สื่อ 'ภาพ' ส่ง 'เสียง'

สื่อ 'ภาพ' ส่ง 'เสียง'

ถ้าถามใครต่อใครว่า อยากเจอผีสักครั้งในชีวิตไหม? ...ถึงส่วนใหญ่อาจตอบว่า 'ไม่' แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่า คุณจะได้คำตอบเดียวกันจากคนกลุ่มหนึ่งที่อยากรู้จัก 'ผีนางนาก' เต็มแก่ ในเมื่อนางเป็นถึงผีนัมเบอร์วันของเมืองไทย

...ร่างนางนาก ที่เป็นหญิงสาวเหมือนเมื่อครั้งมีชีวิต อุ้มลูกไว้ในอ้อมอก ค่อยลุกจากหลุมขึ้นนั่ง ผ่านเวลาไป ฝูงนกบินอยู่บนฟ้าที่มืดมิด เหล่าคนทั้งหลายต่างเฝ้าดู โดยไม่มีผู้ใดได้ยินว่า สนทนากันด้วยเรื่องใด

ท่านสมเด็จฯ หลับตา ตั้งสมาธิภาวนา นางนากนั่งหลั่งน้ำตาร้องไห้ ภาพความหลังบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งมีชีวิต นางนากและนายมากต่างรักและมีความสุขอยู่ร่วมกันที่ท้องทุ่งลำคลองบางพระโขนง...

ถ้าไม่นับฉากนางนากยืดมือยาวลงไปเก็บลูกมะนาวที่ใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นฉากคลาสสิคตลอดกาล นี่ก็คืออีกหนึ่งฉากที่กินใจคนดูจน มีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน แห่กันซื้อตั๋วเข้าไปซาบซึ้งกับฉากจากลาของ "นางนาก-พ่อมาก" ในภาพยนตร์ "นางนาก" (2542) จนมียอดขายตั๋วทะลุ 150 ล้านบาทเป็นประวัติการณ์ของภาพยนตร์ไทยยุคใหม่

15 ปีถัดมา ผีนางนากถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งกับภารกิจ "หลอนขั้นกว่า" ให้เข้ากับยุคสมัยแห่งความเท่าเทียมด้วยการเพิ่มบทบรรยายเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตาในกิจกรรม "บอดเห็นผี" จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการฉายหนังเรื่องนางนากในระบบ Audio Description ให้คนตาบอดดูในโรงภาพยนตร์จริงๆ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ในวันงาน จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศครื้นเครงของคนในโลกมืดแต่ภาพข้างหน้ากลับสว่างไสวด้วยความสนุกสนาน มือถือป๊อปคอร์น กับแก้วน้ำประจำกาย เดินแถวเข้านั่งประจำที่ เตรียมพร้อมที่จะสยองขวัญไปกับผีนางนาก..

และเพื่อให้สมกับชื่องานว่า "บอดเห็นผี" นอกจากฉายหนังแล้ว ในงานดังกล่าวยังมีการนำโครงกระดูก หม้อ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับผีสางต่างๆ มาให้ผู้พิการทางสายตาสัมผัส เพื่อเพิ่มอรรถรสในชมภาพยนตร์ให้เข้าใจได้มากยิ่งขึ้น

  • ตาบอดเห็นผี

ทุกๆ ครั้งเวลาดูทีวีอยู่ที่บ้าน หรือเดินเข้าไปดูหนังในโรงหนังเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป กิติพงศ์ สุทธิ จะรับรู้เรื่องราวได้ผ่านเพียงหูทั้งสองที่รับฟังบทสนทนา และซาวด์เอฟเฟคต์ต่างๆ ขณะที่ในบางฉากบางตอนเรื่องถูกเล่าผ่านภาพประกอบเสียงเพลงคลอ.. พอถึงตอนนั้นทีไร คนตาบอดอย่างเขามีอยู่สองทางให้เลือก หนึ่ง คือ สะกิดถามคนข้างๆ หรือไม่ก็ สอง คือ มโนเอาเอง

แต่ด้วยระบบ Audio Description ที่เป็นการเขียนสคริปต์ และลงเสียงบรรยายภาพประกอบในภาพยนตร์ให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทำความเข้าใจกับเรื่องราวได้มากขึ้น "ด้วยตัวเอง" อย่างที่ทำในโปรเจ็คต์ทดลองกับเรื่องนางนากนั้น ในความเห็นของ กิติพงศ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เขาบอกว่า นี่คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเปิดโลกมืดๆ ของคนตาบอดให้สว่างขึ้นได้

สอดคล้องกับแนวนโยบายที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของ คนพิการ และคนด้อยโอกาส ในการรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารเพื่อการดำรงชีวิต อีกทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ซึ่งการบริการคำบรรยายเป็นเสียงถือเป็น 1 ใน 3 แนวทางที่กสทช. วางไว้ คือ การบริการคำบรรยายเป็นเสียง (Audio Description) เป็นเสียงบรรยายที่เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อบรรยายรายละเอียดที่สำคัญของภาพซึ่งอาจไม่เข้าใจได้ด้วยบทบรรยายเดิม (ร่วมมือกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

การบริการคำบรรยายเป็นอักษร (Caption) เป็นการบรรยายผ่านข้อความเพื่อบรรยายเสียงบทสนทนา และเสียงประกอบอื่นๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงหัวเราะ ฯลฯ (ร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย) และ การบริการภาษามือ (Sign Language) คือ เพื่อใช้ในช่วงเวลาประสานระหว่างเวลากับข้อมูลเสียงซึ่งเป็นเสียงบทสนทนาและเสียงอื่น เพื่อให้เข้าใจถึงเนื้อหาสื่อนั้น (ความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และบมจ. ทรู วิชั่นส์)

"การดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่การไปชมภาพยนตร์ตามโรงภาพยนต์ การไปพิพิธภัณฑ์หรืออะไรต่างๆ ที่มีการแสดงและต้องใช้สายตาดู คนตาบอดก็จะได้ข้อมูลในระดับหนึ่ง เช่น ถ้าเราพูดถึงเรื่องของหนังเนี่ย ข้อมูลที่เราจะได้ ก็จะได้ในข้อมูลที่เป็นเสียงบทสนทนาแล้วก็เป็นเสียงพวกซาวด์เอฟเฟคต์ หรือเสียงที่เราพอจะจำได้ว่า เขาทำนู่น ทำนี่ แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้สื่อตรงไปตรงมาทั้งหมด หรือบางครั้งก็ไม่ได้สื่อให้เราเชื่อมโยงถึงข้อมูลได้ทั้งหมด ทีนี้บางคนอาจจะไม่ซีเรียสนักเพราะเขาอยู่กับคนสายตาดี อยู่กับคนสายตาดีเขาก็ถามได้ แต่บางคนอยู่คนเดียวก็ถามใครไม่ได้ ในขณะที่บางคนอยู่กับคนตาดีที่ถึงจะถามได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถามได้ทั้งเรื่อง ถามได้ตลอด ใช่มั้ย..

แต่ในเมืองนอกเขาจะมี ตัวที่เรียกว่า Audio Description (AD) เข้ามาช่วยบรรยายในส่วนที่หายไปจากเสียงสนทนา หรือเสียงอื่นๆ โดยเขาจะเลือกบรรยายในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อช่วยสื่อในสิ่งที่ต้องใช้สายตาดู ตั้งแต่หนัง รายการโทรทัศน์ หนังในโรงภาพยนตร์ การแสดงพวก live performance ต่างๆ ซึ่ง กสทช. ได้ทำความร่วมมือกับมูลนิธิคนตาบอดไทย มูลนิธิคนตาบอกไทยก็มอบหมายให้ทางผม (สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา) รับดำเนินการเรื่องนี้อีกต่อหนึ่ง" กิติพงศ์เล่า

จากการเริ่มให้บริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านระบบโทรศัพท์ มีห้องสมุดทางโทรศัพท์ มีเว็บไซต์เพื่ออ่านหนังสือ มีวิทยุเพื่อที่จะอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ล่าสุดก็ถึงเวลายกระดับสู่การศึกษาเรื่อง Audio Description โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันคนตาบอดฯ ก็เพิ่งจะจัดฝึกอบรมหลักสูตร "ผู้บรรยายสำหรับการจัดทำบริการเสียงบรรยายภาพ" สอนโดย Joel Snyder ด็อกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการอบรมบริการเสียงบรรยายภาพ ซึ่งเดินสายสอนมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก

  • มอง Vs เห็น

4 วันเต็มของการเรียน.. นักเรียนในคลาส ซึ่งมีทั้งนักเขียน ล่าม ครูสอนโยคะ ไปจนถึงคนในแวดวงวิชาการ ด้านสื่อสารมวลชน กิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะเหล่าจิตอาสาทั้งที่เคยและไม่เคยร่วมกิจกรรมอื่นๆ กับทางสถาบันคนตาบอดฯ รวมทั้งสิ้น 24 คน ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องทฤษฎี หลักการการบรรยายภาพที่ถูกต้อง แต่โดยหลักแล้ว สิ่งที่ Joel เน้นมากกว่าหลักการ นั่นคือ 'ทัศนคติ' ของการอยู่ร่วมกับคนพิการโดยมองลึกไปกว่าความต่างที่เห็นจากภายนอก..

อย่างที่ กุลนารี เสือโรจน์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในทีมวิจัยโดยได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. ให้ทดลองทำ AD กับรายการโทรทัศน์ "กินอยู่คือ" และ "อร่อยอย่างยิ่ง" และออกอากาศสดทางวิทยุพร้อมกับเวลาออกอากาศจริงทางโทรทัศน์ และพบว่า หลายๆ เรื่องเธอและทีมงานก็ไม่แน่ใจว่า เป็นสิ่งที่คนตาบอดต้องการหรือไม่..

"ถึงหลักการจะบอกว่า เห็นอะไร ก็พูดไปแบบนั้น แต่ในบางครั้งมันไม่ใช่แค่เรื่องของภาพ เช่น มีเทปหนึ่ง ทำข้าวห่อใบบัว แล้วในรายการเขาได้ยกเอาบทกลอนที่พูดถึงน้ำกลิ้งบนในบอน.. เราก็อธิบายแต่ภาพของใบบอนที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอ แต่พอมาเปิดให้คนตาบอดฟัง เขาคอมเมนท์ว่า เขาอยากรู้นะว่า สัมผัสมันเป็นอย่างไร หรือบางทีเราก็ไม่รู้ว่า เรื่องของสี จำเป็นต้องอธิบายไหม ซึ่งก็มาได้คำตอบตอนหลังว่า มันจำเป็นนะ เพราะบางคนไม่ได้บอดมาแต่กำเนิด ถ้าเราพูดถึงสีเขาก็จะเข้าใจมากขึ้น"

นอกจากนี้เรื่องทัศนคติถือว่าสำคัญมาก เพราะหากแค่เริ่มต้นด้วยการมองเห็นความต่าง เราก็จะไม่มีทางใช้สายตาของความเท่ากันได้โดยเด็ดขาด

"บางทีเราก็ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เขารู้สึกไม่ดี แต่รู้ไหม บางครั้งเวลาคนได้เห็นคนตาบอดทำอะไรที่เจ๋ง ก็มักจะคิดไปว่า มันมิราเคิล (มหัศจรรย์) มากเลย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขารู้สึกดีนะ เพราะมันหมายถึงการมองเขาอย่างไม่เท่ากับเรา"

ไม่ต่างกันกับสิ่งที่ อโนมา สอนบาลี ได้เรียนรู้จากคลาสนี้..

จากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ลาออกมาเพื่อทำงานเขียนเต็มตัว พร้อมตั้งใจจะแบ่งเวลามาทำงานอาสาให้มากขึ้นนั้น คลาส "ผู้บรรยายสำหรับการจัดทำบริการเสียงบรรยายภาพ" คือ หนึ่งในจุดเริ่มต้นของการทำงานอาสาอย่างจริงจังของเธอ

"ผู้พิการทางสายตาเขาไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับตัวเองนะ แต่ที่เป็นปัญหา คือ ทัศนคติของคนอื่นที่มีต่อพวกเขามากกว่า อย่างคนตาบอดเข้าโรงหนัง แค่มีคนทักว่า อ้าวมาดูหนังหรือ? ... นั่นก็สะท้อนได้แล้วนะ ว่าคนมองเขาไม่เหมือนกับคนทั่วๆ ไป" อโนมาเล่า

เพราะการเข้าใจสิ่งที่ผู้พิการทางสายตาต้องการจริงๆ นั่นต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกัน.. ไม่ใช่การประคบประหงมจนเกินเหตุ หรือมองข้ามไม่ใยดีที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

เรื่องนี้ ปรียาวรรณ สิริทรัพย์ทวี ร่วมแชร์ความคิดเห็นในฐานะคนแรกที่ยกมือหลังจาก จินา โอสถศิลป์ ผู้บริหารค่ายหนัง GTH โยนโจทย์เรื่องการทำหนังให้คนตาบอดดูลงบนโต๊ะประชุม และเรื่องก็มาจบลงตรงที่การทำดีวีดีภาพยนตร์ "คิดถึงวิทยา" โดยเพิ่มระบบ AD เข้ามา ซึ่งถือเป็นแผ่นหนังเรื่องแรกของไทยที่ผู้ชมสามารถกดเลือกมากกว่าภาษาไทย-อังกฤษ หากยังเพิ่มการบรรยายเข้ามาด้วยเป็นระบบเสียงที่สาม

ความที่เริ่มด้วยใจล้วนๆ ทีมงานจึงต้องเชิญผู้รู้ที่เป็นคนพิการทางสายตาเข้ามาเป็นที่ปรึกษา สอบถามเกี่ยวกับวิธีการ และหลักการของการทำ AD แค่เริ่มดราฟท์แรกก็ตกม้าตายแล้ว.. เพราะความที่คิดถึงวิทยาเป็นหนังที่เดินเรื่องหลายเงื่อนเวลาตัดสลับกันไปมา ทีมงานกลัวไปก่อนว่า คนตาบอดจะไม่เข้าใจ จึงเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงรูปแบบการดำเนินเรื่อง ซึ่งเมื่อมาทดลองเปิดให้กลุ่มเป้าหมายฟัง เป็นอันรื้อทิ้งทั้งหมด!

"พวกพี่ๆ เขาถามเลยว่า ตรงนี้ ในหนังมีบอกไหม เราก็ตอบว่าไม่มี.. เขาก็เลยบอกว่า ถ้าไม่มีก็ตัดออกไป เพราะเขาอยากจินตนาการสิ่งที่คนตาดีเห็น"

แม้จะต้องรื้อตั้งแต่ต้นแต่ทีมงานก็ไม่ท้อ โดยมี ศุภฤกษ์ นิงสานนท์ หนึ่งในทีมเขียนบทภาพยนตร์คิดถึงวิทยา รับหน้าที่เป็นตัวหลักในการเขียนบทบรรยายภาพ ซึ่งปรียาวรรณ บอกว่า แก้กันอยู่หลายรอบ เพราะถ้าจะทำ ก็ต้องทำให้คนตาบอดดูแล้วรู้สึกว่าใช่..

และด้วยความที่ต้องทำการมิกซ์เสียงใหม่ ก็ส่งผลให้ต้นทุนการทำดีวีดีพุ่งสูงขึ้นกว่าครึ่งล้าน ซึ่งยังโชคดีที่มีเอไอเอสมาร่วมเป็นพันธมิตรสำหรับโครงการนี้ โดยปรียาวรรณ บอกว่า หลังจากนี้ ก็มีแผนการจะรื้อหนังเรื่องเก่าๆ กลับมาทำ AD ด้วย

ตบท้ายด้วยอาจารย์ใหญ่ของวงการ AD อย่าง Joel ที่ให้กำลังใจว่า เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา เพราะกระทั่งในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือ อังกฤษ และ ออสเตรเลีย ก็ยังฝ่าฟันกันอยู่นานเป็นสิบปี กว่าที่ผู้ประกอบการจะเห็นความสำคัญ แต่ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนที่จะช่วยผลักดันให้การทำเสียงบรรยายภาพเกิดขึ้นได้จริงนั้น ก็คือ คนดูนี่แหละที่ควรจะเรียกร้อง "สิทธิ" ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน

...นั่นคือ การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเท่าเทียม ..ช่วยเหลือกันโดยไม่จำเป็นต้องมีใครเหนือกว่าใคร เหมือนอย่างที่กิติพงศ์ ฝากบอกมา.. "อยากให้เขาเป็นตาให้ผม แต่คงไม่รบกวนว่าให้มาเป็นสมองให้"