วิกฤติเครื่องยนต์ศก.ไทย ขับเคลื่อนประเทศไปทางไหน?

วิกฤติเครื่องยนต์ศก.ไทย ขับเคลื่อนประเทศไปทางไหน?

C+I+G+(X-M) เศรษฐศาสตร์พื้นฐานบ่งชี้จีดีพี กำลังเจอมรสุมถาโถมทั้ง 4 เครื่องยนต์หลัก แล้วทางออกของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ไหน ?

จีดีพีปี 2558 จะเติบโต 3.5-4.5% นี่คือตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการไว้เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา

ทว่า ผ่านพ้นเพียง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) หน่วยงานต่างๆ ตบเท้าออกมา "หั่น" ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 3.8% จากเดิม 4%, สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี และธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ต่างพร้อมใจปรับลดจีดีพีไทยจาก 4% เหลือ 3.6%

แม้แต่สภาพัฒน์ฯ ก็หดเป้าจีดีพีเหลือที่เคยตั้งไว้เมื่อต้นปีที่ 3.5-4% เหลือ 3%

เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ออกสตาร์ทต้นปี ก็อาการน่าเป็นห่วงเสียแล้ว !!

ก่อนหน้านี้ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธปท.ออกมาประเมินเศรษฐกิจไทย โดยบอกว่า เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะ "ป่วย" ซ้ำเติม 3 โรค

3 โรคที่ว่า คือ "ไข้หวัดใหญ่" ที่ไทยได้รับเชื้อโรคจาก "เศรษฐกิจโลก" , "โรคข้อเข่าเสื่อม" จากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่คล่อง และ "โรคขาดความเชื่อมั่น" ซ้ำเติมอาการเบื้องต้นที่ยังไม่ได้รับการรักษา

แล้วจะเยียวยาเศรษฐกิจไทยด้วยวิธีใด อะไรยังพอจะเป็น "เครื่องยนต์" ที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ยังมี "วัคซีน" ตัวไหนที่จะเยียวยาสถานการณ์เศรษฐกิจให้ "โงหัว"

ดร.เชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จีดีพี เป็นตัวชี้วัด "ผลผลิต" ของประเทศที่เกิดขึ้นว่าแต่ละปีประเทศมี “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” มากน้อยแค่ไหน หากผลิตมาก สะท้อนว่าธุรกิจคึกคัก เปิดทำการค่อนข้างเต็มเวลา ถ้าผลิตน้อยก็แปลได้ว่าจีดีพีจะลดลง โดยปัจจุบันไทยมูลค่าจีดีพีเกือบ 13 ล้านล้านบาท (ข้อมูลสภาพัฒน์ฯ อยู่ที่ 12.141 ล้านล้านบาท เติบโต 0.7%)

ดร.เชาวน์ ขยายความว่า การประเมินจีดีพี ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การบริโภค (Consumption), การลงทุน (Investment), การใช้จ่ายของภาครัฐ (Government spending) และการส่งออกสุทธิ (Net Export) ซึ่งได้จากการส่งออก (X) หักลบด้วยการนำเข้า (M)

สกัดเป็นสมการ C+I+G+ NE หรือ C+I+G+(X-M) ก่อนแจกแจงว่า...

เมื่อแบ่งสันปันส่วนพบว่า การบริโภคคิดเป็นประมาณ 54-55% ของจีดีพี

การลงทุนรัฐและเอกชนประมาณ 24% ของจีดีพี

การบริโภคภาครัฐประมาณ 10% ของจีดีพี

และการส่งออกประมาณ 70% การนำเข้าประมาณ 62-63% ของจีดีพี เมื่อหักลบกันสุทธิจะเหลือราว 6-7% ของจีดีพี

ที่ผ่านมา “ภาคส่งออก” ถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี

ทว่า ภาคส่งออก “หัวทิ่ม” ปัจจัยลบอีกนานัปการ จีดีพีปีนี้จะเติบโตได้แค่ไหน ตามคาดการณ์ของดร.เชาวน์คือ “เศรษฐกิจปีนี้คงโตไม่ถึง 4%” จึงไม่แปลกที่จะเห็นศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเป้าของจีดีพีปีนี้อาจโต 2.8% สดๆ ร้อนๆ

