เก๋ ชลลดา เมฆราตรี The Voice เสียงจากเรา

เก๋ ชลลดา เมฆราตรี

The Voice เสียงจากเรา

คนภายนอกมักมอง “ชลลดา เมฆราตรี” จากเพียงด้านเดียว แต่สิ่งที่ "เป็นเธอ"ปรากฎให้เห็นหัวใจแข็งแกร่งเกินภาพลักษณ์

เธอเป็นนักธุรกิจเครื่องประดับ เป็นดารานางแบบพิธีกร เป็นเซเลบริตี้ สิ่งที่ "เธอเป็น" เหล่านั้นสะท้อนภาพหญิงสาวสวยบอบบางสู่สาธารณชน แต่สิ่งที่ "เป็นเธอ" กลับค่อยๆแง้มกลีบดอกเปราะบางนั้นออก ปรากฎให้เห็นหัวใจแข็งแกร่งเกินภาพลักษณ์ และกำลังทำงานเพื่อพิทักษ์สัตว์น้อยใหญ่

คนภายนอกมักมอง “ชลลดา เมฆราตรี” จากเพียงภายนอกและเพียงด้านเดียว จึงทำให้เห็นแค่เพียงความบอบบางตามสรีระรูปร่างหน้าตาที่ดูเป็นคุณหนูเสียเหลือเกิน แต่นั่นเป็นเพียงแค่มุมมองเดียวเท่านั้น เธอคนนี้มีดีกว่านั้นมากมายนัก เพราะในอีกมุมหนึ่งเธอเองมีมุมของความห้าว ความแข็งแกร่งและบุคลิก "ลุยๆ" ที่ผู้ชายหลายคนไม่อาจเทียบได้ ถึงขนาดที่ไปเป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องสิทธิแก่สัตว์ จนเกิดพระราชบัญญัติคุ้มครองและป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ขึ้น

ชลลดา เป็นหนึ่งใน 36 คนที่เป็นคณะกรรมการในการร่างกฏหมายคุ้มครองสัตว์ ซึ่งกฏหมายนี้มีทั้งหมด 32 ข้อ โดยจะครอบคลุมตั้งแต่ สัตว์เร่ร่อน สัตว์จรจัดต่างๆ สัตว์ป่า สัตว์สงวน สัตว์น้ำ ทุกชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ จะคุ้มครองทั้งสิ้น นี่คือมิติและความหวังครั้งใหม่ของสัตว์ทุกตัวในประเทศไทยก็ว่าได้ เฉกเช่นเดียวกันกับกฏหมายคุ้มครองสัตว์ในต่างประเทศที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นและคุ้มครองครอบคลุมสัตว์ทุกตัว ทุกชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ ก็หวังเอาไว้ว่าประเทศไทยจะมีกฏหมายคุ้มครองสัตว์ฉบับสมบูรณ์ ที่เป็นเหมือนกฏหมายแห่งความเมตตาธรรมแก่สรรพสัตว์ทุกตัว ในเร็ววันนี้

ปัญหาช้างไทย

ชลลดา เล่าถึงการที่ได้ไปสัมผัสถึงปัญหาการที่ควาญช้างนำช้างมาเรร่อนประกอบอาชีพในตัวเมืองว่า ควาญโดยส่วนใหญ่นั้นจริงๆแล้วไม่ได้อยากนำช้างของตนเข้ามาในตัวเมืองเพื่อขอทานหรอก เขาก็รักช้างของเขา เพียงแต่เกิดจากปัญหาความยากจน และการไม่มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือ สร้างอาชีพเสริมแก่ชาวบ้าน เพราะความเสียหายด้านพืชผลอาจมาโดยไม่ทันตั้งตัว และตั้งรับไม่ทัน เช่นปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น ตรงนี้หากเสริมสร้างอาชีพแก่คนพื้นที่ ย่อมลดปัญหาที่ต้นตอได้อย่างยั่งยืน

กำเนิด The Voice (เสียงจากเรา)

