10 ปีไฟใต้ งบทะลุ 2 แสนล้าน

10 ปีไฟใต้ งบทะลุ 2 แสนล้าน

10 ปีไฟใต้ งบทะลุ 2 แสนล้าน ปล้นปืนเฉียด 2 พันกระบอก ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 7 ชุด นายกรัฐมนตรี 6 คน รัฐประหาร 1 ครั้ง การแก้ปัญหายังไม่คืบ

สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ที่เกิดขึ้นในห้วงทศวรรษนี้ เดินทางมาครบ 10 ปีเต็มในวันที่ 4 ม.ค.2557 เนื่องจากนับเอาเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นปฐมบทของเหตุรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา

หลายคนเรียกโดยใช้ศัพท์แสงเหมือนยุคคอมมิวนิสต์ว่า "วันเสียงปืนแตก"

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 7 ชุด นายกรัฐมนตรี 6 คน รัฐประหาร 1 ครั้ง ซึ่งอ้างความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เป็นหนึ่งในเหตุผลของการยึดอำนาจด้วย ทั้งยังทุ่มเทงบประมาณลงไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท ทว่าผลสัมฤทธิ์ของการจัดการปัญหาดูจะยังไม่มีเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย เนื่องจากเหตุรุนแรงและความสูญเสียยังคงเกิดขึ้น การพูดคุยเจรจาในแนวทางสันติวิธีที่ริเริ่มกันเมื่อช่วงต้นปี 2556 ก็ล่มไม่เป็นท่า

ปืนถูกปล้น1,965กระบอก-ยึดคืน700!

ในวาระ 10 ปีไฟใต้ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนด้วย “กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบพบว่าจำนวนอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 หรือ “ค่ายปิเหล็ง” มีทั้งสิ้น 413 กระบอก จนถึงปัจจุบันตามยึดคืนได้เพียง 92 กระบอก แยกเป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 83 กระบอก ปืนพกขนาด 11 มม. จำนวน 9 กระบอก

ตลอด 10 ปีไฟใต้ นอกจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ซึ่งถือเป็นการปล้นอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือ การบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 ครั้งนั้นมีอาวุธปืนถูกปล้นไปได้อีก 65 กระบอก จนถึงปัจจุบันตามคืนได้เพียง 11 กระบอก แยกเป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 8 กระบอก ปืนกลมืออูซี่ 2 กระบอก และปืนกลเบามินิมิ 1 กระบอก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันยังมีเหตุรุนแรงรายวันที่คนร้ายปล้นชิงอาวุธปืนไปด้วย ทั้งปืนสงครามประจำกายของทหาร ตำรวจ และอาวุธปืนพกของข้าราชการกลุ่มอื่น รวมถึงประชาชนทั่วไป ยอดรวมปืนที่ถูกปล้นไปมีมากถึง 1,965 กระบอก ติดตามคืนได้เพียง 700 กระบอกเท่านั้น แยกเป็น ปืนพกสั้น 281 กระบอก เอ็ม 16 จำนวน 207 กระบอก อาก้า 102 กระบอก ลูกซอง 66 กระบอก เอชเค 33 จำนวน 22 กระบอก และอื่นๆ อีก 22 กระบอก

จากตัวเลขดังกล่าวสรุปได้ว่ายังมีอาวุธปืนตกอยู่ในมือคนร้ายหรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีมากถึง 1,265 กระบอก

สำหรับผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่คนร้ายใช้ก่อเหตุรุนแรงรวม 5,829 ครั้ง กระจายทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย.2556 พบว่ามีการยิงซ้ำด้วยปืนกระบอกเดิม 812 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14

เหตุรุนแรง1.5หมื่นครั้ง

เฉลี่ยวันละ4.31

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้าย และนาทวี ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบนั้น เกิดเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ขึ้นทั้งสิ้น 15,713 เหตุการณ์ (นับถึงวันที่ 23 ธ.ค.2556 เฉลี่ย 4.31 ครั้งต่อวัน) แยกเป็น “เหตุความมั่นคง” ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงที่มีปัจจัยบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ จำนวน 8,479 เหตุการณ์ (เฉลี่ย 2.33 ครั้งต่อวัน)

เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายปี พบว่า ปี 2547 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจำนวน 1,154 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 599 เหตุการณ์) ปี 2548 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจำนวน 2,078 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 1,005 เหตุการณ์) ปี 2549 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,934 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 1,248 เหตุการณ์)

ปี 2550 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจำนวน 2,475 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 1,669 เหตุการณ์) ปี 2551 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,370 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 769 เหตุการณ์) ปี 2552 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,348 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 757 เหตุการณ์)

