แก้รธน.โมฆะ ดาบ2ยื่นปปช.ถอดถอน

แก้รธน.โมฆะ ดาบ2ยื่นปปช.ถอดถอน

ศาล รธน. มีมติ 6 ต่อ 3 ชี้กระบวนการพิจารณาแก้ รธน. ปมที่มา ส.ว.มิชอบ แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค ปชป.ยื่น ป.ป.ช.ถอดถอน 262 ส.ส.-50 ส.ว.

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน นำโดย นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ทั้งนี้ คณะตุลาการเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่ากระบวนการประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่การเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ขั้นตอนการแปรญัตติ และขั้นตอนการลงมติ ที่มีการเสียบบัตรแทนกัน เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ และมีมติเสียงข้างมา 5 ต่อ 4 เห็นว่าการแก้ไขประเด็นที่มา ส.ว. เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นโมฆะและสูญเปล่า ถือว่าตกไปโดยปริยาย และยืนยันว่าจะไม่นำร่างนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ทั้งนี้จากคำวินิจฉัยที่ออกมา ตนก็ยังงงอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่เมื่อศาลเห็นว่ากระบวนการผิด ต่อไปนี้ก็คงต้องไปตรวจสอบว่าผิดตรงไหนแล้ว คงต้องมีการปรับแก้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

"ผมยืนยันว่าการออกกฎหมายเป็นหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ก็ต้องมานั่งคุยกัน"

นายกฯแจงปมทูลเกล้าฯร่างรธน.วันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวานนี้ (20 พ.ย.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ และตุลาการศาลทหาร เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน

โดยก่อนเดินเข้าไปในห้องรับรองพิเศษที่ท่าอากาศยานทหาร (บน.6) นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ไม่ชอบ

ด้านแหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในวันที่ 21 พ.ย. นี้ นายกรัฐมนตรีจะตอบคำถามถึงการดำเนินการต่อไปอย่างไร หลังจากที่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว

ปชป.รุกยื่นถอดถอน "312 ส.ส.-ส.ว."

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะทีมกฎหมายพรรค แถลงว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. มิชอบ ฝ่ายค้านเตรียมยกคำร้องขอถอดถอนสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนมาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ส. และ ส.ว. 312 คน ที่สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. แบ่งเป็น ส.ส.จาก 6 พรรค จำนวน 262 คน และ ส.ว. จำนวน 50 คน

เล็งขยายผลเอาผิดถึงนายกฯ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้ศาลจะไม่สั่งให้ยุบพรรค แต่จากคำวินิจฉัยก็ชัดแล้วว่า เรื่องนี้ถือว่าผูกพันนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นคนนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลกล้าฯ

ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ได้แถลงเรียกร้องให้สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ที่มีการตัดสิทธิปิดโอกาสไม่ให้มีการอภิปราย พร้อมทั้งปล่อยให้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญปลอม และ ปล่อยให้ ส.ส.กดบัตรแทนกัน รวมถึงในส่วนของการกำหนดวันแปรญัตติผิด

"รสนา" ลั่นเช็คบิล ส.ส.-ส.ว.เรียงตัว

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า ตนมองว่านายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องตกไปตามคำสั่งศาล โดยปกติต้องแสดงสปิริตด้วยการลาออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการสลับให้สมาชิกคนอื่นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ส่วนกรณีที่ ส.ส. และ ส.ว. ไม่รับอำนาจศาล ก็คงเป็นแค่วาทกรรม เพราะในทางปฏิบัติต้องยอมรับแม้กระทั่งอำนาจตำรวจจราจรที่แจกใบสั่ง จะปฏิเสธไม่รับก็ไม่ได้ ต่อไปคงต้องมีการเช็คบิลรายตัวกับกลุ่ม ส.ส. และ ส.ว. ที่ดำเนินการกระบวนการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

คปท.ยื่นป.ป.ช.ถอด312ส.ส.-ส.ว.วันนี้

นายอุทัย ยอดมณี แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า วันที่ 21 พ.ย. แกนนำ คปท.จะไปยื่นหนังสือต่อป.ป.ช. กรณีที่ ส.ส.-ส.ว. 312 คน ไม่รับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหาเป็นกบฏ พร้อมยืนยันจุดยืนของ คปท. ยังเป็นเช่นเดิม ขับไล่รัฐบาลต่อไป

ม็อบ นปช.สลายตัว-ไม่ชุมนุมต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมเวทีนปช. ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ว่า หลังทราบคำตัดสิน ทั้ง นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ได้ขึ้นปราศรัยต่อผู้ชุมนุม โดยเนื้อหาเป็นการโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่จะมีการสรุปเนื้อหาสำคัญว่าขั้นตอนในสภาทั้งการยกร่าง กระบวนการพิจารณานั้นผิดหมด ยังดีที่ศาลไม่วินิจฉัยว่า เราผิดตั้งแต่คิดแล้ว แต่ไม่ยุบพรรค ไม่ตัดสิทธิ ส.ส. และ ส.ว. การแก้รัฐธรรมนูญที่เราหวังจะให้มี ส.ว.เลือกตั้งเต็มสภาสูง วันนี้จบแล้ว

ส่วน นายจตุพร กล่าวขอบคุณศาลที่ทำให้ชะตากรรมประเทศไทยได้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คงจะได้โหวตวาระ 3 ตามมาตรา 291 ทีเดียว และแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ต่อมาเวลา 16.30 น. นางธิดา เปิดเผยว่า คำตัดสินของศาลที่ไม่ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิส.ส. ถือเป็นชัยชนะในระดับหนึ่ง แต่ไม่น่าภาคภูมิใจ เพราะกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องหยุดชะงัก หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทย ที่จะรับหน้าที่ไปดำเนินการต่อ

ส่วนการชี้แจงของแกนนำ นปช. ในเวลา 20.00 น. จะเป็นการชี้แจงให้มวลชนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งหลังจากประกาศจุดยืนแล้ว นปช.จะประกาศยุติการชุมนุม คาดว่าไม่เกินเที่ยงคืน เพราะว่าไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องดึงมวลชนไว้ เมื่อเงื่อนไขและสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นเลวร้าย

"สุเทพ"หอบแสนชื่อถอด310ส.ส.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม พร้อมคณะ นำรายชื่อประชาชนจำนวน 115,500 รายชื่อ รวม 77 กล่อง เข้ายื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน ส.ส. 310 คน ที่ลงมติผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมยืนยันว่า ส.ส.ทั้ง 310 คน เข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายโดยมิชอบ

ขณะที่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หลังจากนี้จะจัดเจ้าหน้าที่มาช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เพราะ 1 วัน จะสามารถบันทึกข้อมูลได้ประมาณ 1,500 รายชื่อเท่านั้น และจะต้องส่งไปให้สำนักทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบว่ามาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ด้วย