โครงการ The Voice (เสียงจากเรา) เธอเป็นประธานโครงการ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2553 ด้วยความบังเอิญในช่วงที่กรุงเทพฯเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา เป็นช่วงชีวิตที่ไม่คาดคิดว่าจะต้องพักงานติดต่อกันถึง 60 วัน เธอก็ได้รับรู้จากข่าวต่างๆถึงการออกมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นของเหล่าจิตอาสา แต่ละคนนำความรู้ ความสามารถออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสิ้น ประจวบเหมาะกับมีน้องนักข่าวท่านหนึ่งมาชวนเธอลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก็ตัดสินใจตอบตกลงไปทันที

เก๋ เล่าต่อว่า เมื่อได้ลงพื้นที่ รังสิต-ปทุมธานี ก็ได้ไปช่วย สุนัข แมว ที่ถูกทิ้ง เหมือนมีสัมผัสพิเศษที่สัมผัสได้ว่า มีสุนัขและแมวต้องการความช่วยเหลือ ไม่เพียงแต่สุนัขและแมวเท่านั้นยังมีสัตว์อื่นๆอีกมากที่ได้ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น งู นกยูง ฯลฯ หลังจากผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมก็ได้ช่วยเหลือสัตว์เรื่อยมา ซึ่งเมื่อเธอช่วยเหลือสัตว์ด้วยจิตใจที่มีเจตนาที่ดี ก็เกิดแรงดึงดูดให้คนที่ทำอะไรคล้ายๆกันเข้ามาหา มารวมตัวกันกับเธอ จึงทำให้รู้จักเครือข่ายต่างๆเยอะมาก

เธอว่ามีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือมีเครือข่ายช่วยเหลือ และมีคนซัพพอร์ตสนับสนุนที่ชัดเจน แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อออกสื่อพูดถึงสถานที่ที่ช่วยเหลือสัตว์ที่ไหน ก็มีคนนำมาปล่อยเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดเป็นภาระหนักแก่สถานที่นั้น ทั้งด้านการจัดสรรพื้นที่อยู่ให้แก่สัตว์ การดูแลความสะอาด และการดูแลเรื่องยาช่วยเหลือ รวมถึงดูแลด้านอาหารการกินด้วย

หลังจากทำงานเบื้องหลังเป็นอาสาสมัครอย่างตั้งใจอยู่นาน ในปี 2555 ในวันวาเลนไทน์เกิดเหตุการณ์ สุนัขกัดกันหน้าออฟฟิศของชลลดา (ภายในพื้นที่ RCA) จึงได้ช่วยเหลือสุนัขที่โดนกลุ่มหมาหมู่รุมกัด ชื่อว่า เจ้าดำ ไว้ ซึ่งเจ้าดำนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ชลลดา ตัดสินใจก่อตั้งโครงการ The Voice (เสียงจากเรา) ขึ้น

“เจ้าดำ” สุนัขแห่งแรงบันดาลใจ

เจ้าดำ เป็นสุนัขจรจัดที่เคยมีมนุษย์เป็นนายเหนือหัวมาก่อน แต่โดนนำมาปล่อยที่บริเวณ RCA หลังจากที่ชลลดาได้ช่วยเหลือเจ้าดำจากการโดนรุมจากเหล่าสุนัขหมู่แล้ว ก็ได้รับการส่งต่อไปอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สภาพตอนที่นำส่งโรงพยาบาลสัตว์นั้นค่อนข้างแย่มาก ลูกตาถลนออกมาข้างหนึ่ง อีกข้างโดนปาสิ่งของใส่ค่อนข้างสาหัส ตาเกือบบอดทั้ง 2 ข้าง

เจ้าดำเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 1 เดือนเต็มที่รักษาอยู่ที่นั่น ในช่วงที่รับการรักษา ก็มีช่วงที่ทรุดหนักจนทางคุณหมอต้องโทรเข้าหาเธอให้ตัดสินใจตอนตี 2 ชลลดาจึงได้เข้าไปที่โรงพยาบาลสัตว์ทันที จึงพบว่าเจ้าดำเกิดอาการโคม่า เป็นบาดทะยัก ซึ่งในตอนแรกชลลดาเองตั้งใจว่าจะปล่อยให้ไปอย่างสงบเสียในคืนนั้น

แต่คุณหมอกลับบอกหญิงสาวผู้พิทักษ์(สัตว์) ว่า ตัวเจ้าดำเองเมื่อกลางวันยังกินข้าวได้อยู่เลย สัตว์ก็เหมือนคนตรงที่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ เพียงต่างที่คนสามารถพูดและบอกได้ว่าอยากมีชีวิตอยู่ ยังคงไหว แต่สัตว์ไม่สามารถบอกและพูดได้เช่นเดียวกับคนเรา ฉะนั้นเราไม่ควรจะตัดสินชีวิตเขา อยากให้ลองคิดดูให้ดี ขนาดคนเองยังต้องการเสียงที่เป็นกำลังใจจากญาติมิตรเพื่อสู้เลย เจ้าดำเองมีแค่ชลลดาเท่านั้นนะ เสียงชลลดามีความสำคัญมากๆ หากให้เขามีชีวิตอยู่เขาก็จะมีชีวิตอยู่

เมื่อชลลดาได้ฟังคุณหมอบอกเช่นนั้น จึงลองคิดดูอีกครั้ง พร้อมกับตัดสินใจใหม่ให้เขาได้สู้เพื่อชีวิตของเขาเอง โดยมีชลลดาเป็นเหมือนญาติมิตรสำคัญข้างกายเขา คุณหมอจึงได้ช่วยเหลือเจ้าดำให้ผ่านอาการโคม่านั้นมาได้ จนตอนนี้เจ้าดำมีชีวิตใหม่พร้อมบ้านหลังใหม่ที่ดี

เสียงจากเรานั้นมีค่ามากถึงขนาดผลักดันให้เจ้าดำลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้งได้ ชลลดาจึงได้นำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อโครงการขึ้นเป็น The Voice (เสียงจากเรา) โดยไม่เคยรู้มาก่อนว่าประเทศไทยมีรายการประกวดร้องเพลงชื่อเดียวกันนี้แล้ว

ค่าใช้จ่ายของโครงการ

ช่วงแรกจะเป็นทรัพย์ส่วนตัวทั้งสิ้น แล้วค่อยๆลามไปสู่คนใกล้ชิด ทั้งครอบครัวฝั่งคุณพ่อ คุณแม่และเพื่อนๆ การมีโครงการดีเช่นนี้ก็ทำให้ชลลดาเปลี่ยนนิสัยการคลั่งไคล้ชอบปิ้งของเธอไปได้อย่างเด็ดขาด ถือเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ

เธอคิดถึงแต่การช่วยเหลือสัตว์จนมองว่าสิ่งเหล่านั้นที่เธอเคยรัก เคยชอบ เคยสะสมอย่างเช่น พวกกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า แบรนด์เนมราคาสูงของเธอทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งนอกกายทั้งสิ้น เราใช้แล้วก็ควรแบ่งปันส่งต่อให้คนอื่นต่อไป เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือจุนเจือสัตว์ทั้งหลายดีกว่า จึงนำของใช้ทั้งหลายมาขายผ่านช่องทางอินสตราแกรมส่วนหนึ่ง รายได้อีกส่วนมาจากการทำเสื้อมาขายหารายได้เพื่อเข้าโครงการ

สิ่งที่เธอทำเพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือสัตว์ทั้ง 2 ช่องทาง ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ เกินกว่าที่ชลลดาเองจะคาดคิด

นี่คือสิ่งดีๆที่เธอได้รับจากการที่มีโครงการ The Voice (เสียงจากเรา) โครงการนี้สร้างชีวิตใหม่ ไม่ใช่แค่สัตว์จรจัดเท่านั้น แต่ยังคืนชีวิตและความสุขให้กับชลลดาอีกด้วย

ทุกข์จากการเห็นความตาย

หลังจากช่วยเหลือไปมากๆเข้า เห็นการตายในทุกๆวันก็ทำให้ทุกข์มาก ด้วยโชคดีที่มีกัลยาณมิตรที่ดีอย่าง กิ๊ก มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ และเพื่อนๆทางธรรมท่านอื่นชักชวนไปปฏิบัติธรรมที่วัดผาณิตาราม จึงได้พูดคุยกับ พระอาจารย์สุรศักดิ์ จรณธัมโม ถึงความทุกข์ทั้งหลายที่กำลังก่อตัว จนทำให้ไม่สามารถที่จะเห็นการตายต่อไปแบบนี้ในทุกๆวันได้อีก

พระอาจารย์สุรศักดิ์ ท่านพูดให้ได้คิดมากขึ้นว่า “โยมต้องดีใจนะว่า วันนี้โยมช่วยได้ตั้ง 2 ชีวิต จาก 10 ชีวิต ดีกว่าที่โยมไม่ได้ช่วยสักชีวิตเลย”คำพูดของพระอาจารย์ ณ วันนั้นทำให้ความคิดและจิตใจของชลลดาแข็งแรงขึ้นจนทุกวันนี้

แม้ทุกวันจะมีโทรศัพท์จากสัตวแพทย์แจ้งเรื่องการเสียชีวิตของสัตว์ที่เธอได้ช่วยเหลือไว้ จากก่อนหน้านี้เป็นข่าวที่ทำให้เราจิตตก เราเปลี่ยนความคิดใหม่โดยมองเป็นเรื่องธรรมดา คิดเสียว่าขนาดมนุษย์เองยังมีกรรมติดตัวมาเลย นับประสาอะไรกับสัตว์ที่เขาเองก็ต้องมีกรรมติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

คำสอนของพระพุทธศาสนาทำให้ชลลดาตาสว่าง มีปัญญาที่จะไตร่ตรองในวัฎจักรชีวิตตามธรรมชาติ เธอจึงได้ตั้งใจว่าจะขอเป็นอาสาสมัครต่อไปเท่าที่กำลังตนจะไหว และคาดหวังไว้ว่าจะผลักดันให้โครงการ The Voice (เสียงจากเรา) เป็นมูลนิธิให้ได้ในสักวันหนึ่ง เพื่อความโปร่งใสและสร้างความสบายใจแก่ผู้ที่บริจาคเข้าช่วยเหลือสัตว์กับทางโครงการ

สิ่งที่อยากฝาก

ชลลดา อยากฝากผู้ที่อยากเลี้ยงสัตว์ทุกคนไว้ ในเรื่องของการเลี้ยงดูที่ไม่ทอดทิ้ง ต้องเลี้ยงเขาแบบมีความรับผิดชอบ คือ “รักแท้ต้องดูแลให้ได้” สัตว์ทุกตัวมีชีวิต เราต้องรักและดูแลเขาจนกว่าเขาจะหมดอายุขัย ไม่ใช่ว่าเลี้ยงไปสักพัก รู้สึกว่ามันไม่น่ารักดั่งพ่อพันธุ์ ก็ไม่รักไม่ชอบใจ จึงนำไปทิ้ง คือต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าสัตว์ทุกตัวเกิดมาหน้าตาไม่เหมือนกันหรอก เปรียบดั่งคนที่เกิดมายังมีหน้าตาที่แตกต่างกันเลย อย่าคาดหวังเยอะจนเกินไปนัก อยากให้รักเขาอย่างที่เขาเป็นจะดีกว่า

อีกหนึ่งอย่างที่อยากฝากไว้คือ การให้สัตว์แก่คนรักเพื่อเป็นของขวัญแทนใจแก่กันและกัน เมื่อ ณ วันหนึ่งที่ไม่ได้ผูกพันกับคนมอบของขวัญมีชีวิตนั่้นแล้ว อยากให้เลี้ยงดูต่อไป ใช่ว่าทำใจไม่ได้ เพราะเห็นหน้าสัตว์เลี้ยงเหมือนเห็นคนที่มอบให้ ทำให้ทนไม่ได้ที่จะเลี้ยงดูต่อไป จึงนำไปทิ้ง สิ่งนี้เก๋บอกว่าไม่อยากให้เกิดขึ้น

อยากให้คิดให้มากก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงหรือตัดสินใจให้ของขวัญที่เป็นสัตว์มีชีวิตแก่ใคร เพราะสัตว์เหล่านั้นมีชีวิตและจิตใจเฉกเช่นเดียวกับเรา เขามีเราเป็นนายแค่เพียงคนเดียว แต่มนุษย์เรามีคนอื่นๆให้พูดคุยตั้งมากมาย เขาจะชอกช้ำใจขนาดไหน เขาก็ไม่สามารถปริปากบอกใครได้เลย อยากให้คิดถึงใจเขาใจเรา แม้เป็นจิตใจของสัตว์ แต่เขาก็มีชีวิตเฉกเช่นเดียวกับเรา ฉะนั้นหากจะเลี้ยงสัตว์ก็ควรเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบเช่นกัน