"สบายอารมณ์"ผลิตภัณฑ์แห่ง "ความสุข"

"สบายอารมณ์"ผลิตภัณฑ์แห่ง "ความสุข"

พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น “Product of Happiness”ผลิตภัณฑ์แห่งความสุข ที่ใส่ใจตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงมือผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ สีสันสะดุดตา เรียงรายอยู่ในบูธ “Sabai-arom” (สบายอารมณ์) ในงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ภายในบ้าน “BIG+BIH April 2014” ที่ผ่านมา

สิ่งที่แตกต่างไปจากจุดขายของหลายแบรนด์ คือ การชูข้อความ “Sustainable Happiness” สุขยั่งยืน ดึงดูดผู้คนให้แวะชมผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

“สบายอารมณ์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบความสุข ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีจากท้องถิ่นทั่วประเทศ ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี คนปลูกมีความสุข มาผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี ตอบความสุขของผู้ใช้”

“สุวรรณา เจริญชีพ” ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ แบรนด์ สบายอารมณ์ บอกเล่า “ความสุข” ที่ซ่อนอยู่ในความหมายของคำว่า “สุขยั่งยืน” แบบสบายอารมณ์

นั่นยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนจะธรรมดา กลายเป็นของ “ไม่ธรรมดา” และทำให้เราจนอยากรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น

เรื่องเล่าแห่งความสุข เริ่มต้นขึ้นในปี 2004 โดยสองสาว “ศศธรณ์ ณ สงขลา” และ “วันทนีย์ ภาสุรกุล” ผู้ร่วมก่อตั้ง “สบายอารมณ์” ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปสัมผัสความสุขแบบเรียบง่ายในท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้สัมผัสวิถีชีวิตอันเป็นสุขของผู้คน ได้พบเจอกับพืชพรรณ ดอกไม้ และสมุนไพร เหล่าของดีจากธรรมชาติที่มีอยู่ในผืนแผ่นไทย ตลอดจนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ จนนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่ตอบความสุขกาย สบายอารมณ์ ของผู้คนในวันนี้

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่าการคิด “คอนเซ็ปต์” ดีๆ ขึ้นมาได้ ก็คือสามารถส่งต่อแนวคิดนั้น ไปยังทีมงานทุกชีวิต ง่ายๆ คือ ให้ทุกคนที่เป็นพลพรรคสบายอารมณ์ ได้ “อิน” กับคอนเซ็ปต์เดียวกันนี้

รูปแผนที่ประเทศไทยวาดด้วยชอล์ก เด่นตระง่านผนังบูธ สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น พวกเขาอธิบายว่า นี่คือภาพการลงพื้นที่ทั่วประเทศของชาวสบายอารมณ์ เพื่อไปสรรหาวัตถุดิบที่ดีในท้องถิ่นต่างๆ

ขั้นตอนการลงพื้นที่สำรวจแหล่งวัตถุดิบ ไม่ได้เป็นเพียงโจทย์ที่โยนให้กับฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่คือ ทีมงานทุกๆ ฝ่าย ที่จะไปลงพื้นที่ร่วมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายครีเอทีฟ ฝ่ายขาย การตลาด หรือแม้แต่ฝ่ายบัญชี เพื่อที่จะให้พนักงานได้ “อิน” กับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาตั้งแต่ต้น

“ออฟฟิศเราทำงานกันแบบครอบครัว มีความเป็นพี่เป็นน้อง เราจะจัดทริปเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อไปดูแหล่งวัตถุดิบ ไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ที่ทีมงานต้องลงพื้นที่เอง ก็เพื่อจะได้อินกับสินค้าตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งความอินจะส่งผลให้ทีมครีเอทีฟมีไอเดียมาพัฒนาสินค้า และเลือกการนำเสนอให้น่าสนใจ ขณะที่อย่างฝ่ายขายเวลาพูดถึงสินค้า หรือนำเสนอขายลูกค้า เราก็จะอินและเข้าใจในคุณค่าของสินค้ามากขึ้น”

การทำงานของฝ่ายขายในองค์กรอื่น อาจต้องอยู่ภายใต้สภาวะกดดันที่จะต้องทำยอดให้ได้ แต่กับฝ่ายขายของสบายอารมณ์ เธอบอกว่า เป็นการทำงานที่ “มีความสุข” โดยไม่ได้มีเป้ามากดดันการขาย

