สตง.ชง'ประยุทธ์'ยุบ'กสทช.'

สตง.ชง'ประยุทธ์'ยุบ'กสทช.'

สตง.ชง"ประยุทธ์"ยุบ กสทช. อ้างเหตุปัญหาในเรื่องการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินไม่ได้ประสิทธิภาพ

เฟซบุ๊คสำนักข่าวอิศรารายงานวันนี้ว่า ได้รายงานรายละเอียดในหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ทำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และขอให้แจ้งสำนักงาน กสทช. นำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จำนวน 50,862 ล้านบาท ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รายละเอียดว่า

"ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำการตรวจสอบงบการเงินและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน

พบว่า ในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งหลักสำคัญอยู่ที่กฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน คือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่) นั้น

จากการพิจารณา พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พบว่า ประเด็นหลักที่ทำให้การดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินของสำนักงาน กสทช. ยังคงมีปัญหาในเรื่องการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินไม่ได้ประสิทธิภาพตามเจตจำนงแห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

1. การบริหารการใช้จ่ายเงินรายได้ที่จัดเก็บมีความเป็นอิสระแตกต่างจากองค์กรของรัฐทุกประเภท โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งอาจขัดแย้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ จนอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพได้

ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 57 (2) ได้ระบุ ให้สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอ กสทช. อนุมัติโดยรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. ให้หมายความรวมถึงรายจ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กสท. กทค. และสำนักงาน กสทช. เป็นเหตุให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. และการใช้จ่ายเงินขาดการควบคุมดูแลตามหลักการบริหารเงินงบประมาณที่ดี ตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และมีความแตกต่างจากองค์กรของรัฐอื่น ๆ ที่ต้องมีหน่วยงานอื่นที่มีความชำนาญ เช่น สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาความเหมาะสมของการจัดทำงบประมาณหรือการใช้จ่ายเงินเพื่อการลงทุน เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของประเทศได้ทราบและเห็นทิศทางการพัฒนา และการใช้ทรัพยากรของชาติในทุกประเภทและทุกมิติ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าควรมีการพิจารณาข้อกำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ต้องผ่านขั้นตอนเหมือนกับหน่วยงานของรัฐโดยทั่วไป เพื่อทำให้การใช้จ่ายเงินมีความรอบคอบ รัดกุมและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด

2. รายได้ที่ได้จากทรัพยากรของชาติ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของประชาชนชาวไทยทุกคนถูกกำหนดให้มีกลุ่มบุคคลทำการบริหารการใช้จ่าย โดยมิได้พิจารณาถึงความเหมาะสมอย่างเพียงพอและไม่มีการสอบทานการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายจากองค์กรที่มีบุคลากรซึ่งมีความรู้และความชำนาญ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมากที่สุด ดังนี้

ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 41 วรรคหกและมาตรา 42 รายได้ที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นของกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้สำนักงาน กสทช. นำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ฯ (กองทุนวิจัยและพัฒนาฯเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.) ซึ่งในปี 2556 สำนักงาน กสทช. มีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ เป็นจำนวนถึง 50,862.00 ล้านบาท

แต่ในขณะที่มาตรา 45 ได้กำหนดว่าเงินได้ที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งมีความแตกต่างจากรายได้การประมูลคลื่นความถี่ของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

เมื่อติดตามตรวจสอบรายได้ที่กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ได้รับ พบว่า นอกจากจะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ของกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์แล้ว กสทช. ยังได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน

โดยระบุให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องจัดสรรรายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมให้แก่กองทุนในอัตราร้อยละ 3.75 ต่อปีของรายได้สุทธิ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บจากกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ส่วนสำนักงาน กสทช. จะมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยให้ชำระเป็นรายปีปีละไม่เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าควรให้สำนักงาน กสทช. นำส่งเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 50,862.00 ล้านบาท เป็นรายแผ่นดิน และเมื่อมีโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ให้เสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรเงินต่อไป

3. คุณสมบัติและการได้มาซึ่งกรรมการ กสทช. เลขธิการ กสทช. และคณะกรรมการติดตามประเมินผลการประเมินผลงานปฏิบัติงาน

คุณสมบัติตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ก. กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นกรรมการใน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นพบว่า คุณสมบัติที่เกี่ยวกับอายุโดยทั่วไปจะไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี ส่วนคุณสมบัติที่เกี่ยวกับอายุของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ไม่มีการระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า การกำหนดอายุของผู้เป็นกรรมการใน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. อาจไม่เหมาะสมในเรื่องวัยวุฒิและวุฒิภาวะในการเข้ามาดูแลทรัพยากรของชาติที่มีมูลค่ามหาศาลและมีความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารและความมั่นคงของประเทศ

การได้มา - กสทช.ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 9 ได้กำหนดให้

ก.) สมาคม สถาบัน หรือองค์กรที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดคือ สมาคมวิชาชีพด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี สถาบันอุดมศึกษาที่สอนในระดับปริญญาในสาขาวิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน โทรคมนาคม นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ไม่น้อยกว่าห้าปี และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ที่มีวัตถุประสงค์หลักด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือที่มีวัตถุประสงค์หลักด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคมและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่าห้าปี มาขอขึ้นทะเบียนไว้ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

โดยในวรรคสี่ของมาตรา 9 ยังได้ระบุไว้ว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้รับจดทะเบียนสมาคม สถาบัน หรือองค์กรใดตามวรรคหนึ่งแล้วให้เป็นอันใช้ได้ การวินิจฉัยของศาลในภายหลังว่าการจดทะเบียนนั้นเป็นการไม่ชอบไม่ให้มีผลกระทบต่อการที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

ข.) ให้สมาคม สถาบัน หรือองค์ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการเสนอชื่อพร้อมทั้งหนังสือยินยอมของบุคคลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่เลขาธิการวุฒิสภากำหนด

ค.) คณะกรรมการสรรหาจำนวน 15 ท่าน ดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่ากระบวนการได้มาอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากอาจมีความไม่โปร่งใสและอาจถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจนี้ เนื่องจากการคัดเลือกกันเองก่อนจะมีการสรรหา

การได้มา - เลขาธิการ กสทช.

ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 61 ระบุให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า กระบวนการได้เลขาธิการ กสทช. มา ไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากไม่มีการคานอำนาจกันระหว่าง กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เพราะ กสทช. มีอำนาจแต่งตั้งและถอนถอนเลขาธิการ กสทช. ดังนั้น จึงควรกำหนดให้มีการสรรหาเลขาธิการ กสทช.เช่นกัน

ความชัดเจนเรื่องของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามประเมินผลฯ

เนื่องจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 70 วรรคสอง ได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้จัดให้มีการดำเนินการคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการตามวรรคหนึ่ง เพื่อนำเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานวุฒิสภากำหนด และมาตรา 72 ที่ระบุให้คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน มีอำนาจหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและบริหารงานของ กสทช. กสท. กทค. สำนักงาน กสทช.และเลขาธิการ กสทช. แล้วแจ้งผลให้ กสทช. ทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีและให้กสทช. นำรายงานดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภาพพร้อมรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กสทช. ตามมาตรา 37 และเปิดเผยรายงานดังกล่าวให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กสทช.หรือวิธีการอื่นที่เห็นสมควร

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามประเมินผลฯ หากไม่ชัดเจนและอาจซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน (Audit committee) และจากการตรวจสอบการตั้งงบประมาณและการใช้จ่ายเงินพบว่า คณะกรรมการติดตามประเมินผลฯ มีการใช้จ่ายเงินในปี 2556 จำนวน 52.00 ล้านบาท และมีการของบประมาณเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามประเมินผลฯ ในปี 2557 จำนวน 170.00 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 200 จากจำนวนค่าใช้จ่ายในปีก่อน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการดำเนินการในลักษณะของสำนักงานและมีบุคลากรเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจมีเนื้องานที่ซ้ำซ้อนกับการตรวจสอบภายในได้

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงขอเสนอข้อตรวจพบดังกล่าว ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 พร้อมกับขอเสนอให้ คสช. แจ้งสำนักงาน กสทช. นำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 50,862.00 ล้านบาทส่งเป็นรายได้แผ่นดินในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงให้เสนอของบประมาณเพื่อดำเนินโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนในด้านการกระจายเสียงโทรทัศน์และคมนาคมอย่างคุ้มค่า ยั่งยืนและแท้จริงต่อไป

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ ลงชื่อนางสาวประพีร์ อังกินันทน์รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน"