เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล

เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล

นักวิจัย ม.เกษตร พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกเอื้องเทียนปากสีน้ำตาล หวั่นใกล้สูญพันธุ์

นักวิจัย ม.เกษตร พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกเอื้องเทียนปากสีน้ำตาล หวั่นใกล้สูญพันธุ์

ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายปกรณ์ ทิพยศรี นิสิตปริญญาโท พบ เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล (Coelogyne phuhinrongklaensis Ngerns. & P. Tippayasri) กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก วงศ์ Orchidaceae เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน เจริญทางด้านข้าง ทุกส่วนเกลี้ยง เหง้า ทอดนอน รูปทรงกระบอก มีเกล็ดบางคล้ายกระดาษติดทนเรียงซ้อนเหลื่อมหุ้มเหง้า รากออกตามข้อ หัวเทียมสีเขียว

รูปทรงรูปไข่ (ค่อนข้างยาว) มี 1 ปล้อง อวบน้ำ มีสันตามยาว 4-5 สัน มีเกล็ดบางคล้ายกระดาษขยายใหญ่เรียงซ้อนเหลื่อมหุ้มโคนหัวเทียม ใบ 2 ใบ ออกที่ปลายหัวเทียม รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปใบหอกปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นใบเรียงขนานแบบนิ้วมือ มี 5 เส้น เส้นกลางใบนูนทางด้านล่างเห็นชัด ก้านใบกว้าง เป็นร่องตามยาวทางด้านบน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายหัวเทียม ช่อโค้งลง แต่ละช่อมี 3-4 ดอก พบน้อยที่มี 2 ดอก มักบานพร้อมกัน ก้านช่อดอกเรียว รูปทรงกระบอก ใบประดับติดทน 9-13 ใบ เรียงซ้อนเหลื่อมอยู่ช่วงปลายก้านช่อดอก (ใต้แกนกลางช่อดอก) ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน

เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อนหรือ สีเหลือง ร่วงง่ายเมื่อดอกบาน โค้งเข้าด้านใน รูปไข่ ปลายแหลม ดอกกลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว โคนกลีบด้านในสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงบนโค้งไปทางด้านหน้า กลีบเลี้ยงข้างกางออก ทั้งกลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงข้างรูปใบหอก ปลายแหลม มีเส้นกลีบ 3 หรือ 5 เส้น กลีบดอกโค้งไปทางด้านหลัง รูปแถบ ปลายแหลม มีเส้นกลีบ 1 เส้น กลีบปากสีขาวแกมสีน้ำตาล เป็น 3 แฉก รูปซอ แฉกกลางรูปสี่เหลี่ยม ค่อย ๆ กว้างขึ้นไปสู่ส่วนปลาย ปลายเว้าตื้น ขอบเป็นคลื่นหรือหยักไม่เป็นระเบียบ แฉกข้างตั้ง ปลายมน ขอบเรียบ

กลีบปากมีสันตามยาว 3 เส้าเกสรโค้งไปทางด้านหน้า รูปช้อน ปลายมีครีบ ขอบหยักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ ช่วงปลายสีขาว ช่วงโคนสีขาวนวล อับเรณูรูปกรวยสั้น ปลายมี 2 หยัก กลุ่มเรณู 4 กลุ่ม เรียงเป็น 2 คู่ รูปไข่กลับ ก้านดอกรวมรังไข่ ผล ไม่พบ การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย จะพบเฉพาะทางภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อิงอาศัยบนไม้ต้น หรือขึ้นบนลานหินทรายที่มีมอสส์คลุมในป่าดิบเขา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,100 - 2,100 ม. ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน

ผู้วิจัย กล่าวว่า เอื้องเทียนปากสีน้ำตาลอยู่ในสถานภาพพืชมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ [‘Vulnerable’ (VU)] ตามเกณฑ์การประเมินของ IUCN (2001) เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีกลุ่มประชากรขนาดเล็ก จำนวนประชาน้อย พบในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดพิษณุโลก มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย พืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ค่อนข้างใกล้เส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่ (habitat) ของกล้วยไม้ชนิดนี้ และจากการสำรวจและศึกษากล้วยไม้ชนิดนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการเป็นผล แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของขนาดกลุ่มประชากรค่อนข้างจำกัด