ธุรกิจ'ปรับแผน'หนีการเมือง

ธุรกิจ'ปรับแผน'หนีการเมือง

บิ๊กธุรกิจปรับรับพิษการเมือง 'เอสซีจี-สหพัฒน์'ลุยนอก-ปตท.รอประเมิน3เดือน 'กานต์' ชี้คาดการณ์ได้รัฐบาลใหม่ยาก เป็นความเสี่ยง

เอสซีจี ปรับแผนธุรกิจรับผลกระทบการเมือง มุ่งเจาะตลาดต่างประเทศแทนกำลังซื้อภายในชะลอ "กานต์" ชี้เศรษฐกิจปีนี้อาจโตต่ำกว่า 2.7% ระบุความไม่แน่นอนตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก แต่ยังมั่นใจกระทบช่วงสั้น ด้าน "ไพรินทร์" เผยขอเวลาอีก 3 เดือนประเมินสถานการณ์ ก่อนทบทวนแผน ขณะที่ ค่ายสหพัฒน์ ปรับตัวครั้งใหญ่รอบหลายสิบปี มุ่งเจาะตลาด-ลงทุนต่างประเทศ

ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจหลากหลาย ได้เริ่มปรับแผนรับผลกระทบทางการเมือง เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ทำให้การเมืองกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในปีนี้

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า กลุ่มเอสซีจี เห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 2556 แล้ว ซึ่งในไตรมาสแรกหลายกลุ่มธุรกิจก็เริ่มได้รับผลกระทบ แต่จะเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในไตรมาสสองของปีนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 2.7% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศนั้น ทาง เอสซีจี ประเมินดูแล้วเห็นว่าน่าจะเติบโตต่ำกว่า 2.7%

"เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถมีใครที่จะบอกได้ว่า เราจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มซึ่งไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เข้ามาบริหารประเทศได้เมื่อไร ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยง"

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนในปี 2557 ที่ทาง เอสซีจี ได้มีการทบทวนปรับปรุงใหม่ และรายงานให้บอร์ดได้รับทราบ ก็มีการจัดทำออกมาเป็นแบบจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (scenario) ตั้งแต่ดีที่สุด ไปจนถึงขั้นเลวร้ายที่สุด ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อาจถึงขั้นติดลบได้ในกรณีที่ความขัดแย้งบานปลายไปจนเกิดความรุนแรง พร้อมวางแผนปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามแต่ละ scenario

"ในความเป็นจริง เรายังเชื่อว่าปัญหาการเมืองไทยน่าจะคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปีนี้ และไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจน่าจะเป็นในระยะสั้น เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในแต่ละฝ่ายคงจะได้เรียนรู้ และมองกระบวนการประชาธิปไตย ในภาพเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมากขึ้น จากที่มองกันคนละมุม ซึ่งในระยะยาว ก็คงจะมีวิธีการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาอีก" นายกานต์ กล่าว

นายกานต์ กล่าวว่า ไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นประเทศที่นักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสำคัญ เพราะเป็นประเทศที่มีพรมแดนที่เชื่อมต่อติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า อาเซียนจะเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่จะเติบโตอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ต่างฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ค่อนข้างดี ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน จะค่อยๆ ชะลอตัวลง แต่ก็ยังถือว่ามีอัตราการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ

คาดการเมืองกระทบระยะสั้น

นายกานต์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยชะลอจากปัญหาการเมืองในปีนี้ จะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และเชื่อว่าภาคเอกชนไทยที่มีความเข้มแข็ง อาทิ กลุ่มซีพี ปตท.หรือ เอสซีจี น่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เพราะความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มกลับมา แล้วจากการยกเลิกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเริ่มที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวตามสมควร นอกจากนี้ หากรัฐสามารถการแก้ไขปัญหาในเรื่องของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กลับมาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังค้างอยู่ เพื่อให้มีตัวเลขการลงทุนที่ขยายตัวขึ้นได้ ก็จะเป็นผลดี

"ถ้าไม่แก้ไขในจุดนี้ ปัญหาเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปีหน้า"

"เราเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับเข้ามา หลังจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผมไม่ได้มีนัดหมายประชุมหารือทางธุรกิจกับหุ้นส่วนต่างประเทศเลย เพราะเขาติดที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ตอนนี้ นัดหมายต่างๆ เริ่มกลับมาแล้ว ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคราวนี้ ยังห่างไปจากเมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต้มยำกุ้งอยู่มาก" นายกานต์ กล่าว

เพิ่มส่งออกรับตลาดในประเทศชะลอ

นายกานต์ กล่าวว่า เอสซีจีหันไปเพิ่มการส่งออก ทดแทนเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้ยอดขายกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างช่วง 2 เดือนแรกติดลบไปประมาณ 5-8% ซึ่งคาดว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวลดลง หรือติดลบ ในขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ก็มียอดขายในประเทศที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี สามารถเพิ่มการส่งออกเพื่อทดแทนคำสั่งซื้อตลาดในประเทศลดลงได้

