะตาย ก็ไม่อยากตายแบบเบลอๆ