ยิ่งมาประเมิน “เครื่องยนต์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรายตัว จะพบว่า การส่งออก ไม่ดี ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ดี จากราคาน้ำมันดิ่ง ฉุด "ราคา" สินค้าเกษตร ยางพารา มันสำปะหลัง “ตกต่ำ” เศรษฐกิจของประเทศผู้สั่งซื้อและนำเข้าสินค้าจากไทยก็ไม่ดีทั้งจีน ยุโรปยังผลให้ “ส่งออกแย่กว่าที่คาด”

โยงใยไปถึงการบริโภค เพราะเมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประชาชนในภาคชนบท “กำลังซื้อหดหาย” อิงได้จากยอดขายรถจักรยานยนต์ติดลบ ปิ๊กอัพ ขายไม่ดีตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 ซ้ำร้าย “หนี้ครัวเรือน” ที่สูงถึง 85% ของจีดีพี ดึงเงินในกระเป๋าผู้คนให้แป่บ

“หนี้! ถ้ามีมาก จะทำให้ภาระที่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และมีโอกาสจะมีหนี้มากขึ้น ลองถามคนที่มีหนี้เกือบ 100% ของรายได้ จะเอาบัตรเครดิตอีกใบไหม เพราะที่มีอยู่ก็หมุนลำบากอยู่” และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมสะเทือนการบริโภค การจะกระตุ้นยอดขายใหม่ จากการทำตลาดต่างๆ จะทำได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องขยับไปหากลุ่มเป้าหมายที่ยังมีกำลังซื้อเหลือ หรือจับตลาดบน ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนัก
ส่วนการลงทุนภาครัฐและเอกชน ซึ่งสัมพันธ์กับ “ความเชื่อมั่น” เขาวิเคราะห์ว่า “ภาครัฐ” พยายาม “เร่งรัด” การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ต่อเนื่อง และ “ดีขึ้น” เพราะตัวเลขการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 18% เพิ่มเป็น 25% ในเดือนมีนาคม แต่ยังถือว่าไม่มาก ส่วนการลงทุน “ภาคเอกชน” แตะเบรก! ชะลอตามการลงทุนรัฐ

ประเด็นที่น่าสนใจ คือเมื่อมีสัญญาณว่ากำลังจะมีการ “เลือกตั้ง” เกิดขึ้นในอนาคต เอกชนส่วนหนึ่งอาจ “รอ” ดูผลการเลือกตั้ง เพราะพะวงว่านโยบายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปหลังมี “รัฐบาลใหม่” เข้ามาบริหารประเทศหรือไม่

เอกชนอีกบางส่วน ยังเห็นว่า เมื่อเห็นกำลังซื้อไม่ดี ก็ไม่รู้จะลงทุนทำไม เพราะสินค้าที่มีอยู่ก็ขายไม่ดีอยู่แล้ว ดร.เชาวน์ฉายภาพ

ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ “ล่าช้า” ส่วนหนึ่งเพราะ “ข้อจำกัด” หลายประการ โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” กำลังเปลี่ยนผ่านกลไกทาง “การเมือง” เพื่อรอให้องค์ประกอบต่างๆ ของกระบวนการทางการเมืองทำงานได้เต็มที่ หลังคาดว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2558

“ผมอาจมองไม่เหมือนคนอื่นที่กังวลเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ ถ้าจีดีพีเราไม่ได้โตถึง 4% ปีนึงก็ไม่ได้เป็นเรื่องหนักเกินไป โจทย์สำคัญไม่ได้อยู่ที่ปีนี้ แต่อยู่ที่หลายปีข้างหน้ามากกว่า” ดร.เชาวน์ สะท้อนอีกมุมมอง ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าแค่ตัวเลข"