สำหรับธุรกิจของซีเมนต์ หากโครงการลงทุนของภาครัฐยังไม่กลับมาในปีนี้ ก็จะมีการเพิ่มการส่งออกไปในกลุ่มอาเซียน จากเดิมที่คาดว่าจะลดการส่งออกลงเหลือ 3 ล้านตันในปีนี้ ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 4 ล้านตัน โดยเป็นการส่งออกไปพม่า ประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากโรงงานซีเมนต์ในพม่า คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2559

การปรับตัวของเอสซีจี จะใช้การส่งออกเพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่ชะลอตัว จากปีที่ผ่านมา มีการส่งออกประมาณ 26% ก็จะเพิ่มเป็น 28% อย่างไรก็ตาม ยอดขายโดยรวมในปีนี้ยังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% คือ ประมาณ 478,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว ที่มียอดขายรวมประมาณ 430,000 ล้านบาท โดยถึงแม้ยอดขายในประเทศจะไม่เติบโต แต่ธุรกิจของเอสซีจีที่ออกไปในทุนในอาเซียนก่อนหน้านี้ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% เช่นเดียวกัน จากปีที่แล้วมียอดขายประมาณ 38,000 ล้านบาท ในปีนี้คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40,000 ล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 250,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มอาเซียนมากกว่า 50% หรือมากกว่าการลงทุนในประเทศ ทั้งโครงการลงทุนโรงงานซีเมนต์ที่พม่า อินโดนีเซีย และโรงงานซีเมนต์ส่วนขยายที่กัมพูชา รวมทั้ง โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่เวียดนาม ก็คาดว่าจะเริ่มใช้เงินลงทุนประมาณต้นปีหน้า

ปตท.ขอเวลา 3 เดือน ปรับแผนลงทุน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนของ ปตท.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาการลงทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ปตท.

นายไพรินทร์ กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ของ ปตท. ยังคงเดินหน้าปกติ การเมืองส่งผลกระทบต่อ ปตท. ไม่มาก แต่ภาพใหญ่ของพลังงานโดยเฉพาะในส่วนของนโยบายขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทำให้หลายเรื่องอยู่ที่ กพช. อย่างเช่น เรื่องของแอลพีจี การปรับราคาเป็นเรื่องของนโยบายต้องเข้าไปแก้ไข แต่ตอนนี้ไม่มีรัฐบาล ทำให้การทำงานลำบาก

นายไพรินทร์ กล่าวว่าในสภาพกลับกัน หากการเมืองยืดยาวการใช้พลังงานอาจจะลดลงได้ การลงทุนอาจต้องพิจารณาใหม่ว่าจะชะลอหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะลงทุนไม่ได้ แต่การจะลงทุนได้หรือไม่อยู่ที่สภาวการณ์โดยรวมของธุรกิจมากกว่า

"ปตท.ยังไม่ได้มีการปรับแผนอะไร เพราะโดยปกติแล้ว ปตท.จะปรับแผนงบประมาณในช่วงครึ่งปี ดังนั้นช่วง 2-3 เดือนนี้จะยังไม่มีการปรับแผนอะไร แต่ถ้า 3-4เดือนข้างหน้า หรือประมาณเดือนมิ.ย. นี้ ปตท.อาจต้องดูอีกที"

นายไพรินทร์ กล่าวว่า การใช้พลังงานเป็นตัวสุดท้าย หากการใช้พลังงานลดลงแสดงว่าเป็นเรื่องใหญ่ พลังงานถือเป็นตัวสุดท้าย แต่หากการใช้พลังงานลดลงแสดงว่าเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบ ขณะนี้จะเริ่มเห็นแล้วว่าการใช้แก๊สเริ่มลดลงพอสมควร

ส่วนการลงทุนต่างประเทศ ปตท. ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะว่าการลงทุนต่างประเทศ เราใช้เกณฑ์ต่างประเทศ หากเศรษฐกิจดีเราก็ขยายการลงทุนอยู่แล้ว ส่วนการลงทุนในไทยก็ต้องดูเกณฑ์ในไทย และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เป็นหลัก

"ผมว่าต้องรอดูการเมืองให้สุดๆ ก่อน ตอนนี้ผมเชื่อว่ายังไม่สุดๆ " นายไพรินทร์ กล่าว

"สหพัฒน์"ปรับใหญ่รอบหลายสิบปี

ด้านผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภครายใหญ่ในประเทศ อายุธุรกิจยาวนาน 7 ทศวรรษ อย่างเครือสหพัฒน์ ยอดขายทั้งเครือปีที่ผ่านมา ทะลุสองแสนล้านบาท เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ฉุดกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว จนต้องเร่งเครื่องผลักดันรายได้ในต่างประเทศทดแทน

