สนข.เร่งเจรจาหั้นราคาประมูลระบบ'ตั๋วร่วม'

สนข.เร่งเจรจาหั้นราคาประมูลระบบ'ตั๋วร่วม'

สนข. เร่งเจรจาบีทีเอสหั่นราคาประมูลระบบตั๋วร่วมภายในเดือนส.ค. เสนอคตร. พิจารณาก่อนเซ็นสัญญา

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.กำลังต่อรองกับกลุ่มบีเอสวี ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง สำหรับระบบตั๋วร่วม ที่มีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นแกนนำ เพื่อให้ปรับลดราคาที่เคยชนะการประมูลจำนวน 339 ล้านบาทลงไปอีก จากราคากลางที่กำหนดไว้ 438 ล้านบาท โดยเป็นการต่อรองตามขั้นตอนประกวดราคาเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ส.ค. นี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) จะพิจารณาก่อนลงนามในสัญญาเพื่อติดตั้งระบบต่อไป

ในวันนี้ (19 ส.ค.) สนข.จะประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อให้มีผู้เข้ามาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้ทันที ที่พัฒนาระบบแล้วเสร็จ โดยเบื้องต้นอาจจะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการด้วยการตั้งหน่วยธุรกิจมาบริหารจัดการก่อน จากนั้นจึงให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการต่อ โดยเมื่อได้ข้อสรุปเรื่องดังกล่าวแล้วจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พิจารณาต่อไป

นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายละแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคมจะมีการพิจารณาจัดตั้งบริษัทจำกัด เข้ามาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยรัฐถือหุ้นไม่เกิน 50% ส่วนกระบวนการจัดการตั้งบริษัทดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558 สอดคล้องกับศูนย์บริหารจัดการรายได้ที่จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2558

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สนข. ได้กำหนดคุณสมบัติของบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม คือ ต้องเป็นบริษัทเอกชนที่มีรัฐถือหุ้นด้วย เช่น บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เป็นต้น เพื่อให้คล่องตัวในการทำงาน เพราะไม่ได้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเท่านั้น แต่ต้องดำเนินงานด้านการตลาดให้เกิดการใช้ตั๋วร่วมมากที่สุด และต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินงานด้วย โดยบริษัทที่จะเสนอตัวเข้ามาต้องเป็นไปตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และต้องจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมโดยตรง

ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่มีบริษัทเข้ามาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รฟม.จะตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน เพราะระหว่างวางระบบจะต้องมีผู้บริหารจัดการไปทดสอบระบบให้สามารถใช้งานได้จริง เมื่อหาบริษัทเข้ามาบริหารจัดการได้แล้วหน่วยธุรกิจดังกล่าวจะยุบรวมไปอยู่กับบริษัทที่เข้ามาดำเนินงานต่อไป