รัสเซียปล่อยเรือดำน้ำล่องหน

รัสเซียปล่อยเรือดำน้ำล่องหน

รัสเซียปล่อยเรือดำน้ำล่องหน ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเรดาร์ตรวจจับไม่ได้ พร้อมประจำกองเรือในทะเลดำ

รัสเซียทำพิธีปล่อยเรือดำน้ำล่องหน โนโวรอสซิสค์ส ชั้น วาร์ชาฟยันก้า ภายใต้โครงการ " โปรเจ็ค636 " ลำแรกจากทั้งหมด 6 ลำ ที่จะแล่นจากอู่ต่อเรือในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และจะเป็นเรือดำน้ำพลังดีเซล-ไฟฟ้า ที่มีความสามารถในการหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์และระบบโซนาร์ตรวจการณ์ได้ และจะถูกส่งเข้าประจำการในกองเรือทะเลดำ ทางภาคใต้ของรัสเซีย ในอีก 2 ปีข้างหน้า

เรือดำน้ำลำนี้ ถูกกองทัพเรือสหรัฐ ตั้งฉายาให้ว่า " หลุมดำแห่งห้วงมหาสมุทร " เนื่องจากไม่สามารถถูกตรวจจับได้ขณะอยู่ใต้น้ำ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางเรือของรัสเซีย โดยเฉพาะในทะเลดำและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นน่านน้ำที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง

โปรเจคต์ 636 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2553 โดยทีมวิศวกรของกองทัพรัสเซียโดยมีการนำเทคโนโลยี "สเตลธ์" ขั้นสูง มาใช้ในการออกแบบ และให้มีความสามารถในการโจมตีเป้าหมายทั้งที่อยู่บนบก ผิวน้ำ และใต้น้ำได้อย่างแม่นยำ

นอกจากจะรองรับลูกเรือได้ 52 คนแล้ว ยังสามารถเคลื่อนที่ใต้น้ำได้ด้วยความเร็ว 20 น็อต และมีการติดตั้งตอร์ปิโดไม่ต่ำกว่า 18 ลูก รวมถึงขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศอีกอย่างน้อย 8 ลูก

กองเรือทะเลดำของรัสเซีย ไม่มีการนำเรือดำน้ำใหม่เข้าประจำการมานานหลายทศวรรษแล้ว และในเวลานี้ ทางกองเรือมีเรือดำน้ำประจำการอย่างเป็นทางการเพียงลำเดียว คือ เรือดำน้ำชั้น " กิโล " ที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2533 ส่วนเรือ โนโวรอสซิสค์ส จะใช้งานได้ในปี 2558