เพราะหากพิจารณาปัจจัยระยะสั้นที่สร้างแรงกระเพื่อมถึงเศรษฐกิจไทย เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา การระดมมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (คิวอี) จากธนาคารกลางแห่งยุโรป(อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ล้วนเป็นสิ่งที่ไทยควบคุมไม่ได้ แต่รับมือได้ด้วยการปรับตัวด้านต่างๆ เช่น ส่งออกต้องหาทางผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มเพื่อให้ธุรกิจยังคงมี “กำไร” ในภาวะค่าเงินบาทผันผวน เช่น เทียบเงินเยนบาทแข็งค่าขึ้น 10% หรือเทียบกับค่าเงินยูโรปีก่อนที่แข็งค่าขึ้น 10% รวมปีนี้อีก 10% ทำให้ภาคการส่งออกไปยุโรป ญี่ปุ่นลำบาก

“ต้องเข้าใจธนาคารกลางหลักของโลกทั้งบีโอเจ อีซีบี แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเขา ด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน เมื่อทำแบบนั้นค่าเงินเขาอ่อนลง เขาเป็นประเทศใหญ่ เราเป็นประเทศเล็กเราเลือกไม่ได้ ค่าเงินเราเสียเปรียบ แต่มันเกิดขึ้นเพราะเขาแก้ปัญหาเขาด้วยวิธีนี้ เราต้องรับรู้ผลตรงนี้ด้วย”

ดังนั้น ทางรอดไม่ใช่มองจุดใดจุดหนึ่งในระยะสั้น คำถามคือเราเลือกค่าเงินยูโร ค่าเงินเยนไม่ได้ ทางออกไม่ใช่บอกว่าทำให้บาทกลับไปเป็นเท่าไหร่ๆ เทียบกับเยนหรือยูโร เพราะมันไม่มีทางกลับไปเป็นอย่างนั้น ทางเดียวเมื่อคุณจะเจอสถานการณ์อย่างนี้ คุณต้องคิดว่าถ้าคุณผลิตสินค้าที่แพงขึ้นหน่อย แล้วเขา (ประเทศคู่ค้า) ยังซื้อคุณ มันต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว คุณไม่ใช่แข่งกันเรื่องค่าเงินเท่านั้น เมื่อคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ต้นทุน ค่าแรงถูกกว่า
"เราไม่มีทางแข่งกับเขา (คู่แข่ง) ได้ด้วยราคา เราผ่านยุคสมัยนั้นไปแล้ว"

จริงอยู่ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ควรขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ “มากกว่า” นี้ แต่การวัดผลปีใดปีหนึ่งแล้วบอกว่า โอเคหรือไม่โอเค คงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ควรวัดการขยายตัวติดต่อกันเป็นเวลานานด้วย

“ที่ห่วงคือระยะกลาง ระยะยาว มากกว่ามองระยะสั้น 1 ปี” เขาย้ำ

ที่ผ่านมามีหลาย “โจทย์หินทางเศรษฐกิจ” ที่ถูกเรียกร้องให้แก้ไข เช่น บาทแข็งต้องทำให้อ่อนเอื้อภาคส่งออก หรือกระทรวงการคลัง ที่ชงมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ฯ แต่ประชาชนฟังแล้ว “สะดุ้ง!” เพราะกระทบเรื่องปากท้องระยะสั้นเต็มๆ

ประเด็นเหล่านี้เชื่อว่าแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังต่างเข้าใจปัญหาดี ทว่าบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบระดับ “มหภาค” ทั้งประเทศ เลยทำให้ “สองฝ่ายมองปัญหาเรื่องเดียวกันคนละแบบ”

การบริหารประเทศภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ทุกภาคส่วนได้เห็นการผลักดันนโยบายหลายอย่างออกมา เป็นการมอง “อนาคตของประเทศ” แน่นอนว่ารัฐบาลจะลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศในอีก 7-8 ปีข้างหน้า แต่ละปีใช้งบ “มหาศาล” หลักแสนล้านบาท กระทรวงการคลังจึงมองโจทย์ระยะกลางและระยะยาว มองความยั่งยืนทางการคลัง หากไม่หาแหล่งภาษี การจัดเก็บรายได้เพิ่ม ปล่อยให้การจัดทำงบประมาณ “ขาดดุล” ไปเรื่อยๆ “หนี้สาธารณะ” ก็จะเพิ่มขึ้น