ปี 2553 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,165 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 652 เหตุการณ์) ปี 2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,085 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 676 เหตุการณ์) ปี 2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,465 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 543 เหตุการณ์) ล่าสุดปี 2556 นับถึงวันที่ 23 ธ.ค. มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,639 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 561 เหตุการณ์)

ระเบิด2,889ครั้ง-ปี56สูงอันดับ4

เฉพาะปี 2556 ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,639 เหตุการณ์นั้น พบลักษณะของการก่อเหตุแยกได้เป็น เหตุยิงด้วยอาวุธปืน 514 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 193 เหตุการณ์) ระเบิด 286 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคงทั้งหมด) วางเพลิง 87 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 75 เหตุการณ์) ฆ่าทารุณ 3 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 2 เหตุการณ์) ทำร้าย 8 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 2 เหตุการณ์) ประท้วง 1 เหตุการณ์ (เป็นเหตุการณ์ความมั่นคง)

นอกจากนั้นยังมีเหตุก่อกวน 714 ครั้ง และปะทะ 24 ครั้ง

ส่วนในภาพรวม 10 ปีไฟใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 15,713 เหตุการณ์นั้น แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 7,536 เหตุการณ์ ระเบิด 2,764 เหตุการณ์ วางเพลิง 1,602 เหตุการณ์ ฆ่าทารุณ 94 เหตุการณ์ ทำร้าย 311 เหตุการณ์ ชิงอาวุธ 171 เหตุการณ์ ประท้วง 65 ครั้ง ก่อกวน 2,912 ครั้ง ปะทะ 243 ครั้ง อื่นๆ 15 เหตุการณ์

อย่างไรก็ดี มีสถิติระเบิดที่เก็บรวบรวมโดยหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย กองทัพบก ระบุตัวเลขแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (นับถึง 22 ธ.ค.2556) มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นทั้งหมด 2,889 ครั้ง แยกเป็น

ปี 2547 เกิดเหตุระเบิด 103 ครั้ง

ปี 2548 เกิดเหตุระเบิด 242 ครั้ง

ปี 2549 เกิดเหตุระเบิด 344 ครั้ง

ปี 2550 เกิดเหตุระเบิด 471 ครั้ง

ปี 2551 เกิดเหตุระเบิด 250 ครั้ง

ปี 2552 เกิดเหตุระเบิด 284 ครั้ง

ปี 2553 เกิดเหตุระเบิด 266 ครั้ง

ปี 2554 เกิดเหตุระเบิด 333 ครั้ง

ปี 2555 เกิดเหตุระเบิด 276 ครั้ง

ปี 2556 เกิดเหตุระเบิด 320 ครั้ง

สำหรับระบบจุดระเบิดที่พบ เป็นแบบลากสายไฟ 567 ครั้ง โทรศัพท์มือถือ 554 ครั้ง ตั้งเวลาจากนาฬิกา 459 ครั้ง รีโมทคอนโทรลรถยนต์ 251 ครั้ง วิทยุสื่อสาร 97 ครั้ง DTMF 251 ครั้ง เป็นกับระเบิด 236 ครั้ง ระบบอื่นๆ 119 ครั้ง ไม่ทราบระบบจุดระเบิด 355 ครั้ง

จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวพบว่า ปี 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงด้วยระเบิดสูงเป็นอันดับ 4 ในห้วง 10 ปีไฟใต้

10ปีตาย3.7พัน-เจ็บเฉียดหมื่น

สำหรับยอดความสูญเสียจากเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ตลอด 10 ปี ศชต.ได้แยกแยะและคัดกรองข้อมูลใหม่ โดยแยกเหตุรุนแรงที่ไม่ใช่คดีความมั่นคงออกไป พบว่ามียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,705 คน เป็นตำรวจ 339 นาย ทหาร 466 นาย ประชาชนทั่วไป 2,482 คน พระ 15 รูป บุคลากรทางการศึกษา 33 คน ครู 101 คน ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 302 คน

มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 9,076 คน แยกเป็นตำรวจ 1,353 นาย ทหาร 2,315 นาย ประชาชน 5,234 คน พระ 24 รูป บุคลากรทางการศึกษา 23 คน ครู 122 คน ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 28 คน

หมู่บ้านสีแดงลด-กลุ่มป่วน1.1หมื่นคน

ทางด้านข้อมูลที่เป็นผลจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พบว่า ความเคลื่อนไหวหรืออิทธิพลของผู้ก่อความไม่สงบในระดับหมู่บ้านลดลง กล่าวคือ เดิมมีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 1,996 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านเสริมความมั่นคง (สีแดง) 319 หมู่บ้าน เฝ้าระวัง (สีเหลือง) 517 หมู่บ้าน และเสริมสร้างการพัฒนา (สีเขียว) 1,160 ปัจจุบันมีจำนวนหมู่บ้านเป้าหมาย 1,970 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านเสริมความมั่นคง (สีแดง) 136 หมู่บ้าน เฝ้าระวัง (สีเหลือง) 234 หมู่บ้าน และเสริมสร้างการพัฒนา (สีเขียว) 1,600 หมู่บ้าน

