ศึกศาสนจักร2ขั้ว ปฏิรูปสงฆ์ VS ปกป้อง มส.

ศึกศาสนจักร2ขั้ว ปฏิรูปสงฆ์ VS ปกป้อง มส.

(รายงาน) ศึกศาสนจักร 2 ขั้ว ปฏิรูปสงฆ์ VS ปกป้อง มส.

หลังจากปัญหาพระธัมมชโย ปาราชิกหรือไม่ กลายเป็นหัวหอกพุ่งเข้าใส่ มหาเถรสมาคม (มส.) จนแทบไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะจากการเคลื่อนไหวอย่างแหลมคมยิ่งของหลวงปู่พุทธะอิสระ ที่พุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์


ด้วยเหตุนี้ มหาเถรสมาคม จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามข้อมูลข่าวสารขึ้นมาดูแลเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยพระชั้นผู้ใหญ่ 4 รูป ฆราวาส 2 คน เพื่อทำหน้าที่ติดตาม และสรุปข่าวสารที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนให้กับมหาเถรสมาคม


นอกจากนี้ กลุ่มที่เห็นได้ชัดว่าทำหน้าที่คล้ายองครักษ์พิทักษ์ มส. ก็คือ "สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา" (สนพ.) นำโดย พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะประธานที่ปรึกษา สนพ. ได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยุบ "คณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา" ที่มี ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน เพราะเห็นว่า คณะกรรมการชุดนี้ ส่วนใหญ่มาจากบุคคลที่มีความสุดโต่งทางการเมือง และมีเงื่อนไขที่จะเข้ามาบริหารจัดการกิจการของคณะสงฆ์


สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ถือกำเนิดมาแต่เมื่อใด? หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยให้บทบาทขององค์กรใหม่ป้ายแดง


ปลายปี 2557 ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สันติ พร้อมพัฒน์) ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จากการหารือร่วมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา มีความเห็นร่วมกันว่าจะจัดตั้งสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริม ชี้แจง หลักการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม ชี้แจงเกี่ยวกับพระธรรมวินัย และเพื่อช่วยผลักดันงานด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งจะมีการขยายเครือข่ายของสมาคมไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ


สนพ.ได้ออกแถลงการณ์แจกแจงถึงสาเหตุที่ต้องพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ และมส. เพราะมีกลุ่มบุคคล ประกอบด้วยคณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาบางคน และพระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือ หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เคลื่อนไหวในลักษณะสร้างความแตกแยกในศาสนจักร โดย สนพ.ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกรณีวัดพระธรรมกาย


หลังจาก สนพ.พร้อมด้วยองค์กรทางพระพุทธศาสนาหลายแห่งแสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการยุบคณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาภายใน 15 วัน และหากว่า สปช.ยังคงนิ่งเฉย ทาง สนพ.จะนิมนต์พระสงฆ์และฆราวาสจำนวนมากมาร่วมชุมนุมในวันพฤหัสบดีที่ 12 มี.ค.2558 อย่างแน่นอน


สำหรับกิจกรรมการชุมนุมที่ทาง สนพ. กำหนดกรอบไว้ ประกอบด้วย การสวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อดลใจให้รัฐบาล และ สปช.ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง


ฐานกำลังในการเคลื่อนไหวปกป้อง มส. ของ สนพ.คือ "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" (มจร.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โดยที่ผ่านมา สโมสรนิสิตคฤหัสถ์-สภานิสิต มจร.วิทยาเขตขอนแก่น ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกคำสั่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา ของ สปช. เช่นกัน


ด้านแกนนำหลักฝ่ายคณะสงฆ์ พระเมธีธรรมาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และรองอธิการบดี มจร.นั้น เคยมีข่าวโด่งดังเมื่อสองปีก่อน ครั้งที่ท่านเจ้าคุณประสาน ไปร่วมประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐ ก็ได้นำพระธรรมทูต 20 รูป เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่วัดไทยในสหรัฐ ด้วย
การที่ สนพ.เตรียมการแจ้งความดำเนินคดีกับหลวงปู่พุทธะอิสระ พร้อมจัดการชุมนุมพระสงฆ์ครั้งใหญ่ คงจะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองในห้วงสัปดาห์หน้าร้อนแรงทั้งในศาสนจักรและอาณาจักร

..................


พระพรหมสิทธิ (เจ้าคุณธงชัย) แสดงทัศนะต่อกรณี "ธรรมกาย"

หลังการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เจ้าคณะภาค 10 ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในฐานะตำแหน่งใหม่ "กรรมการมหาเถรสมาคม" ที่มีส่วนตัดสินประเด็นร้อนๆ ที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอีกในกรณีธรรมกาย


"ธรรมกายเป็นเรื่องเก่า เราก็ไม่ค่อยทัน แต่ก็รับรู้มาคร่าวๆ จริงๆ มันจบไปแล้ว ในเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง กฎของคณะสงฆ์ การที่นำมาฟื้น มันก็เลยเป็นประเด็นที่จะเอามาขุดคุ้ย เพื่อจะให้มีประเด็นเกิดขึ้นใหม่ ถามว่า ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ก็แล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคนว่าจะเข้าใจอย่างไร


"ในกรณีที่ธรรมกายถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงที่ดิน ศาลตัดสินไปแล้วว่าไม่ผิด คือการไม่สั่งฟ้อง นั่นคือตามบ้านเมือง สงฆ์ก็ยึดตามนั้น แต่ทีนี้ข้อเท็จจริงในความรู้สึกว่า ถูก หรือไม่ถูก ก็ว่ากันตามประเด็นนี้ก่อน ที่ดินที่เขาถวายวัด หรือซื้อให้วัดก็ดี จะโอนทีเดียว มันทำยากมาก นี่คือข้อเท็จจริง ซึ่งเราไม่ได้พูดกัน แล้วก็เข้าใจไขว้เขว เพราะอะไร อย่างเช่น ถ้ามีคนต้องการถวายที่ดินให้วัดวันนี้ อยู่ๆ จะโอนที่ดินเข้าวัดเลยได้ไหม ไม่ได้ เพราะขั้นตอนกฎหมายค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ต้องใช้เวลา อย่างน้อยเป็นปี


"เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงมีประเด็นนี้ขึ้นมา โดยการปฏิบัติทั่วไป เมื่อจะถวายที่ดินให้วัด อันดับแรกจึงโอนให้เจ้าอาวาสก่อน ทำไมจึงทำอย่างนั้น เพื่อรวดเร็วต่อผู้ถวาย ถ้าช้าไป ผู้ถวายอาจเปลี่ยนใจ ผู้ถวายอาจไม่มีชีวิตอยู่ เพราะส่วนใหญ่คนถวายที่ดินจะสูงอายุ ก็เร่งรัดทำคือถวายให้เจ้าอาวาสก่อน การถวายให้เจ้าอาวาสก็คือการถวายให้วัด นี่คือข้อปฏิบัติทางกฎหมาย


"เมื่อเป็นของเจ้าอาวาสก็เป็นของวัด ถูกต้องไหม ถูกต้อง แต่สังคมอาจจะมองว่าไม่ถูกต้อง ต่อไปพระก็ต้องไปทำให้เป็นของวัดอีก ก็ต้องไปแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาตามขั้นตอนอีกเยอะแยะ อย่างน้อยก็ใช้เวลาอีกเป็นปีจะเรียบร้อย นี่คือข้อเท็จจริง ผิด-ถูกแล้วแต่ผู้คิด ดังนั้น ถ้าจะถวายที่ดินให้วัดวันเดียวทำไม่ได้ แต่ถวายให้เจ้าอาวาส วันเดียวได้


"เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเป็นประเด็นที่จะทำให้เสียหายต่อพระศาสนาโดยรวม เพราะมันกระเทือนทั้งหมด ให้ว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป แล้ววินัยพระ กับหลักกฎหมาย ก็คนละเรื่องกัน"


สำหรับประเด็นเรื่องสอนผิดหลักพระธรรมวินัย กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใหม่ตอบคำถามนี้เพียงสั้นๆ ว่า
"เรื่องนี้ทุกคนรู้ แต่พูดไม่ได้ ในที่ประชุมพระใน มส. เป็นเอกภาพ อย่าไปทำให้เป็นอย่างอื่น ทุกคนเข้าใจหมดแหละ แต่บางเรื่องพูดไม่ได้ คือมันต้องรักษาองค์กร เพื่อให้เกิดความมั่นคง สำคัญกว่าเรื่องตัวบุคคล"