“จังหวะไม่เอื้อ เมื่อกระทรวงการคลังมองความสมดุลด้านการคลังของประเทศ เมื่อมองโจทย์นี้ก็จะไม่เน้นเรื่องจีดีพี คิดว่าพอทำได้ก็เลยทำ แต่พอทำในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี พูดออกไปปุ๊บก็ไม่มีใครตอบรับด้วย ก็ลำบาก แต่เขาหวังดี ซึ่งเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันหนึ่งก็ต้องกลับมาอีก เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ไปทำตอนที่มันลำบากจะยิ่งยากขึ้น พิจารณาดูว่าถ้าหนี้สาธารณะเราเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วถูกบีบให้ขึ้นภาษี ไปลงที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะเดือดร้อนมากกว่านี้"

เขาย้ำ และบอกว่า การพิจารณาเรื่องภาษี เป็นเรื่องการเมือง และไม่ประชานิยมเลยต้องจอด 

เมื่อประชาชนค่อนประเทศ เผชิญปัญหาปากท้องและต้องการให้แก้ไขในระยะสั้น ทว่าประเทศชาติกำลังถูกท้าทายอุปสรรคในระยะยาว "จุดสมดุล"การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะอยู่ตรงไหน 

ดร.เชาวน์ ชี้ 2 มุมมอง คือ 1.อย่างน้อยความชัดเจนทางการเมืองน่าจะดีขึ้น การมีรัฐบาลใหม่โดยธรรมชาติจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ในระยะหนึ่ง 2. เศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะแข็งแกร่งขึ้น เพราะเศรษฐกิจยุโรป และจีนอยู่ในช่วงฟื้นตัวและดีขึ้นตามลำดับ กำลังซื้อก็น่าจะดีขึ้นกว่าเวลานี้ 

ทว่า เวลานั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็อาจขยับดอกเบี้ยขึ้นแล้ว นั่นจะเป็นภาระกลับมาที่ "อัตราดอกเบี้ย" ของไทย 

สิ่งที่ทุกภาคส่วนทำได้ในเวลานี้เพื่อกู้สถานการณ์เศรษฐกิจ 

ภาคธุรกิจ ต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น หาทางลดต้นทุนในภาคการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าฯ 

ภาคประชาชน ต้องสร้างวินัย “การออม” ซึ่งปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนออมเงินต่ำมากเฉลี่ย 9% เท่านั้น ทั้งที่อัตราเหมาะสมคือ 1 ใน 3 หรือประมาณ 30-35% ของเงินเดือน 

“ผมห่วงความสามารถในการแข่งขันกับการออม ถ้าสองเรื่องนี้โอเค เศรษฐกิจไทยจะอยู่ได้อีก 10-20 ปี แต่ถ้าสองเรื่องนี้ไม่โอเค ปัญหาก็จะกลับมา” 

ความหวังภาพรวมเศรษฐกิจระยะสั้นยังมี เพราะ "ครึ่งปีหลัง" คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวได้ เพราะถือเป็นไฮซีซั่นของทุกองค์ประกอบ ทั้งการบริโภค การลงทุน การเบิกจ่ายของภาครัฐ และการส่งออก ที่สำคัญการท่องเที่ยวจะดี คะเนว่าจะเป็น “เซ็คเตอร์ที่เติบโตสูงสุด” 

“ปีนี้มันอาจจะไม่ดีมาก เมื่อเทียบกับความคาดหวังที่เคยมีกันไว้เมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นภาวะถดถอย” 

กับความกังวลการใช้จ่ายที่เบรกหัวทิ่ม ไทยเข้าสู่ยุค "เงินฝืด" หรือยัง ? ดร.เชาวน์ บอกว่า ไม่ถึงระดับนั้น เพราะเมื่อพิจารณาดัชนีราคาสินค้าพื้นฐานหรือ "เงินเฟ้อ" ถือว่ายังไม่เข้าขั้น "ติดลบ" 

"ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ถ้ายังไม่ย่ำแย่มากเกินไปแสดงว่าคนยังไม่กังวลถึงขั้นรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นเครื่องชี้ภาวะเงินฝืด และเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มอ่อนตัว คนไม่ใช้เงิน เก็บเงินฝังดิน ถ้าภาวะแบบนั้นเกิดขึ้น ห้างร้านก็จะจำหน่ายสินค้าไม่ได้ คนก็จะตกงาน ภาวะเศรษฐกิจก็จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ จุดนี้ไทยเรายังไม่เกิดนะ" เขาชี้ 

ทว่า “ปัญหาเศรษฐกิจปีนี้ไม่เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะไม่เคยมีปีไหนที่จะเผชิญภาวะครัวเรือนไทยมีหนี้เยอะขนาดนี้ ครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีหนี้สูงขนาดนี้ มีหนี้สูงในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ” 

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เช็กอาการเครื่องยนต์เศรษฐกิจรายตัว พบว่า การบริโภคยัง "ไม่ค่อยฟื้น" เหตุผลเพราะประชาชนฐานราก "มีแต่หนี้" ฉะนั้นจะหวังพึ่งพาจากกลุ่มนี้มากย่อมไม่ได้ ซ้ำร้ายสินค้าเกษตรกรตกต่ำกระเทือนรายได้ 

"รายได้ในอนาคตในสายตาของผมตกลงไปเยอะ ครึ่งหนึ่ง เลยมีปัญหามาก ส่วนประชาชนชั้นกลางก็มีหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรกหมดแล้ว มีแค่ท็อป (ระดับบน) ที่ไปได้ แต่มันไดรฟ์ (ขับเคลื่อน) ไม่พอ ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเวลาที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วมันไปไม่ได้" 

ส่วนกลไก การส่งออก ซึ่งเจอโจทย์ "ค่าเงิน" มีปัญหาซ้ำเติม เขาแนะให้เทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินยูโร ค่าเงินเยน หรือดอลลาร์สหรัฐในห้วงเวลา 14 เดือนที่ผ่านมา "บาทแข็งค่าขึ้น 20%" (ณ 10 มี.ค.58 บาท 32.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนวันที่ 27 มี.ค.58 เงินบาท 32.585 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่แปลกที่ "ผู้ส่งออกเขาบ่นกันว่าอยู่ไม่ได้" ส่วนการตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีพีเอส) ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาภาคส่งออกไทยใช้สิทธิ์จากจีเอสพีเพียง 2% 

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐเขาวิเคราะห์ว่า "ผมคิดว่ารัฐบาลมีปัญหาการเรื่องของเบิกจ่าย และต้องพยายามทำ ถ้าไม่มีโครงการลงทุนชัดเจนก็ยากที่จะเกิดขึ้น" ไล่มามีแต่ปัจจัยลบ ทว่า ยังพอเห็นโอกาสจาก "การลงทุน" แต่ก็นั่นแหละเผือกร้อนตกอยู่ที่ "รัฐ" ที่จะต้อง "สร้างความชัดเจน" เพราะไม่อย่างนั้นเอกชนอาจไม่กล้าลงทุน 

"ถ้าไปดูข้อมูลหลายบริษัทมีเงินเหลือเยอะ พร้อมที่จะลงทุน อย่างตัวเลขที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าเอกชนมีโครงการที่พร้อมจะลง แต่รอจังหวะให้รัฐบาลมีความชัดเจน รัฐบาลต้องตอบโจทย์ เพราะคุณจะบอก หรือสั่งๆ เขา (เอกชน) ไม่ได้ สั่งเขาๆก็ไม่ทำ รัฐต้องทำให้ดู ว่าเราจะทำได้" เขาบอกและว่า 

"การพูดว่าจะลงทุนคงไม่พอ ต้องลงจริงให้เขาดู ถ้าไม่ทำจริงก็ยาก !!" 