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2557 บริษัทให้ความสำคัญในการบริหารจัดการภายในองค์กรค่อนข้างมาก หลังเห็นสัญญาณเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว และการเมืองมีความขัดแย้งกันตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นต้นมา จึงเร่งปรับตัวรองรับปัจจัยลบดังกล่าวเพื่อให้ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ในไตรมาส 1 ยอดขายโดยรวมเติบโตติดลบราว 1-2% แต่โดยภาพรวมบริษัทค่อนข้างพอใจกับผลงาน ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่ได้ปรับปรุงแก้ไขหลายด้าน เช่น การตั้งเป้าหมายยอดขายในอัตราเติบโตที่ไม่สูงมากนัก ไม่อัดสินค้าใหม่เข้าตลาดมากเกินไป การจัดกิจกรรมตลาดให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ ซึ่งหากบริษัทยังมุ่งมั่นบริหารจัดการภายในให้เข้มข้นมากขึ้น คาดว่าเห็นผลชัดเจนในไตรมาส 2 เป็นต้นไป

"นี่เป็นการปรับตัวด้านการบริหารจัดการภายในองค์กรครั้งใหญ่ของสหพัฒน์ในรอบหลายสิบปี จากปกติเราปรับตัวทางธุรกิจอยู่แล้ว แต่เพราะปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มเป็นปัญหาทางการเมือง กำลังซื้อชะลอตัว จึงเปลี่ยนแปลงการทำตลาดและวัดผลงานตลอดเวลา รวมถึงปรับวิธีการทำงานหลายอย่าง รวมทั้งวิเคราะห์ให้ออกว่ากิจกรรมที่ทำไปมีสิ่งไหนถูกหรือผิด และมีอะไรที่จะต้องมาดูให้รอบคอบมากขึ้น งบประมาณการตลาดก็ใช้ให้มีประสิทธิภาพ ไม่สะเปะสะปะและใช้เยอะจนเกินไป เพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมายใหญ่ของปีนี้" นายบุญชัย กล่าวและว่า

หลังจากเดินตามแผนดังกล่าว ส่งผลให้ยอดขายเดือนมี.ค. เดือนเดียวสูงถึง 2,400 ล้านบาท เติบโตกว่าเป้าหมายราว 1% ส่วนยอดขายทั้งปีตั้งไว้ที่ 7% ต่ำสุดในรอบหลายสิบปี จากที่เคยตั้งไว้ว่าจะเติบโตสองหลักมาโดยตลอด

ทั้งนี้ จากการที่บริษัทอนุมัติให้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท Cancnana International Co.,Ltd. (ราชอาณาจักรกัมพูชา) และ บริษัท ไทย วัน มอลล์ จำกัด เพราะเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของทั้งสองบริษัท โดยการลงทุนในกัมพูชานั้น ต้องการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 และ ไทย วัน มอลล์ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของกลุ่มสหพัฒน์ไปยังประเทศจีน ในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ โดยการนำสินค้าจากประเทศไทยขายผ่านระบบออนไลน์ในประเทศจีน

"มาม่า" ลุยตลาด-ลงทุนต่างประเทศ

ด้าน นายสุชัย รัตนเจียเจริญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า เนื่องจากยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปีนี้เติบโตไม่ค่อยดีนัก โดยไตรมาสแรกมาม่าเติบโตในระดับทรงตัวจากปีก่อน เพราะเผชิญปัจจัยลบทั้งการเมือง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้บริษัทรุกหนักตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเห็นถึงความสำเร็จในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายอดขายเติบโตมากกว่า 10% โดยเฉพาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ เป็นผลจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต (เชนสโตร์)

"คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เป็นประธานกรรมการบริษัทฯมาประชุมทุกเดือน เน้นให้สหพัฒนพิบูล ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้ามาม่าเร่งทำตลาดและขยายช่องทางตลาดให้มากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศเราทำได้ดีอยู่แล้ว ท่านก็แฮปปี้ ซึ่งการบุกตลาดต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เมื่อมีโอกาสก็บุก ช่วงนี้ยอดขายในประเทศไม่ขยับ เราจึงไปเน้นตลาดต่างประเทศมากเป็นพิเศษ"

นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากยอดขายไตรมาสแรกเติบโตติดลบ 20% โดยสินค้าทุกกลุ่มมีการเติบโตที่ลดลง เพราะว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และต้องการประหยัดเงินในกระเป๋า ซึ่งคาดว่าแนวโน้มไตรมาสสอง สินค้ากลุ่มแฟชั่นยังเป็นขาลง และยอดขายอาจหดตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการเมืองยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างใด