“อย่างเวลามาออกบูธ ถ้าเป็นที่อื่นคงบอกว่า ตั้งเป้าต้องได้ยอดวันละเท่านั้นเท่านี้ แต่กับที่นี่ เจ้านายบอกเพียงว่า อย่าไปกดดันลูกค้าเยอะนะ อย่าทำให้ลูกค้าเครียด เป้าหมายมาออกงานก็เพื่อหาตัวแทนจำหน่ายที่เป็นลองเทิร์มให้ได้ หาคนที่อินและเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของเรา เพื่อเป็นคู่ค้าที่ยั่งยืน ฉะนั้นหน้าที่เราก็แค่ หาคนแบบนั้นให้เจอ”

เธอบอก เป้าหมาย “โกอินเตอร์” ในแบบสบายอารมณ์ หลังจากสร้างความรู้จักและคุ้นเคยในตลาดประเทศไทย ด้วยการเป็นผลิตภัณฑ์ขายเฉพาะ (Exclusive) ที่ร้านบูทส์ จนแข็งแกร่งมาได้ระดับหนึ่ง แผนในวันนี้ จึงเป็นการสยายปีกไปต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ได้ไปเปิดตลาดแล้วที่ มาเลเซีย และฮ่องกง และเร็วๆ นี้กำลังจะไปที่ญี่ปุ่น และมาเก๊า

การไปเจาะตลาดต่างประเทศ ไม่เพียงต้องหาตัวแทนจำหน่าย ที่ “ใจเดียวกัน” ทว่ายังรวมถึง ต้องพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจในตลาดต่างประเทศด้วย โดยเริ่มจากการสรรหาวัตถุดิบที่ดี ผ่านการปลูกจากเกษตรกรที่มีความสุข ปลูกด้วยระบบออร์แกนิกส์ มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง ขณะที่ผลผลิตที่ปลูกต้องเป็นพืชพันธุ์ที่ปลูกในไทย เพื่อบอกเล่าความเป็นไทยให้โลกรู้

ที่สำคัญไม่ใช่จะผลผลิตอะไรก็ได้ หรือปลูกที่ไหนก็ได้ แต่ต้องมีคุณค่า มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่ในนั้น

เช่น “มะม่วง” ที่ไม่ใช้มะม่วงทั่วไป เพราะใครๆ ก็คิดได้ แต่เลือกมะม่วงพันธุ์ “มหาชนก” จากสวนทิวทอง จังหวัดลำพูน สถานที่กำเนิดของมะม่วงมหาชนก จากแรงศรัทธาของเกษตรกรที่มีต่อพระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่รัก มะม่วงมหาชนก ถูกตั้งชื่อตามพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ที่สอนเรื่องความมุ่งมั่นและความเพียร

หรืออย่างการเลือก “ข้าว” จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ต.ทะมอ จ.สุรินทร์ เกษตรกรที่ยึดมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ ใช้วิถีเกื้อกูลในระบบนิเวศน์ทุกขั้นตอน และเป็นอิสระจากระบบเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ ขณะที่เกษตรกรยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายใจ และมีความสุข

เพื่อนำสรรพคุณ เรื่องราวและความเกี่ยวพันของวิถีชีวิตผู้คนที่มีต่อพืชพันธุ์ต่างๆ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาในแต่ละคอลเลคชั่น นำส่งความสุข "ล้นใจ" ไปยังลูกค้าของพวกเขา

“สุวรรณา” เป็นหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ขององค์กร ที่เลือกทำงานในองค์กรซึ่งเห็นคุณค่าของ “ความสุข” ในทุกมิติ เธอสะท้อนความคิดว่า องค์กรจะยั่งยืนได้ ถ้าไม่สนใจแต่ผลกำไร เพียงอย่างเดียว ทว่าต้อง “ใส่ใจ” พนักงาน คู่ค้า สังคม ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกันด้วย

“ก่อนหน้านี้เคยทำงานในโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) เขาให้งานมาก็รับทำ ตอนนั้นได้เงินเยอะก็จริง แต่เราเหนื่อยตลอดเวลา ขณะที่ลูกค้าวันหนึ่งเขาเจอที่อื่นทำให้ถูกกว่า เขาก็ไป สุดท้ายเราก็ตาย แต่พอมาทำแบบนี้ สังเกตว่าพอเราสร้างแบรนด์ได้ ลูกค้าชอบในสบายอารมณ์ เขาก็จะคอยติดตามเราอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การมีตัวแทนจำหน่ายที่ดี เชื่อในคอนเซ็ปต์เดียวกับเรา ก็ช่วยให้ธุรกิจของเรา ยั่งยืนอยู่ได้ในอนาคต”

เธอสะท้อนความคิด ในฐานะหนึ่งคนทำงานในองค์กรแห่งความสุข เพื่อทำหน้าที่ส่งต่อ "ผลิตผลแห่งความสุข" ไปเสิร์ฟผู้คนบนโลกใบนี้