ดอกธูปไร้พิษ

ดอกธูปไร้พิษ

ควันธูปไม่ว่าจะแบบมีควัน หรือไร้ควันอย่างไรก็ไม่ปลอดภัย เพราะการเผาไหม้ล้วนทำให้เกิดสารก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อผู้สูดดมทั้งสิ้น

กานต์ดา บุญเถื่อน : รายงาน

ควันธูปไม่ว่าจะแบบมีควัน หรือไร้ควันอย่างไรก็ไม่ปลอดภัย เพราะการเผาไหม้ล้วนทำให้เกิดสารก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อผู้สูดดมทั้งสิ้น “ธูปไร้สารก่อมะเร็งไอล์เบอร์รี่” เป็นอีกนวัตกรรมที่จะยกระดับกิจกรรมเซ่นไหว้ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

:แตกหน่องานวิจัย

กึง แซ่ลิ้ม ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ซี เอ เทคโนโลยี จำกัด และนักประดิษฐ์อิสระ กล่าวว่า เป็นนักธุรกิจที่ทำหลากหลาย ทั้งรับซื้อของเก่า รับทำแผ่นป้ายโฆษณา กระทั่งปีก่อนเกิดความสนใจเรื่องอันตรายจากควันธูปต่อสุขภาพซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ร่วมกับ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงร่วมวิจัยด้วยว่า ควันธูปมีสารก่อมะเร็งถึง 3 ชนิดคือ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งปอดได้

เขาและหุ้นส่วน นิพัฒน์ ปิ่นอมร บริษัท ไอล์เบอร์รี่ จำกัด จึงได้ทำวิจัยและพัฒนาธูปที่ไร้สารก่อมะเร็งขึ้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกในธุรกิจเซ่นไหว้ โดยก่อนจะพัฒนาธูปไร้สารก่อมะเร็งก็ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาข้อมูลพื้นฐานว่าธูปที่มีในท้องตลาดมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรบ้างเพื่อนำมาใช้เป็นจุดแข็งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

การศึกษาลงรายละเอียดเชิงลึกทำให้รู้ว่าธูปมีอันตรายเพียงเพราะกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของตัวธูปนั่นเอง รวมถึงวัสดุขี้เลื่อยที่นิยมนำมาใช้ผลิตธูปก็ยังไม่ตอบโจทย์ในแง่ที่จะทำให้ขั้นตอนการเผาไหม้สมบูรณ์ 100% ทำให้สิ่งที่พวกเขาจะต่อยอดต่อไปได้คือเรื่องของการคิดค้นหาวัตถุดิบใหม่มาใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้ธูปที่ไร้สารก่อมะเร็ง

“ธูปไร้สารก่อมะเร็งที่พัฒนาได้ ถูกพัฒนาจากวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ รวมถึงผลิตด้วยเครื่องจักรที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่จากเทคนิควิศวกรรมย้อนรอยเครื่องนำเข้าจากอเมริกา จนได้เป็นเครื่องต้นแบบที่เหมาะกับการใช้งานกับคนไทย ซึ่งจุดเด่นของธูปที่ผลิตได้ไร้ควัน และปราศจากสารก่อมะเร็งโดยมีผลงานวิจัยในห้องปฏิบัติการรองรับเพื่อความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์”กึง กล่าว

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการวิจัยและการลองผิดลองถูกของเขากับเพื่อน ทำให้ตอนนี้เขาและเพื่อนมีโนว์ฮาวสำหรับการผลิตที่พร้อมจะรุกสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีแผนว่าจะนำร่องกับกลุ่มชาวบ้านพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นกลุ่มแรกก่อนขยายผลไปยังชาวบ้านจังหวัดอื่นๆ

:โนว์ฮาวสู่ธุรกิจทำเงิน

ธูปไร้ควันปราศจากสารก่อมะเร็งดังกล่าว มีโอกาสทางการตลาดค่อนข้างสูง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีใครทำตลาดมาก่อน มีก็แต่เพียงธูปไร้ควัน ธูปหอม หรือธูปปกติทั่วไปที่ครองตลาดมาช้านาน แต่ก็ล้วนมีปัญหาด้านการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ และก่อให้เกิดมลพิษต่อสุขภาพของผู้ใช้งานในระยะยาว

“ธูปไร้สารก่อมะเร็งอาจมีราคาสูงขึ้นเมื่อวางจำหน่ายในตลาด แต่ก็คงไม่ต่างจากเดิมมากนักจนถึงขั้นอาเจ๊ก อาม่าไม่สามารถซื้อหามาใช้งานได้ เพราะวัสดุที่นำมาใช้ก็หาได้จากในประเทศ และที่สำคัญคิดค้นโดยคนไทย ซึ่งตั้งใจมาแต่ต้นว่าจะผลักดันให้เป็นธุรกิจลักษณะเอสเอ็มอีชุมชน เพื่อสร้างรายได้ และอาชีพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ซี เอ เทคโนโลยี จำกัด กล่าว

เป้าหมายที่วางไว้หากการเจรจาธุรกิจกับชุมชนประสบความสำเร็จคือ จะเดินหน้าผลิตธูปไร้สารก่อมะเร็งให้ได้ 14.4 ล้านดอกต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 7.2 ล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจในชุมชุนเกิดความตื่นตัวที่จะหันมาช่วยกันผลิต เพื่อส่งไปจำหน่ายตามร้านสังฆภัณฑ์ หรือวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้งานธูปเป็นประจำนั่นเอง

กึง กล่าวต่อว่า ธุรกิจนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นวิจัยใหม่ตั้งแต่ศูนย์เสมอไป เพียงแค่จับจุดได้ว่าสิ่งไหนที่จำเป็นต้องกินต้องใช้ เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิต จากนั้นก็ศึกษาต่อยอดจากงานวิจัยหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม ก็สามารถที่จะสร้างธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาดไม่แพ้สินค้าหน้าใหม่

“ทุกวันนี้ความรู้หาง่ายด้วยเทคโนโลยีในมือ อินเทอร์เน็ตย่อให้โลกเล็กลง หากใช้ให้เป็นโอกาสก็อยู่ไม่ไกล และไม่มีอะไรที่ยากเกินถ้าตั้งใจจะทำจริงจัง เหมือนอย่างธูปไร้สารก่อมะเร็งที่เขาและหุ้นส่วนช่วยกันพัฒนาขึ้นมา ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับการผลิตธูปติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่สุดท้ายความตั้งใจก็ทำให้พวกเขาศึกษาเพิ่มเติมและถามผู้ที่รู้จริงกระทั่งเข้าใจกระบวนการและพร้อมที่จะเป็นอีกทางเลือกให้กับตลาดอุปกรณ์เซ่นไหว้ ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่เกินกลางปีหน้าน่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ออกมาในตลาดแน่นอน” กึง นักประดิษฐ์อิสระ กล่าว

ทั้งนี้นวัตกรรมธูปไร้สารก่อมะเร็ง เป็นหนึ่งใน 240 ผลงานที่เข้าร่วมโครงการคูปองนวัตกรรมในเฟสที่ 1 ระหว่างกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2554-มกราคม พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เอสเอ็มอีของไทยพร้อมแข่งขันในตลาดอาเซียน ซึ่งในเฟสที่ 2 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณในการกระตุ้นให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม 5 พันล้านบาทจากรัฐบาล