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบเครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบได้จำนวน 11,189 คน เป็นผู้ร่วมขบวนการระดับต่างๆ ได้แก่ อูลามา (สายศาสนา) 314 คน แกนนำสั่งการ 207 คน อาร์เคเค (กลุ่มติดอาวุธ) 2,291คน แนวร่วม 5,979 คน แกนนำอื่น 1,118 คน ที่เหลือเป็นเครือข่ายที่พิสูจน์ทราบจากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ

ผลการจับกุมตามหมายจับ ออกหมายไปทั้งสิ้น 9,961หมาย จับกุม 6,944 หมาย แยกเป็นหมาย พ.ร.ก. (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จำนวน 5,312 หมาย จับกุม 4,145 หมาย หมาย ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) 4,649 หมาย จับกุม 2,799 หมาย

ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ตั้งแต่ปี 2548 (เริ่มประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จนถึงปัจจุบัน ปิดล้อมตรวจค้นจำนวน 56,285 ครั้ง 108,714 เป้าหมาย เฉพาะปี 2556 ปิดล้อมตรวจค้น 7,661 ครั้ง 11,337 เป้าหมาย

ส่วนการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยส่งศูนย์ซักถาม มีการควบคุมตัว 2,557 คน ดำเนินคดี 631 คน ปล่อยตัว 1,906 คงเหลือ 20 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค.)

ศาลลงโทษคดีมั่นคงแค่38%-ยกฟ้อง61%

ด้านการสอบสวนดำเนินคดี พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีคดีอาญาเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 131,960 คดีแยกเป็นคดีความมั่นคง 9,362 คดี คิดเป็นร้อยละ 7.09 ของคดีอาญาทั้งหมดเท่านั้น

ผลการสอบสวนเฉพาะคดีความมั่นคง เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 2,184 คดี (คิดเป็นร้อยละ 23.33) ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด 7,178 คดี (คิดเป็นร้อยละ 76.67) ในกลุ่มคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1,569 คดี หลบหนี 615 คดี

ผลการดำเนินคดีความมั่นคงที่นำขึ้นสู่ศาล พบว่า ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 685 คดี จำเลย 1,474 คน ลงโทษ 264 คดี คิดเป็นร้อยละ 38.54 จำเลย 444 คน ยกฟ้อง 421 คดี คิดเป็นร้อยละ 61.46 จำเลย 1,030 คน

ในจำนวนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เป็นโทษประหารชีวิต 46 คดี จำเลย 57 คน จำคุกตลอดชีวิต 73 คดี จำเลย 111 คน จำคุกไม่เกิน 50 ปี 145 คดี จำเลย 276 คน

งบทะลุ2แสนล้าน-เยียวยา2พันล้าน

จากสถิติด้านต่างๆ ในวาระ 10 ปีไฟใต้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ทุ่มลงไปแก้ไขปัญหา ก็จะพบว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจเพียงใด โดยในปีงบประมาณล่าสุด คือปี 2557 ตั้งงบดับไฟใต้เอาไว้ถึง 25,921 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขงบประมาณสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในห้วง 11 ปีงบประมาณ และยังเป็นทิศทางงบที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

ข้อมูลจากสำนักงบประมาณ ได้แจกแจงงบดับไฟใต้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จนถึงปีงบประมาณ 2557เอาไว้ดังนี้ ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท และปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท

รวม 11 ปีงบประมาณ รัฐบาลทุกชุดทุ่มงบดับไฟใต้ไปแล้วทั้งสิ้น 208,323 ล้านบาทเศษ หรือทะลุ 2 แสนล้านบาทไปแล้ว โดยตัวเลขนี้ไม่รวมกับงบกลางที่หน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขอเบิกจ่ายเพิ่มเติมระหว่างปีอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ตัวเลขงบประมาณที่สรุปมา เป็นงบฟังก์ชั่น หรืองบโครงการตามแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ยังไม่รวมงบรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนข้าราชการ งบเยียวยา นับถึงปี 2555 ใช้จ่ายไปแล้ว 2,032 ล้านบาทเศษ และงบที่รัฐบาลจัดสรรเพิ่มให้เป็นพิเศษ เช่น งบกลางประเภทรายจ่ายฉุกเฉินจำเป็น เป็นต้น