อีกปัจจัยคือ "การท่องเที่ยว" ซึ่งเขามองว่าปีนี้อัตราการ "เติบโตดีเป็นพิเศษ" ขณะที่การ "ลดดอกเบี้ย" จะมีส่วนช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนได้ส่วนหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เขากลับไม่คาดหวังเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าตัวเลขจะดีขึ้นได้ จากตอนนี้กราฟเศรษฐกิจเป็นตัวยู (U) จะค่อยๆ ขึ้นอย่างช้าๆ 

"ผมว่าปีนี้เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ถ้าเราปฏิรูปประเทศได้ มันก็จะไปได้ แต่ถ้าเราปฏิรูปไม่ได้ จะแย่ อย่าไปกังวลใจเรื่องการเติบโตของจีดีพี แต่จงกังวลใจว่าเราจะปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปการลงทุนใหญ่ๆ ได้มากแค่ไหน" 

ไทยพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูงถึง 70-80% ของจีพีพี และสวมบทเป็นพระเอกมานาน ทว่าเวลานี้เป็นเพียง "พระรอง" เท่านั้น นี่เป็นมุมมองจาก "รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง 

การส่งออกเดือนมกราคมติดลบไป 3.4% และติดลบเพิ่มเป็น 6.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทั้งปี เขายังมองอย่างมีหวังว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 2% การหดตัวที่ลดลงแน่นอนว่าดึงมูลค่าจีดีพีให้หดตามไปด้วย 

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของไทย ยังหายไปจากผลพวง "โครงการรับจำนำข้าว" ประชานิยมที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นชนวนสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจถึง 5 แสนล้านบาท เพราะ "ขาดทุน" และนั่นเป็นอีกปัจจัยที่กระเทือนจีดีพีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท 

แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงบั่นทอนเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทว่า “เรากำลังจะออกจากจุดที่แย่มากๆ” มุมมองจาก ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขาบอกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะ “เติบโตดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา” แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวไม่ดี การบริโภคและความต้องการภายในประเทศยัง “อ่อนแอ” จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศหนี้คือ “แรงต้าน” สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ 

ในร้ายมีดีอยู่บ้าง เพราะเริ่มเห็นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่เริ่ม “กระเตื้อง” ขึ้นตามลำดับ 

หากเรื่องสำคัญคือเหตุการณ์อนาคตที่มี “ความไม่แน่นอนสูง" เมื่อสหรัฐพยายามจะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้เป็น “ขาขึ้น” หลังจากที่ผ่านมาดอกเบี้ยต่ำ สร้างสภาพคล่องสูงมาเป็นเวลานาน จากนี้ไปไทยจะต้องตระหนักว่าจะยืนอยู่ตรงไหน ? 

นอกจากนี้ ไทยยืมจมูกชาวบ้านหายใจ ในกระบวนการรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม) การรอเม็ดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) มานาน และที่ผ่านมารัฐมีการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อซื้อเวลาให้เอกชนได้ปรับตัวในระบบซัพพลายเชนให้เข้มแข็งขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาที่ทุนไทยจะต้องลุกมาปฏิวัติตัวเอง สร้างการเติบโตจาก “อุปสงค์” ของประเทศ มากกว่าจะพึ่งพา “อุปทาน” จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว 

เพราะเมื่อ “ความต้องการ” ของประเทศคู่ค้าที่มีรายได้สูงอ่อนแออยู่และยังดำรงอยู่ต่อไป ย่อมกระทบการส่งออกของไทย 

“นอกจากปริมาณการส่งออกจะยากขึ้น ความอ่อนแอยังทำให้ราคาสินค้าตกต่ำภาคส่งออก เราอยู่ในยุคของความยากด้านค้าขาย ส่งออก 2 ปีติดลบ เป็นสัญญาณว่าขอบเขตของบริษัทไทยจะต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ต้องพัฒนาสินค้าและตลาด ที่ผ่านมาการพัฒนาซีกนี้ เป็นผลพลอยได้จากเอฟดีไอ จากนี้ไปต้องใช้ความความสามารถของตัวเอง เราต้องปรับตัวเองจากสิ่งที่เคยได้ จากการลงทุนของต่างประเทศ และมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ”