เปิดผลประเมินอคส.'วิกฤติ'

เปิดผลประเมินอคส.'วิกฤติ'

เปิดผลประเมินอคส.'วิกฤติ' ปิดงบไม่ลง49โครงการ จาก61 โครงการรัฐ ด้านสตง.ไม่รับรอง5ปี

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ประเมินผลดำเนินการขององค์การคลังสินค้า(อคส.) ในไตรมาสแรกของปี 2557 โดยจัดอยู่ในกลุ่ม "วิกฤติ" ร่วมกับรัฐวิสาหกิจอีก 4 แห่งคือ การบินไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และบริษัททีโอที จำกัด(มหาชน)

หากวิเคราะห์โครงสร้างรายได้ของอคส. ในไตรมาสแรกปีนี้ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 90.5 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งมีรายได้รวมถึง 1,606.3 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาแยกแยะประเภทที่มาของรายได้ ปรากฏว่าเป็นรายได้เชิงพาณิชย์ 25.1 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมรายได้จากการดำเนินโครงการ 47.82 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 53% ของรายได้รวม

ส่วนใหญ่มาจากการขายสินค้าโภคภัณฑ์จำนวน 15.82 ล้านบาท คิดเป็น 17% รองลงมาเป็นรายได้ค่าเช่าคลังสินค้าและห้องเย็น 6.10 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7%

ในขณะที่รายได้จากการขายข้าวทั้งในและต่างประเทศซึ่งเคยสร้างรายได้มากที่สุด ในสัดส่วนสูงถึง 57% ของรายได้รวมในช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมีรายได้เหลือเพียง 3.17 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของรายได้รวม

สาเหตุที่รายได้ลดลง เนื่องจากรัฐบาล มีนโยบายให้ชะลอการผลิตและจำหน่ายข้าวถุง

ด้านโครงสร้างค่าใช้จ่ายของในไตรมาสแรก มีทั้งสิ้น 68.4 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร 26.81 ล้านบาท คิดเป็น 39% ของค่าใช้จ่ายรวม รองลงมาเป็นต้นทุนขายสินค้าโภคภัณฑ์ 15.35 ล้านบาท และต้นทุนจากการดำเนินโครงการ 13.75 ล้านบาท คิดเป็น 22% และ 20% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เป็นค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล 25.20 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 38.61% ของค่าใช้จ่ายรวม

จากรายได้และรายจ่ายข้างต้น ส่งผลให้ผลดำเนินงานของอคส.ในไตรมาสแรก มีกำไรสุทธิ 22.08 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดี่ยวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิถึง 130.4 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 1,015.9 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้อคส. มีตัวเลขทางการเงินในงบดุลเพิ่มขึ้นหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น เงินสด สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของทุน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้และค่าใช้จ่าย กลับมีแนวโน้มลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด จากยอดที่สูงกว่า 1,000 ล้านบาท เหลือเพียงไม่เกิน 100 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรที่เริ่มลดลง และเมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ พบว่า อคส. ขาดทุนจากการดำเนินงานและมี EBITDA เป็นลบ โดยติดลบจำนวน 31.3 ล้านบาท ต่างจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่าเป็นบวก

นอกจากนี้ พบว่า การดำเนินโครงการอัตรากำไรขั้นต้นมากที่สุด คือ 71.25% เมื่อเทียบกับธุรกิจทั้งหมดของ อคส. โดยรองลงมาเป็นธุรกิจประเภทคลังสินค้าและห้องเย็นที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 68.69% และการขายข้าวในประเทศ มีอัตรากำไรขั้นต้น 32.41%

ในขณะที่การขายข้าวต่างประเทศมีอัตรากำไรติดลบที่ 8.67%

นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการปิดบัญชี ซึ่งยังไม่เป็นปัจจุบัน แต่ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ อคส. อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและปรับบทบาทองค์กร ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการได้จะส่งผลให้ อคส. มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อคส. สามารถปิดบัญชีงบการเงินรวมและงบการเงินโครงการรัฐบาล (คชก.) ได้จนถึงปี 2555 ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)รับรองแล้วถึงปี 2551 โดยปัจจุบันคงเหลือการปิดงบการเงินโครงการรัฐบาลปีบัญชี 2556 จากทั้งหมด 61 งบ ดำเนินการแล้วเสร็จเพียง 12 งบ คงค้างอีก 49 งบ หรือคิดเป็นดำเนินการได้ 19.67% แต่งบการเงินของอคส.สามารถปิดบัญชีได้เป็นปัจจุบัน

สถานะการดำเนินงานของอคส.กลับมาขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่ยังมีกำไรสุทธิ และกำไรสะสมจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามรายได้จากธุรกิจหลักยังไม่สร้างรายได้เท่าควร นอกจากนี้ งบการเงินรวมของอคส. ยังไม่ได้รับการรับรองจากสตง.ตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน

จากสถานะของอคส.ที่เข้าขั้น"วิกฤติ" ถือเป็นภาระหนักของนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการอคส.คนปัจจุบัน

นายชนุตร์ปกรณ์ เข้ามารับตำแหน่ง หลังจากที่คณะกรรมการอคส. มีมติเลิกจ้าง พ.ต.ท. ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ อดีตผอ.อคส. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2556 โดยทำสัญญา 4 ปี และประเมินผลงานทุก 6 เดือน

“ผมมั่นใจว่าจะทำให้อคส.มีผลประกอบการที่ดีได้ จากการประเมินการทำงานของผมช่วง 6 เดือนโดยบอร์ดอคส. (คณะกรรมการองค์การคลังสินค้า) ผมสอบผ่าน และไม่ห่วงจะมีปัญหาการดำรงตำแหน่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะผมเข้ามาด้วยโปรไฟล์ด้านการทำงาน ความสามารถการบริหารงานในอดีต ไม่ใช่เข้ามาเพราะการเมือง” นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าว

ยกเลิกรายได้ข้าวถุงรายได้สูญ300ล้าน

นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าวกับ“กรุงเทพธุรกิจ” ถึงผลดำเนินงานของอคส.ที่ถูกจัดในระดับวิกฤติ ว่าผลการประเมินติดลบเพราะโครงการจำหน่ายข้าวถุง ซึ่งเป็นรายได้หลักในเชิงพาณิชย์ถูกยกเลิกไป ทำให้รายได้มูลค่า 200-300 ล้านบาท ที่ได้รับในช่วงดำเนินโครงการตั้งแต่ 2555 และสามารถสร้างรายได้เต็มที่ในช่วงปี 2556 หายไปหลังการยุติโครงการในเดือนส.ค.2556 ที่ผ่านมา จากสาเหตุข้อสงสัยการทุจริตในโครงการซึ่งเรื่องยังอยู่ในขั้นการสอบสวน

ทั้งนี้ รายได้เชิงพาณิชย์ดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่กระทรวงการคลังใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดฐานะทางการคลังของอคส.และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าวว่าอคส.มีรายได้จากด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งการทำการค้า(เทรดดิ่ง)ในส่วนการค้าระหว่างประเทศและการค้าภายในประเทศ รูปแบบซื้อมาขายไป ในหลายกลุ่มสินค้า นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการให้เช่าคลังสินค้าที่มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 50 ล้านบาท

โครงการรัฐชะงักฉุดรายได้

“พอเรามีรายได้จากโครงการข้าวถุง ปีละ 200-300 ล้านบาทเมื่อปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 แต่พอประเมินผลประกอบการปี 2557 รายได้ส่วนนี้หายไป ทำให้ผลประกอบการเชิงพาณิชย์เราหายไป เพราะตัวเลขเทียบปีต่อปีจะเท่ากับศูนย์ทันทีทำให้ในทางบัญชีเราขาดทุน แต่ในความเป็นจริง อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจที่เทียบกับหน่วยงานที่ดูแลสินค้าเกษตรด้วยกันแล้วถือว่าผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์สีเขียวหรือไปได้สวยเลยก็ว่าได้” นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าว

นอกจากปัญหาเรื่องการหยุดโครงการข้าวถุงแล้ว ยังมีปัญหาจากการเมืองช่วง พ.ย.2556-พ.ค. 2557 ที่ทำให้ข้อตกลงที่ทำไว้กับต่างประเทศ เช่น การติดต่อขายข้าวให้จีนต้องยุติลงเพราะจีนไม่มั่นใจว่าอคส.จะสามารถทำตามเงื่อนไขที่ตกลงว่าจะส่งขายข้าวให้ได้ตามสัญญา การเจรจาครั้งนั้นจึงต้องหยุดไปทันที และเมื่อจะต้องเริ่มต้นเจรจาใหม่ ยอมรับว่าต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ทำให้ปี 2557 นี้ ไม่น่าจะมีรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง

"ขณะนี้กำลังเปิดการเจรจากับจีนใหม่เพื่อส่งขายข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง แต่พบว่าเงื่อนไขในเบื้องต้นเทียบกับการเจรจาครั้งก่อนที่ได้ดำเนินการไว้แล้วนั้นมีเงื่อนไขที่แย่กว่ามาก"

นายชนุตร์ปกร์ กล่าวอีกว่า ในด้านค่าใช้จ่ายของอคส. ที่ปัจจุบันมีพนักงาน 400 คน มีลูกจ้าง 400 คน ถือเป็นภาระที่หนักมากและถือเป็นส่วนใหญ่ของต้นทุนที่อคส.ต้องแบกรับ และเมื่อไม่มีโครงการของรัฐโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวทำให้ต้นทุนส่วนนี้กลายเป็นส่วนที่ "ไม่ก่อให้เกิดรายได้"

ยังไม่มีนโยบายปลดคน

การจะปลดคนออกไปยังไม่อยู่ในแผนขณะนี้ แต่จะเลือกการเร่งสร้างรายได้จากส่วนอื่นและใช้ประโยชน์จากคนที่มีอยู่ให้ได้ก่อน ซึ่งท้ายที่สุดประเมินแล้วไม่สามารถทำให้ผลประกอบการออกมามีกำไรได้ก็คงต้องเลือกการเลิกจ้างเป็นทางออกสุดท้าย

“ตอนนี้จะทำอย่างไรให้ใช้สิ่งที่มีอยู่มาเกลี่ยเพื่อร่วมกันสร้างองค์กรให้มีกำไรมีรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องเลิกจ้างผมยังไม่ได้คิด ทุกคนมีภาระ วันหนึ่งเราไม่มีโครงการแล้วและเดินไปบอกเขาเหล่านั้นว่าผมเลิกจ้างมันไม่ใช่แนวทางบริหารงานที่ดี” นายชนุตร์ปกรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปี 2557 นี้ อคส.ยังมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท จากธุรกิจเทรดดิ้งบางส่วนและค่าเช่าโกดัง ถือว่าไม่ขาดทุนแต่มีรายได้น้อยลง ทำให้เทียบปีต่อปีผลประกอบการจึงออกมาไม่ดีนัก แต่หากประเมินย้อนหลังไปอีกจะพบว่าอคส.ได้ฟื้นจากภาวะขาดทุนสะสมมาได้แล้ว โดยสถานะเมื่อ 4 ปีก่อนต้องใช้คำว่าเกือบไม่มีการจ่ายเงินเดือนพนักงานเพราะขาดทุนอย่างหนัก แต่ตอนนี้อยู่ในภาวะปกติ แต่ก็ไม่มีโบนัสให้พนักงานมานานต่อเนื่องกันหลายปีแล้วและปีนี้ก็ไม่น่าจะมีโบนัสเช่นกัน

นายชนุตร์ปกร์ กล่าวอสค.กำลังจัดทำแผนปี 2558 โดยทิศทางจะเน้นการทำธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้น และให้สอดคล้องกับแผนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้ไว้ ว่าทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์จะต้องมีการทำงานในส่วนการนำประเทศไปเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่บูรณาการกันทุกหน่วยงานต้องเชื่อมต่อกันได้ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ ทำให้แผนที่อคส.จะบุกตลาดอาเซียนจะต้องปรับให้สอดคล้องกับของกระทรวงพาณิชย์