แพทย์เผยเผากระดาษเงิน-ทองพบสารก่อมะเร็ง

แพทย์เผยเผากระดาษเงิน-ทองพบสารก่อมะเร็ง

แพทย์ เผย เผากระดาษเงินกระดาษทองเจอสารก่อมะเร็ง ไม่แตกต่างจากควันธูป พบโลหะหนัก4 ตัว นิกเกิล โครเมียม ตะกั่ว แมงกานีส

ปริมาณในขี้เถ้ามากกว่าฝุ่นละอองในอากาศ 3-60 เท่า ส่งผลเด็กพัฒนาการสมองช้า คนแก่เสี่ยงเกิดพาร์กินสัน ขณะที่กรมอนามัยแนะใช้หน้ากากอนามัยป้องกัน

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานผู้วิจัยห้องปฏิบัติการณ์พิษวิทยา และสิ่งแวดล้อม เรื่อง ควันธูปและกระดาษเงินกระดาษทอง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำข้อมูลเรื่องการวิจัยที่ค้นพบว่า การเผาไหม้ของกระดาษเงิน กระดาษทอง ก่อสารมะเร็งโดยเตรียมพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ ซึ่งวัฒนธรรมการเผากระดาษเงินกระดาษทอง มีสืบทอดมากกว่า 1,400 ปี และพบว่าปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลง เผาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ตามความเชื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ทั้งรถยนต์ ไอโฟน ไอแพค เครื่องบิน ที่ทำจากระดาษเคลือบเงินสีสันสวยงาม มันวาว เมื่อเผาไหม้ล้วนแต่ก่อสารโลหะหนักไม่ต่างจากควันธูป พบสาร 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส ซึ่งสารโครเมียม และนิกเกิล จะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด สารตะกั่ว มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ทำให้เลือดจาง ไตวาย แมงกานีส มีผลทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ในผู้สูงอายุ

"สารโลหะหนักเหล่าจะอยู่ในขี้เถ้ามากกว่าฝุ่นละอองในอากาศ มากถึง 3-60 เท่า ดังนั้นการกำจัดเศษขี้เถ้าจากการเผาไหม้ ไม่ใช่แค่การทำไปทิ้งขยะ หรือโรยตามดิน หรือท่อน้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ จะย้อนกลับเค้ามาสู่ระบบนิเวศอีกครั้ง"นพ.มนูญกล่าว

นพ.มนูญ กล่าวว่า การกำจัดขยะ หรือเศษขี้เถ้าจาการเผาไหม้กระดาษเงินกระดาษทอง ต้องทำคล้ายกับการกำจัดขยะในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะหากปะปนในสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดอันตราย ในประเทศไตหวันทุกเทศกาลไม่ว่าจะเป้นตุรษจีน หรือสารทจีน ที่มีการเซ่นไหว้ และเผาสิ่งของเครื่องใช้จากกระดาษเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษนั้น ทางเมืองจะเป็นผู้รวบรวมของเซ่นไหว้ และนำไปเผายังเตากำจัดขยะของเมืองโดยเฉพาะไม่ปล่อยในประชาชนเผากันเองตามบ้านเรือน ทั้งนี้ทางกทม. หรือเมืองใหญ่น่าจะมีการปรับเปลี่ยน หรือไม่กระทรวงอุตสาหกรรม ควรเข้ามาควบคุมการผลิตกระดาษเงินกระดาษทอง หรือสิ่งของจากกระดาษ เพื่อไม่นำสารเคลือบเงา ที่ทำให้สีสัน สวยงาม มันวาวมาใช้ แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ก็นับว่าคุ้มค่า และเป็นการป้องกันไม่ใช้เกิดสารก่อมะเร็งในระดับเมือง และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเผากระดาษเงิน กระดาษทองจำนวนมาก จะทำให้เกิดไอระเหยของสารตะกั่วที่อยู่ในสีเคลือบกระดาษฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เผาและผู้ที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อสูดหายใจเข้าไปจะทำให้ระดับตะกั่วในเลือดสูงขึ้น และหากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน จะเกิดโรคโลหิตจาง เวียนศีรษะ ชักกระตุก หมดสติ ไตทำงานผิดปกติถึงขั้นไตวายได้ โดยเฉพาะประชาชนที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ เด็ก หากตะกั่วสะสมในร่างกายมากๆ จะส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ช้า ไอคิวต่ำกว่าเด็กปกติ สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันจากการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า กระดาษเงิน กระดาษทอง ทำมาจากไม้หรือเศษไม้ไผ่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่ว ชนิดทาสีคล้ายตะกั่ว และชนิดพิมพ์ระบบออฟเซ็ท โดยชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่วจะได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการพบว่า กระดาษเงิน กระดาษทองชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่วมีปริมาณตะกั่วค่อนข้างสูงประมาณ 20.8-85.6 มิลลิกรัมต่อแผ่น ส่วนชนิดทาสีมีปริมาณตะกั่ว 0.55 มิลลิกรัมต่อแผ่น ผู้ที่ต้องเผากระดาษเงิน กระดาษทอง จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของสารตะกั่วที่มีอยู่ในกระดาษ โดยล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังพับหรือสัมผัสกระดาษ ควรเผาในภาชนะที่มิดชิด ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกในขณะเผา ควรเผาในที่โล่งแจ้งและยืนอยู่เหนือลม เพื่อป้องกันการหายใจเอาสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย การฟุ้งกระจายของเถ้าและควัน หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่ผู้อาศัยใกล้เคียง ซึ่งอาจก่อให้เกิด กลิ่นเหม็นและสำลักควัน หายใจไม่ออก ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการพักผ่อนนอนหลับในห้องหรือบริเวณที่มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และควรนำเถ้ากระดาษที่เผาแล้วทิ้งหรือฝังกลบให้เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของสารตะกั่วสู่สิ่งแวดล้อม